สกู๊ปหน้า 1…นกยูงเชื่อมสัมพันธ์ 2 ชาติ ไทย-เมียนมา

อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่อง สอน ปล่อยนกยูง 21 ตัว คืนสู่ป่าริมฝั่งลำน้ำสาละวิน เล็งใช้นกยูงเป็นสื่อทูตสันถวไมตรี จับมือประเทศเพื่อนบ้าน ฟื้นฟูประชากรนกยูง ร่วมอนุรักษ์สัตว์ป่าแบบไร้พรมแดน

เมื่อวันที่ผ่านมา นายสมชาย โพคาเทพ หัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครองอำเภอ ได้เดินทางเป็นประธานโครงการปล่อยนกยูงไทย คืนสู่ผืนป่าสาละวิน เนื่องในวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ประจำปี 2559 และเพื่อถวายเป็น พระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช ณ หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สว.1 (ท่าตาฝั่ง) ตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งลำน้ำสาละวิน จำนวน 21 ตัว จาก 3 สถานีเพาะพันธุ์สัตว์ป่า ประกอบด้วย สถานีรักษาพันธุ์สัตว์ป่าปางตอง, ป่าอมก๋อย และ ป่าห้วยยางปาง ซึ่งได้ทำพิธีปล่อยโดยผ่านพิธีกรรมความเชื่อทางศาสนา ทั้งไทยพุทธ และ ไทยคริสต์ มีพี่น้องประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเดินทางมาร่วมกิจกรรมกว่า 300 คน

นายวิชัย ปินะสุ ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สาขาแม่สะเรียง เปิดเผยว่า สำหรับโครงการปล่อยนกยูงไทย คืนสู่ผืนป่าสาละวิน เนื่องในวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ประจำปี 2559 ทางอุทยานแห่งชาติสาละวินได้เล็งเห็นความสำคัญจะฟื้นฟูประชากรนกยูงไทย ซึ่งเป็นการฟื้นฟูประชากรนกยูงที่เคยมีถิ่นอาศัยในพื้นที่เดิม ซึ่งในอดีตทางอุทยานแห่งชาติสาละวิน เคยมีประชากรนกยูงไทยอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันนั้น นกยูงไทยได้หายไปจากผืนป่าสาละวิน ด้วยเหตุผลนี้ อุทยานแห่งชาติสาละวินจึงได้จัดโครงการดังกล่าวขึ้น โดยพิจารณาตามหลักวิชาการด้านสัตว์ป่าแล้ว และเห็นว่าพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน ภายในอุทยานแห่งชาติสาละวิน มีศักยภาพพร้อมและเหมาะสมต่อการปล่อยนกยูงไทยคืนสู่ธรรมชาติ โดยพิจารณาทางด้านนิเวศวิทยาแล้ว พื้นที่ที่จะปล่อยนกยูงเป็นพื้นที่ถิ่นอาศัยเดิม มีลักษณะเป็นป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ มีแม่น้ำสาละวิน ที่มีแนวหาดทรายที่กว้างและยาว เหมาะสมแก่การใช้เป็นพื้นที่ช่วงฤดูผสมพันธุ์

สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดโครงการนี้ เพื่อฟื้นฟูประชากรนกยูงไทยคือสู่ถิ่นอาศัยทางธรรมชาติเดิม ในผืนป่าสาละวิน อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มประชากรนกยูงไทยและความสมดุลของระบบนิเวศตามธรรมชาติ และให้เป็นมรดกล้ำค่าแก่ประชาชนคนรุ่นหลัง และให้ประชาชนได้เห็นคุณค่าของป่าไม้และสัตว์ป่ามีส่วนร่วมในการรักษาและเสริมสร้างผืนป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์ร่วมกันอนุรักษ์สัตว์ป่าแบบไร้พรมแดน

อย่างไรก็ตาม พี่น้องประชาชนและ ผู้นำชุมชนต่างๆ ในพื้นที่ก็ให้ความสำคัญ และจะให้ความร่วมมือในการอนุรักษ์นกยูงไทยไว้ให้เป็นสมบัติของลูกหลาน นอกจากนี้ยังมีการเจรจาพูดคุยกับผู้นำชุมชนในพื้นที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ฝั่งประเทศเพื่อนบ้านซึ่ง ก็มีความเห็นด้วยกับการฟื้นฟูประชากรนกยูง และเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้น โดยใช้สัตว์ป่าเป็นทูตสันถวไมตรี รวมถึงเป็นแนวทางที่ดีต่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าแบบไร้พรมแดน ซึ่งจะรับกับการเป็นสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN)

ซึ่งภายในงาน ยังมีซุ้มนิทรรศการในหลวงราชกาลที่ 9 กับพระราชกรณียกิจด้านทรัพยากรป่าไม้นิทรรศการ 26 ธันวาคม วันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ การอนุรักษ์นกยูงไทย คืนสู่ผืนป่าสาละวิน นิทรรศการมนต์เสน่ห์แห่งสาละวิน

ร่วมแสดงความคิดเห็น