ตำรวจกับประชาชน เหมือนลิ้นกับฟัน (๑)

ลิ้นกับฟันนั้นอยู่ในช่องปากเดียวกัน การใช้ลิ้นพูดหรือการใช้ฟันบดเคี้ยวอาหารนั้นบางครั้งก็อาจจะทำให้อวัยวะทั้งสองกระทบกระทั่งกันบ้าง วลี “ลิ้นกับฟัน” หมายถึงการทะเลาะเบาะแว้งกันของคนใกล้ชิด บางคนอาจเถียงว่าฟันได้เปรียบเพราะเวลากระทบกระทั่งกันส่วนมากจะเป็นลิ้นที่ต้องบาดเจ็บ เพราะฟันมักกัดลิ้นไม่ใช่ลิ้นกัดฟัน แต่หากมองในมุมของฟันก็อาจโดนค่อนขอดว่าลิ้นนั้นแหละที่ทำให้ฟันบาดเจ็บ เพราะเวลาลิ้นพูดไม่เข้าหูคนแล้วมีเรื่องชกต่อยกัน ฟันนี่แหละที่ต้องจากเหงือกไป หากเทียบลิ้นกับฟันก็เสมือนตำรวจกับประชาชน เพราะตำรวจมีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชน ทำงานใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ดังนั้นปัญหากระทบกระทั่งกันจึงมีให้เห็นอยู่เนืองๆ
วันนี้จึงอยากนำคดีพิพาทระหว่างตำรวจกับประชาชนมาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งบางคดีตำรวจผิดบ้าง บางคดีประชาชนผิดบ้างคละเคล้ากันไป
ฎีกาปี ๒๕๕๘ การที่พนักงานสอบสวนพบจำเลยนอนหมดสติอยู่บนเตียงผู้ป่วยและได้กลิ่นสุรา แต่ไม่สามารถตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ได้ จึงเป็นกรณีที่พันตำรวจโท ส. สงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราหรือไม่ พันตำรวจโท ส. จึงมีอำนาจที่จะทำการตรวจพิสูจน์บุคคลโดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ตามกฎหมาย
การที่พันตำรวจโท ส. มีหนังสือขอให้แพทย์ผู้ตรวจรักษาจำเลยเก็บตัวอย่างเลือดของจำเลยเพื่อตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ว่าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ จึงเป็นการรวบรวมพยานหลักฐานเท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับความผิดที่จำเลยถูกกล่าวหา การสอบสวนของพันตำรวจโท ส. จึงชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาปี ๒๕๕๘ การที่จำเลยที่ ๑ พูดจาให้ร้ายผู้เสียหายขณะปฏิบัติหน้าที่เข้าตรวจค้นร้านโดยใช้คำว่า “ปลัดส้นตีน”
ซึ่งเป็นคำดูหมิ่นเหยียดหยาม เป็นการกระทำความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่สำเร็จแล้ว
ส่วนการที่จำเลยที่ ๑ ร่วมกับจำเลยที่ ๒ ทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวหรือความตกใจโดยการขู่เข็ญขณะที่ผู้เสียหายเข้าตรวจภายในร้าน โดยจำเลยที่ ๑ พูดขึ้นว่าไปเอาปืนมายิงให้ตายอย่าให้ออกไปได้ แล้วจำเลยที่ ๒ วิ่งไปหยิบไม้เบสบอลมาตีผู้เสียหาย และจำเลยที่ ๑ เอาไม้กวาดไล่ตีผู้เสียหาย
เป็นการกระทำต่อเนื่องกันโดยมีเจตนาเดียวกันคือทำร้ายผู้เสียหาย เป็นการร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจอีกกระทงหนึ่ง ฎีกาปี ๒๕๕๖ จำเลยกล่าวถ้อยคำว่า “ตำรวจแม่ง…ใช้ไม่ได้” เพราะรู้สึกว่าเจ้าพนักงานตำรวจไม่ให้ความสำคัญต่อคำชี้แจงของตน
ทำให้จำเลยรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงกล่าวตำหนิการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ
ถือเป็นเพียงคำกล่าวที่ไม่สุภาพและไม่สมควรเท่านั้น แต่ไม่ถึงขั้นมุ่งหมายที่จะด่า ดูถูกเหยียบหยาม หรือสบประมาทเจ้าพนักงานตำรวจแต่อย่างใด จึงไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่
ฎีกาปี ๒๕๕๗ จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจหน้าที่ในการจับกุมผู้กระทำความผิดและมีอำนาจสั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชานำตัวผู้ถูกจับกุมส่งต่อพนักงานสอบสวน หรือสั่งปล่อยตัวผู้ถูกจับหากเห็นว่าเป็นการจับผิดตัวหรือผู้ถูกจับกุมไม่ได้กระทำความผิดหรือการกระทำยังไม่เป็นความผิด
จำเลยทราบดีว่าคนต่างด้าวที่ถูกจับกุมเป็นผู้กระทำความผิด จำเลยไม่มีอำนาจสั่งปล่อยได้ แต่กลับสั่งการในฐานะผู้บังคับบัญชาให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปล่อยตัวผู้กระทำความผิดและรถของกลางโดยไม่ชอบ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
แหม! กำลังโม้เพลินหน้ากระดาษหมดพอดี ไว้มาว่ากันต่อในตอนที่ ๒ ครับ
ทนายโหน่ง… สุทธินัย สุรินทร์
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น