ป.ป.ท. ขึ้นเหนือ จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น รณรงค์ต่อต้านทุจริต ที่เชียงใหม่

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 23 ธ.ค.59 ที่โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว นายกฤษณ์ ธนาวณิช รอง ผวจ.เชียงใหม่ พร้อมด้วย นายอนุสิษฐ คุณากร กรรมการ ป.ป.ท.และประธานอนุกรรมการ ได้ร่วมกันเป็นประธานในการเปิดโครงการสัมมนากลุ่ม เพื่อรับฟังความคิดเห็นในการยกร่างกฎหมาย ว่าด้วยการรณรงค์ต่อต้านการทุจริต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 โดยมีกลุ่มสมาชิกในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ พร้อมด้วยประชาชน และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้จำนวนมาก

ซึ่งจัดขึ้นเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการต่อต้านการทุจริต และนำความคิดเห็นที่ได้รับจากประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาพิจารณาร่วมกับความเห็นของคณะอนุกรรมการพิจารณาร่างกฎหมาย ว่าด้วยการรณรงค์ต่อต้านการทุจริต เพื่อนำมาพิจารณาประกอบการยกร่างกฎหมาย ว่าด้วยการรณรงค์ต่อต้านการทุจริต นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมและความเข้าใจอันดีของประชา ชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการรณรงค์ต่อต้านการทุจริต อีกทั้งกระตุ้นให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกิดความสนใจบทบาท และหน้าที่ในการมีส่วนร่วมป้องกันและปราบปรามทุจริต

โดยทาง นายอนุสิษฐ คุณากร กรรมการ ป.ป.ท.และประธานอนุกรรมการ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีการพิจารณาให้ร่างรัฐธรรมนุญที่ได้ผ่านประชาพิจารณ์ของประชาชนที่ผ่านมา ซึ่งมีกฎหมายอยู่มาตราหนึ่งคือ มาตรา 63 ที่กำหนดให้ภาครัฐจะต้องสนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชน มีความรู้ในเรื่องของภัยด้านการทุจริต และในขณะเดียวกันยังแจ้งว่าทางรัฐจะต้องพัฒนาประสิทธิภาพของกลไก และเครื่องมือในการป้องกันและปราบปราการทุจริต ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

รวมทั้งประการที่สำคัญในการจัดสัมมนาครั้งนี้คือ รัฐธรรมนูญมาตรา 63 ได้กำหนดว่าจะต้องมีการรวมตัวกันของประชาชน เพื่อสามารถที่จะรณรงค์ในการให้ความรู้ เรื่องของการต่อต้าน และเรื่องของการชี้เบาะแสในเรื่องของการทุจริต ซึ่งในการร่วมตัวในการต่อต้าน และชี้เบาะแสนั้น จะต้องมีกฎหมายคุ้มครองประชาชน ดังนั้นในการจัดสัมมนาครั้งนี้ จึงมีวัตถุประสงค์ เพื่อตรวจสอบว่าในการยกร่างกฎหมาย เพื่อที่จะคุ้มครองประชาชนในการที่จะเข้ามามีส่วนร่วม กระบวนการในการต่อต้าน หรือชี้เบาะแสการทุจริต ควรจะมีรูปแบบใด

ทั้งนี้ในการเดินทางมาที่ จ.เชียงใหม่ ถือเป็นการจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งก่อนหน้านี้ในครั้งแรกได้มีการจัดขึ้นที่ จ.ขอน แก่น และครั้งที่สองที่ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยใน จ.เชียงใหม่ ก็มีการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดที่ผ่านมา แต่การสัมมนาในครั้งนี้จะมุ่งเน้นในเรื่องของภาคประชาชนเป็นหลัก โดยความคาดหวังในการจัดสัมมนาครั้งนี้ ได้มีการเตรียมการกับทางฝ่ายเลขาฯ ของคณะในการจัดสัมมนา เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในหลายๆ กรอบ ซึ่งประกอบไปด้วย กระบวนการของการรวมตัวกันนั้นควรจะเป็นการรวมตัวในลักษณะใด มีรูปแบบไหน และคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามามีส่วนร่วม ในกระบวนการต่อต้านและกระบวนการชี้เบาะแสนั้น ควรจะเป็นแบบใด

และประการต่อมา ในสวนของรูปแบบการต่อต้านหรือการชี้เบาะแสนั้น ก็จะต้องมารับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนว่ารูปแบบในการดำเนินการควรจะเป็นอย่างไร รวมไปถึงการเชื่อมโยง การสร้างเครือข่ายระหว่างภาครัฐกับเอกชน เมื่อมีการต่อต้านและมีการชี้เบาะแสแล้ว จะเชื่อมโยงไปยังภาครัฐในระดับไหน เช่น เชื่อมโยงกับทางสำนักงานเขตพื้นที่ 5 หรือเชื่อมโยงไปยัง ป.ป.ท.ส่วนกลาง รวมไปถึงในระดับรัฐบาลและระดับนโยบาย ซึ่งรูปแบบเรื่องเหล่านี้จะต้องมีการออกแบบระบบ เพื่อให้เกิดความเหมาะสม

กรรมการ ป.ป.ท.และประธานอนุกรรมการ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ในขณะเดียวกันในเรื่องของการสร้างแรงจูงใจ ที่จะทำให้เกิดความสำเร็จในภาคประชาชนควรจะเป็นแบบไหน ซึ่งตรงส่วนนี้เป็นประเด็นที่สำคัญ รวมทั้งเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดทั้งในส่วนของภาคราชการ ที่จะช่วยอำนวยความยุติธรรม กับภาคประชาชนที่จะเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งประชาชนที่มีส่วนร่วมนั้น ก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย ไม่ใช่เพียงเข้ามาแล้วคอยจ้องจะกลั่นแกล้งกัน หรือมีการแบ่งพรรคแบ่งพวก ดังนั้นเรื่องเหล่านี้จะต้องมานั่งคุยกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันมากที่สุด

ขณะที่ทางด้าน นายกฤษณ์ ธนาวณิช รอง ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ตามที่สำนักงาน ป.ป.ท.ได้ประสานขอความร่วมมือ จ.เชียงใหม่ จัดโครงการสัมมนากลุ่มเพื่อรับฟังความคิดเห็นในการยกร่างกฎหมาย ว่าด้วยการรณรงค์ต่อต้านการทุจริต ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ท. นั้น ในนามของ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นเจ้าภาพการจัดงานได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นโครงการที่จะระดมความคิดเห็นจากประชาชนภาคส่วนต่างๆ นำมาประกอบการพิจารณายกร่างกฎหมายว่าด้วยการรณรงค์ต่อต้านการทุจริต ซึ่งกฎหมายดังกล่าวถือได้ว่าเป็นกฎหมายสำคัญของประเทศ ที่จะให้สิทธิแก่ประชาชนในการรวมตัวกัน เพื่อรณรงค์และต่อต้านการทุจริต และกฎหมายนี้จะเป็นกลไกที่ดีในการขับเคลื่อนภาคประชาชนให้รวมตัวกันต่อต้านและแก้ไขปัญหาการทุจริต เพื่อให้เกิดประสิทธิผลในการบังคับใช้อย่างแท้จริง

ร่วมแสดงความคิดเห็น