สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด “หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ”

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด “หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ” หอดูดาวเฝ้าระวังวัตถุใกล้โลกแห่งแรกของไทย

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิด “หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ” ณ สถานีรายงานดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานนาม จัดสร้างขึ้นภายใต้ร่วมมือของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กองทัพอากาศ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (เดิมกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) เพื่อเฝ้าระวังวัตถุใกล้โลกและวัตถุอวกาศ หวังลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติรวมถึงผลกระทบจากอวกาศที่มีต่อโลกและมุ่งเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารความรู้ที่ถูกต้องสู่ประชาชน

“หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ” ตั้งอยู่บริเวณสถานีรายงานดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ชนิดสะท้อนแสง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร สร้างขึ้นภายใต้ “โครงการเฝ้าระวังวัตถุใกล้โลกและวัตถุอวกาศ” ดำเนินการร่วมกันระหว่าง สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สนับสนุนกล้องโทรทรรศน์ระบบติดตามวัตถุใกล้โลกและวัตถุอวกาศ กองทัพอากาศสนับสนุนสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวฯ ในพื้นที่ของกองทัพอากาศดอยอินทนนท์ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สนับสนุนระบบเครือข่ายอินเทอร์เนตและกิจกรรมพัฒนาบุคลากร

นอกจากนี้ ยังดำเนินโครงการดังกล่าวร่วมกับ Minor Planet Centers ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (IAU) และได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NASA) และศูนย์เฝ้าระวังภัยอวกาศประเทศญี่ปุ่น (Japan SpaceguardAssocasiaiton) มีวัตถุประสงค์หลักในการเฝ้าติดตามและศึกษาวงโคจรของวัตถุใกล้โลกและวัตถุอวกาศ เก็บรวบรวมและสร้างฐานข้อมูล เพื่อนำไปศึกษาวิจัยและต่อยอดองค์ความรู้เป็นศูนย์ข้อมูลการเตือนภัย รวมทั้งสร้างความตระหนัก ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับภัยคุกคามจากวัตถุใกล้โลกและวัตถุอวกาศให้กับสาธารณชน

ปัจจุบันมีการสนใจศึกษาและเฝ้าติดตามวัตถุใกล้โลกและวัตถุอวกาศเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหาตำแหน่งที่แน่นอนของวัตถุเหล่านี้ ซึ่งวัตถุใกล้โลกและวัตถุอวกาศส่วนใหญ่มีความไม่เสถียรของวงโคจรสูงเนื่องจากหลายปัจจัยทำให้การหาตำแหน่งที่แน่นอนเป็นไปได้ยาก ความแม่นยำของตำแหน่งแต่ละวัตถุต้องอาศัยผลการสังเกตการณ์จากหลายๆ ตำแหน่งบนโลก และจำเป็นต้องใช้กล้องโทรทรรศน์จำนวนมากที่กระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกเฝ้าติดตามอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้เกิดความร่วมมือเป็นเครือข่ายขององค์กรดาราศาสตร์และอวกาศทั่วโลก เพื่อร่วมแบ่งปันข้อมูลและผลการสังเกตการณ์ร่วมกันการเข้าร่วมเครือข่ายเหล่านี้

นอกจากเป็นการศึกษาและหาวิธีป้องกันอันตรายจากวัตถุใกล้โลกและวัตถุอวกาศแล้ว ยังเป็นโอกาสที่จะพัฒนาวงการดาราศาสตร์ในประเทศสู่ระดับนานาชาติอีกด้วยประเทศไทยจึงเข้าร่วมเป็นเครือข่ายติดตาม ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลสังเกตการณ์วัตถุใกล้โลกและวัตถุอวกาศ รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมด้านดาราศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยใช้กล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา บริเวณสถานีทวนสัญญานทีโอที อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์และ กล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ บริเวณสถานีรายงานดอยอินทนนท์ กองทัพอากาศ เพื่อศึกษาและเก็บข้อมูลดังกล่าว
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โทร. 053-225569 ต่อ 210 , 081-8854353 โทรสาร 053-225524
E-mail: [email protected] :www.narit.or.th
Facebook :www.facebook.com/NARITpage
Twitter : @N_Earth, Instagram : @NongEarthNARIT
Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโทร.1313

ร่วมแสดงความคิดเห็น