“พาณิชย์จัดทัพหน้า พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เชื่อมโยงภูมิภาคสู่สากล”

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

กระทรวงพาณิชย์เดินหน้าสานต่อนโยบายรัฐบาลด้านการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคในระดับท้องถิ่น โดยปรับโครงสร้างการทำงานของหน่วยงานภูมิภาคในกระทรวง เป็น “พาณิชย์ภาค” (Mini MoC) เพื่อให้บูรณาการกับหน่วยงานในส่วนกลางและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

วันนี้ (22 ธ.ค.59.) สำนักงานพาณิชย์จังหวัดลำพูน โดยนางเฟื่องฟ้า ตุลาธรรมกุล พาณิชย์จังหวัดลำพูน เข้าร่วมงานสัมมนา “Mini Moc กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค” ของกระทรวงพาณิชย์ ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยพิธีเปิดได้รับเกียรติจากรัฐมนตรีว่าการ(รมว.)กระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงาน โดยรมว.พาณิชย์ได้กล่าวถึงการปรับโครงสร้างการทำงานในภูมิภาคของกระทรวงพาณิชย์ ว่าเป็นความพยายามที่จะบูรณาการการบริหารแบบกลุ่มจังหวัด ยกระดับการทำงานให้ตอบสนองปัญหาได้อย่างคล่องตัว และพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดได้เต็มศักยภาพ รองรับเศรษฐกิจยุคและเชื่อมโยงการค้าสู่ตลาดที่กว้างขึ้น ภายใต้วัฒนธรรมใหม่ที่เน้น “ประสิทธิภาพ ฉับไว ใกล้ชิดประชาชน”

ในการกล่าวปาฐกถาพิเศษ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า พาณิชย์ภาค ทั้ง 7 แห่ง จะมีบทบาทได้เช่นเดียวกันกับกระทรวงพาณิชย์ในส่วนกลาง โดยมีบทบาทสำคัญใน 2 ส่วนหลักๆ คือ

1) การให้บริการและกำกับดูแลธุรกิจการค้า

2) การพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ โดยบทบาทพื้นฐานที่พาณิชย์จังหวัดและพาณิชย์ภาคทุกแห่ง จะต้องดำเนินการได้ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน คือการให้บริการทางธุรกิจ อาทิ การจดทะเบียนและเอกสารต่างๆ การให้บริการข้อมูลตลาด การกำกับดูแลแก้ปัญหาสินค้าเกษตร และการพัฒนาระบบโลจิสติกส์การค้า รวมถึงการกำกับดูแลค่าครองชีพ ในขณะเดียวกัน พาณิชย์ภาคต้องสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ตามบริบทเชิงพื้นที่ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด หรือ Area-based Agenda อาทิ การนำจุดเด่นของกลุ่มจังหวัดมาผสมผสานเพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้กับสินค้าและบริการ การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจการค้าโดยใช้ความต้องการของตลาดเป็นตัวตั้ง (Demand-driven) และค้นหาจุดแข็ง/ศักยภาพเชิงพื้นที่ของกลุ่มจังหวัด (Strategic Position) รวมทั้งยกระดับผู้ประกอบการในท้องถิ่นให้เกาะเกี่ยวในห่วงโซ่ไปสู่ตลาด และส่งเสริมการค้าระหว่างภาคด้วย

ในการส่งเสริมเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ พาณิชย์ภาคจะมีบทบาทในการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์จากสินค้าเกษตรเฉพาะถิ่น นวัตกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วย (Commercialization) โดยเฉพาะสินค้า หัตถกรรม เกษตรอินทรีย์ และ GI รวมทั้งการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของสินค้าเหล่านี้ ทั้งภายในประเทศและในตลาดเป้าหมาย ตลอดจนแสวงหาโอกาสทางการตลาดรองรับการปลูกพืชทางเลือกต่างๆ ทั้งนี้ ควรมีการค้นหาชุมชนต้นแบบที่พัฒนาจากเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการ เพื่อนำมาหาแนวทางขยายผลให้เกิดกับกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ได้ในวงกว้าง ดังในกรณีของสินค้าเกษตรอินทรีย์ตามวิถีอิสาน ภายใต้ยโสธรโมเดล ซึ่งมุ่งเน้นการค้าสินค้าเกษตรคุณภาพที่ผ่านการรับรอง และมีการสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ภูมิภาค โดยวางแผนร่วมกันระหว่างภาคีตลอดห่วงโซ่มูลค่า

พาณิชย์ภาคยังจะต้องมีบทบาทเป็นกลไกเชิงรุก ในการสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ในประเด็นต่างๆ (Trouble Shooting) โดยวางระบบติดตามสถานการณ์สินค้าเกษตรที่จะออกสู่ตลาดตามฤดูกาล เพื่อเตรียมการตอบสนองข้อเรียกร้อง และรับมือกับปัญหาล่วงหน้าได้ โดยสื่อสารใกล้ชิดกับประชาชน และมี กลยุทธ์การสื่อสารที่สอดรับกับกลุ่มเป้าหมายและวิถีชีวิตเกษตรกรเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในแต่ละพื้นที่

นอกจากนี้ รมว.พาณิชย์ยังได้ให้แนวทางแก่พาณิชย์ภาคให้น้อมนำหลักทรงงานมาปรับใช้คือ การเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา โดยต้องไม่เป็นผู้แทนของจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง และต้องมองให้เห็นถึงจุดเด่นและศักยภาพที่แต่ละจังหวัดจะนำมาเชื่อมโยงให้เกื้อกูลกันได้ เพื่อตอบสนองตลาดทั้งภายในและประเทศโดยรอบและใช้กลไกลตลาดแบบประชารัฐเป็นเครื่องมือขับเคลื่อน รวมทั้งมุ่งเน้นการเชื่อมโยงเศรษฐกิจใน 3 ระดับ ได้แก่ ระดับท้องถิ่น ภาค และต่างประเทศ หรือ Linking Local to Regional and Global Economy

ร่วมแสดงความคิดเห็น