ชุมชนบ้านปางกับการจัดการป่า

 

หากจะค้นหาชุมชนที่มีความพยายามในการจัดการความรู้ของชุมชน เพื่อพัฒนา ปรับปรุง และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนชุมชนให้สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อมได้อย่างกลมกลืน อาจมีคำถามว่า คนและธรรมชาติจะอยู่อย่างพึ่งพิงอาศัยกันและกันได้อย่างไร มีที่ไหนบ้าง และทำอย่างไร

บ้านปาง หมู่ 1 ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นชุมชนหนึ่งที่ร่วมกับหมู่บ้านใกล้เคียงกันอีกสองหมู่บ้าน คือบ้านหมู่ 9 และหมู่ 13 ที่กำลังค้นหาคำตอบ โดยนำเอาความเชื่อ ความศรัทธาในพระเกจิอาจารย์ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของผู้คนจำนวนมาก หากเอ่ยชื่อ “ครูบาศรีวิชัย” หลายคนคงจะอ๋อ แล้วบอกว่ารู้จัก เพราะคนจำนวนมากหากได้ไปเยือนจังหวัดเชียงใหม่และขึ้นดอยสุเทพก็จะแวะกราบไหว้ รูปเหมือนของท่านที่ประดิษฐานอยู่บริเวณเชิงดอยทางขึ้นดอยสุเทพ

แต่จะมีสักกี่คนที่จะรู้ว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นใครที่ไหน และรู้ซึ้งถึงหลักธรรม คำสอนของครูบาเจ้าศรีวิชัยว่าเป็นอย่างไร แม้แต่เด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ที่เป็นคนบ้านปางเอง ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของครูบาเจ้าศรีวิชัย เริ่มขาดการถ่ายทอดหลักธรรมคำสอนที่ดีงามต่างๆ จากคนรุ่นเก่าสู่คนรุ่นใหม่ ทำให้เด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ไม่ได้รับทราบข้อมูล ความรู้เหล่านี้ เพราะวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนในชุมชนที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไปเป็นวิถีชีวิตที่มุ่งสู่การตอบสนองทางด้านเศรษฐกิจนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ สภาวะเหล่านี้เกิดขึ้นกับคนในชุมชนมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างเงียบๆ จนคนในชุมชนแทบจะไม่รับทราบการเปลี่ยนแปลงของชุมชนเหล่านี้เลย

เมื่อครั้งที่มีการนำการจัดการความรู้ (KM) ไปเผยแพร่กับผู้นำชุมชนในเวที เหลียวหลังแลหน้า จัดที่ อบต.ศรีวิชัย ได้เชิญผู้นำชุมชน กลุ่มแม่บ้าน ครู อาจารย์ ส.อบต.ทุกหมู่บ้านในตำบลศรีวิชัยมาพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน มี นายทรงพล เจตนาวณิชย์ จากสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) เป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการความรู้ และในกลุ่มของผู้นำชุมชนได้มีการพูดคุยกันในประเด็นเกี่ยวกับการจัดการท่องเที่ยวในชุมชน และประเด็นนี้ทาง อบต.ศรีวิชัยให้ความสนใจเช่นกัน จึงมีการนัดหมายเพื่อหารือกันขึ้นหลังจากเวทีเหลียวหลังแลหน้า โดยสถาบันวิจัยหริภุญชัย นำเอากระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นเข้าไปสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนบ้านปาง หมู่ 1 โดยมีหมู่ 9 หมู่ 13 ที่เป็นศรัทธาของวัดบ้านปาง ณ วัดบ้านปาง จากการหารือกันอยู่หลายครั้ง ผลการหารือที่ได้ร่วมกัน คือ การจัดการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์แบบมีส่วนร่วมของชุมชนวัดบ้านปาง ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน โดยมีผู้นำชุมชนทั้ง 3 หมู่บ้าน และคณะครูจากโรงเรียนบ้านปาง ร่วมกันเป็นทีมวิจัยในครั้งนี้ มีผอ.สมบูรณ์ ติ๊บเตปิน เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย

กิจกรรมของทีมวิจัยที่ได้ดำเนินการในระยะที่ 1 นี้ คือ การสืบค้นข้อมูลเบื้องต้นของชุมชน ข้อมูลเกี่ยวกับครูบาเจ้าศรีวิชัย หลักธรรมคำสอน สถานที่สำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และในกิจกรรมที่มีความน่าสนใจในการจัดการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ คือ การเข้าไปสำรวจเส้นทางที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยเคยไปจำพรรษา หรือ เคยไปอาศัยอยู่ในอดีตที่มีความเกี่ยวข้อง จากเดิมที่คนเฒ่าคนแก่ได้เล่ามาว่า สมัยก่อนครูบาท่านเป็นคนชอบอนุรักษ์และสร้าง แต่คนรุ่นหลังไม่ค่อยจะเดินตามรอยครูบาท่านเท่าใดนัก

กิจกรรมการสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ของทีมวิจัยในพื้นที่ นำโดย อ.สมบูรณ์ ติ๊บเตปิน หัวหน้าโครงการ พ่อหลวงเมือง แก้วอ้าย (ผู้ใหญ่บ้านบ้านปางหมู่ 13 พ่อหลวงจักรคำ สุภาวงศ์ (ผู้ใหญ่บ้านบ้านปาง หมู่ 9) นัดหมายกันที่บ้านพ่อหลวงเมือง ทีมสำรวจเริ่มทยอยกันมาต่างเตรียมสัมภาระของใช้ที่จำเป็นในการอยู่ป่าอย่างพร้อมเพรียง ทั้งข้าวสาร หม้อนึ่งข้าว หม้อแกง เครื่องปรุงอาหาร

เมื่อทุกคนมาพร้อมจึงเดินทางสู่ที่หมาย ใช้พาหนะการเดินทางโดยจักรยานยนต์ที่ดูแล้วสภาพสมบุกสมบันมาก ๆ รถ 1 คัน นั่งสองคน เส้นทางลูกรังที่ไม่ค่อยเรียบเท่าไหร่ และใช้จักรยานยนต์เดินทางเป็นสิ่งที่สนุกสนานเร้าใจอย่างมาก เพราะพอถึงทางที่ต้องขึ้นเนินยาว ๆ ต่างลุ้นกันว่าจะขึ้นพ้นหรือไม่ สร้างความตื่นเต้นในการเดินทางอย่างมาก เมื่อไปถึงพระธาตุ ทีมสำรวจต้องจอดรถเก็บไว้ที่นั่นเพื่อเริ่มการเดินทางด้วยการเดินเท้า

ทีมวิจัยจะรู้จักสภาพป่าที่จะไปสำรวจอยู่แล้ว แต่ในส่วนเจ้าหน้าที่ไม่เคยไปและไม่รู้ว่าสภาพจะเป็นอย่างไร ก่อนเดินทางจึงพยายามแวะคุยกับชาวบ้านตามร้านค้าบ้าง กับผู้เฒ่าผู้แก่ที่พบก่อนเดินทางบ้าง ข้อมูลที่ได้มาคร่าวๆ คือ สภาพป่าข้างบนเย็นสบาย ต้นไม้ใหญ่มีมาก มีสัตว์ป่าต่างๆ เป็นต้น ซึ่งจากการพูดคุยเราจินตนาการว่าป่าคงจะน่าเดินมากแน่ๆ เมื่อเริ่มเดินทางไปจุดแรก คือ รอยพระบาท ห่างจากจุดจอดรถประมาณ 500 เมตร มีอยู่หลายรอยทีเดียว รอบ ๆ มีต้นผักหวานป่าออกอยู่หลายต้น

นั่งพักหายเหนื่อยกันแล้วจึงออกเดินทางต่อ ระหว่างทางทีมสำรวจจะพยายามเก็บหาเสบียงไปด้วย เช่น เก็บผักหวานป่าตามข้างทาง สอยไข่มดแดงไว้ใส่แกงผักหวาน เป็นต้น
เส้นทางที่ใช้จะเป็นเส้นทางเดียวกับแนวท่อประปาภูเขา บางจุดจะมีการทำก๊อกนํ้าไว้ สามารถเปิดใช้นํ้าได้ ชาวบ้านเมื่อเข้าป่าจะพกนํ้าไม่มาก เพราะมีนํ้าให้ใช้ตามรายทางไปเรื่อง ๆ เช่น นํ้าดื่มจะมีจุดที่ชาวบ้านทำบ่อทรายข้างลำห้วยไว้

พอเดินทางมาได้สักพัก จะรู้สึกถึงความเย็นอย่างชัดเจน ต้นไม้เริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น ระหว่างเดินจะมารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของภูเขาสวยงาม บางจุดจะผ่านลำห้วยที่ยังมีสายนํ้าไหลอยู่ แวะพักล้างมือล้างหน้าเย็นสบาย จากนั้นเดินต่อไปอีกสักพักจะมีลานกว้างติดกับลำห้วยจึงแวะรับประทานอาหารกลางวัน เมนูมื้อนี้มีหลากหลายให้เลือกทาน เพราะต่างคนต่างห่อข้าวมาแล้วเอามารวมทานด้วยกันอย่างเอร็ดอร่อย หลังจากนั้นก็หามุมสบายพักกลางวันกันริมลำห้วยฟังเสียงนํ้าไหลอย่างสบายอารมณ์

หยุดพักกันพอสมควร จึงเก็บสัมภาระออกเดินทางต่อเพื่อให้ทันถึงจุดพักค้างแรมก่อนถึงคำ เพราะไม่แน่ใจในสภาพอากาศที่มืดครึ้มเหมือนจะมีฝนตก เดินมาได้สักพักจะเป็นทางเดินที่ต้องขึ้นเนินสูง มีต้นไม้ใหญ่จำนวนมาก พ่อหลวงเมืองบอกว่าตรงนี้ช่วงหน้าฝนจะเป็นนํ้าตกที่สวยงามมาก มีก้อนหินขนาดใหญ่จำนวนมากอยู่ตลอดสองฝั่งลำห้วย ป่าข้างทางจะมีได้พบต้นตาลป่าหลายต้น

จากการสำรวจครั้งนี้ทำให้ได้ข้อมูลต่างๆ กลับมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ที่น่าสนใจ เช่น รอยพระบาท เสาหิน ต้นมะพร้าวเต่า ต้นกฤษณาขนาดใหญ่หลายคนโอบ เขียดเปอะ นํ้าตก เป็นต้น สภาพของเส้นทางบางจุดยังเดินทางลำบากและอันตราย สภาพปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น การเผาป่า การตัดไม้สนเกี๊ยะ การล่าสัตว์ป่า เป็นต้น

จากการพูดคุยกันของทีมวิจัยที่ไปสำรวจ มีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่างที่ต้องแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาให้ดีขึ้น หากทำได้คิดว่าน่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งของลำพูนได้

ตอนเดินทางกลับ ทีมสำรวจใช้เส้นทางกลับอีกเส้นทางหนึ่ง เป็นลำห้วยที่ทำประปาภูเขา นำนํ้ามาใช้ในหมู่บ้าน เมื่อไปถึงลำห้วยเห็นมี นํ้าไหลอยู่แต่ไม่มากนัก สภาพป่าตรงจุดที่ไปถึงค่อนข้างแห้ง จึงไม่รู้ว่าสภาพตรงป่าต้นนํ้าด้านบนจะเป็นอย่างไรบ้าง แต่ที่แน่ๆ นํ้าที่ไหลมาถูกดูดหายเข้าไปตามท่อประปาขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 นิ้วหมด พ่อหลวงเมืองบอกว่า นํ้ามามากกว่านี้ก็สามารถดูดได้หมด ลำห้วยที่ตํ่ากว่าท่อประปาลงไปแน่นอนว่า ไม่มีนํ้าไหลแน่นอนในช่วงนี้
การเดินทางศึกษาข้อมูลครั้งนี้ ช่วยให้เห็นและเข้าใจอีกหลาย ๆ สิ่งที่จะนำไปสู่กิจกรรมหรือการจัดการที่เหมาะสมที่สุดต่อไปในอนาคตอันใกล้ โดยทีมวิจัย และชาวบ้านทั้งสามหมู่บ้าน ตลอดจนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน

ท้ายที่สุดแล้ว กิจกรรมนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะนำไปสู่การศึกษาหาแนวทางในการสืบค้นหาของดีที่มีอยู่มากมายทั้งเรื่องครูบา ทรัพยากร และของดีต่างๆ ที่มีอยู่มากมาย เพื่อจัดการให้เหมาะสมและยั่งยืน

มีคำถามว่า จะเป็นไปได้ไหมว่าเวลา 3 ทุ่มของทุกวัน ชาวบ้านเปิดไปไหว้พระสวดมนต์ โดยหันหน้าไปทางวัดบ้านปาง ท่องบทสวดมนต์บารมี 30 ทัสของครูบาพร้อมกันเกือบทุกบ้าน และถือปฏิบัติเป็นกิจวัตร ป่ามีมากขึ้น และมีการจัดการดูแลนกยูงอย่างเป็นระบบจะเห็นได้ว่าการทำวิจัยเพื่อรู้ฮีตฮอย ของครูบาได้รับใช้ชาวบ้านที่เป็นศรัทธาของวัดบ้านปางทั้งสามหมู่บ้านแล้วระดับหนึ่ง

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น