THE และ QS เผยผล จัดอันดับม.ระดับโลก

สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เผยผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลก ประจำปี 2016-2017 ของสองสถาบันชั้นนำ โดย Times Higher Education (THE) ยกให้ University of Oxford จากสหราชอาณาจักร ติดอันดับ 1 ของโลก ส่วน Quacquarelli Symonds (QS) ให้ Massachusetts Institute of Technology (MIT) จากสหรัฐอเมริกา ติดอันดับ 1 ของโลก โดยมหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สลับกันติดอันดับดีที่สุดของมหาวิทยาลัยไทย
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม ได้รับทราบข้อมูลผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลก ปี 2016-2017 ของสองสถาบันคือ THE และ QS ดังนี้
1. Times Higher Education (THE) ซึ่งเป็นสถาบันการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลกของประเทศอังกฤษ ได้ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลก จำนวน 990 อันดับ ประจำปี ค.ศ.2016-2017 เมื่อเดือนกันยายน 2559 โดยมีเกณฑ์ในการจัดอันดับด้วย 5 ตัวชี้วัด คือ 1) จากการสำรวจคุณภาพการสอนและสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ของผู้เรียน 2) จากการสำรวจคุณภาพงานวิจัย ปริมาณ รายได้ และชื่อเสียงของงานวิจัย 3) จากการสำรวจข้อมูลการอ้างอิงในงานวิจัย การนำงานวิจัยของสถาบันไปใช้อ้างอิง 4) จากการสำรวจความเป็นนานาชาติจากสายตาภายนอก เจ้าหน้าที่, นักศึกษาและงานวิจัยนานาชาติ 5) จากการสำรวจข้อมูลรายได้ทางอุตสาหกรรม นวัตกรรมที่เป็นสิ่งใหม่ในวงวิชาการที่มหาวิทยาลัยได้คิดค้นขึ้น
โดยผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลก ปี 2016-2017 (Times Higher Education World University Rankings 2016-17) พบว่ามหาวิทยาลัยที่ถูกจัดให้อยู่ใน 10 อันดับแรกของโลก เป็นมหาวิทยาลัยจากสหรัฐอเมริกามากที่สุด จำนวน 7 แห่ง (อันดับ 10 มีมหาวิทยาลัยจำนวน 2 แห่ง คะแนนเท่ากัน) รองลงมาได้แก่ สหราชอาณาจักร จำนวน 3 แห่ง และประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จำนวน 1 แห่ง โดยจัดอันดับให้ University of Oxford จากสหราชอาณาจักร ติดอันดับ 1 เบียด California Institute of Technology จากสหรัฐอเมริกา ลงมาอันดับ 2
สำหรับผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลกของกลุ่มมหาวิทยาลัยในภูมิภาคเอเชีย พบว่า มหาวิทยาลัยที่ถูกจัดให้อยู่ใน 10 อันดับแรกของเอเชีย เป็นมหาวิทยาลัยจากฮ่องกงมากที่สุด จำนวน 3 แห่ง รองลงมาได้แก่ สิงคโปร์ จีน และเกาหลีใต้ ประเทศละ 2 แห่ง และญี่ปุ่น จำนวน 1 แห่ง โดย National University of Singapore (NUS) จากสิงคโปร์ ติดอันดับที่ดีที่สุดของมหาวิทยาลัยในเอเชีย
ในขณะที่ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลกของกลุ่มมหาวิทยาลัยของไทย พบว่า มีมหาวิทยาลัยของไทย จำนวน 9 แห่ง ที่ได้รับการจัดอันดับในปี 2016-2017 โดยมีมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับอยู่ใน 800อันดับแรกของโลก จำนวน 5 แห่ง อันดับดีที่สุด คือ มหาวิทยาลัยมหิดล รองลงมาเป็นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
Quacquarelli Symonds (QS) เป็นอีกสถาบันหนึ่งของประเทศอังกฤษ ที่ได้จัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลก โดยได้ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลก จำนวน 916 อันดับ เมื่อเดือนกันยายน 2559 โดยใช้ข้อมูลจากสถาบันอุดมศึกษามากกว่า 3,800 สถาบัน จาก 81 ประเทศทั่วโลก ซึ่งพิจารณาจากเกณฑ์ในการจัดอันดับ จำนวน 6 ตัวชี้วัด ต่างจาก Times Higher Education ดังนี้ 1) จากการสำรวจความมีชื่อเสียงทางวิชาการของ QS Global Academic Survey จำนวนกว่า 74,651 แบบสำรวจ จากนักวิชาการทั่วโลก 2) จากการสำรวจความมีชื่อเสียงจากผู้จ้างงานของ QS Global Employer Survey จำนวนกว่า 37,781 แบบสำรวจ จากนักวิชาการทั่วโลก 3) จากการสำรวจข้อมูลอัตราส่วนจำนวนนักศึกษาต่อจำนวนอาจารย์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ 4) จากการสำรวจจำนวนงานวิจัยที่ถูกนำไปใช้อ้างถึง ในรอบ 5 ปี โดยใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูล Scopus 5) จากการสำรวจข้อมูลอัตราส่วนจำนวนอาจารย์ต่างประเทศ/นานาชาติของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ 6) จากการสำรวจข้อมูลอัตราส่วนจำนวนนักศึกษาต่างประเทศ/นานาชาติของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดยพบว่า Massachusetts Institute of Technology (MIT) จากสหรัฐอเมริกา ติดอันดับ 1 ของโลก
โดย National University of Singapore (NUS) จากสิงคโปร์ ติดอันดับ 1 ของมหาวิทยาลัยในทวีปเอเชีย เช่นเดียวกันการประเมินโดยสถาบัน THE
ในขณะที่ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของกลุ่มมหาวิทยาลัยของไทย พบว่า มีมหาวิทยาลัยของไทย จำนวน 8 แห่ง ที่ติดอันดับอยู่ใน 916 อันดับแรกของโลก โดยมหาวิทยาลัยของไทยที่ได้รับการจัดอันดับที่ดีที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อันดับที่ 252) มหาวิทยาลัยมหิดล (อันดับที่ 283) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (อันดับที่ 551-600)
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อวิเคราะห์การจัดอันดับมหาวิทยาลัยและเสนอแนะตัวชี้วัดที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ ของ ก.พ.อ. อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ตัวชี้วัดที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนามหาวิทยาลัยของไทยต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น