เปิดตัวผลิตภัณฑ์ น้ำไล่ยุงแคปซูน

สวทช.เปิดตัว 2 ผลิตภัณฑ์สู่ตลาด นวัตกรรมสูตรน้ำไล่ยุงชนิดไมโครแคปซูน และนวัตกรรมสารสกัดโปรตีนจากข้าวไรซ์เบอร์รี ต่อยอดจากเทคโนโลยีชีวภาพ

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดตัว 2 ผลิตภัณฑ์จากผลงานวิจัยและพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่ผู้ประกอบการสามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้
2 นวัตกรรมดังกล่าวคือนวัตกรรมสูตรน้ำไล่ยุงชนิดไมโครแคปซูล โดยบริษัท บาริแคร์ จำกัด และ นวัตกรรมสารสกัดโปรตีนจากข้าวไรซ์เบอร์รีเป็นผลิตภัณฑ์ความงาม โดยบริษัท เบลลิส บิวตี้ จำกัด โดยการสนับสนุนของโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือโปรแกรม iTAP

สำหรับนวัตกรรมสูตรไล่น้ำกันยุงชนิดไมโครแคปซูลนั้นใช้นวัตกรรมพาซาร์ (PASAR: Polymer assisted a sustained and release) เป็นวัสดุฉลาดที่ช่วยควบคุมการปลดปล่อยสารสกัดจากธรรมชาติ โดยกักเก็บสารสกัดจากดอกไม้ตระกูลเก๊กฮวย ยูคาลิปตัส ลาเวนเดอร์และตะไคร้หอม แล้วนำไปใช้งานร่วมกับเครื่องผลิตไอน้ำของบริษัท บาริแคร์

ดร.สรวง สมานหมู่ นักวิจัยห้องปฏิบัติการเคมีออนทรีย์ชีวภาพ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) นักวิจัยผู้พัฒนานวัตกรรมสูตรน้ำไล่ยุงชนิดไมโครแคปซูลกล่าวว่า การผลิตไมโครแคปซูลนั้นเป็นจุดแข็งของไบโอเทค ส่วนการผลิตเครื่องผลิตไอน้ำเป็นจุดแข็งของบาริแคร์

นอกจากนี้ ดร.สรวงยังเป็นที่ปรึกษาโครงการวิจัยนวัตกรรมสกัดโปรตีนจากข้าวไรซ์เบอร์รี่เป็นผลิตภัณฑ์ความงาม ซึ่งผลิตเป็นเครื่องสำอางครีมมาส์กหน้าและสบู่ฟื้นฟูสภาพผิวโดยบริษัท เบลลิส บิ้วตี้ จำกัด

ดร.สรวงกล่าวว่า โครงการดังกล่าวช่วยเพิ่มมูลค่าข้าว และเป็นการตอบแทนพระคุณชาวนา โดยช่วยให้ขายข้าวได้เป็นกรัม แทนที่จะขายข้าวเป็นเกวียน และข้าวไทยก็มีคุณสมบัติเด่นกว่าข้าวต่างประเทศ เนื่องจากความหลากหลายทางชีวภาพทำให้ไทยมีข้าวสีที่อุดมสารสำคัญที่สกัดมาใช้ประโยชน์ได้

“น้ำตบญี่ปุ่นผลิตจากข้าวญี่ปุ่นที่ไม่มีสารสำคัญเลยหมักกับยีสต์ แต่ข้าวไทยมีสีที่อุดมสารสำคัญ อย่างข้าวไรซ์เบอร์รีที่มีแอนโทไซยานินช่วยต้านอนุมูลอิสระ” ดร.สรวงกล่าว

ด้าน ผศ.ดร.สมชาย เจียจิตต์สวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญโครงการ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวถึงเหตุที่เลือกข้าวไรซ์เบอร์รีมาสกัดสารผลิตเครื่องสำอางว่า เมื่อสกัดโปรตีนซึ่งใช้ในเครื่องสำอางเพื่อให้ผิวหน้าชุ่มชื้นแล้ว จะได้แอนโทไซยานินที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนี้เขายังทำงานร่วมกับวิสาหกิจชุมชนที่ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี ทำให้ควบคุมการผลิตได้ตั้งแต่ต้นน้ำ และช่วยผลักดันงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ได้ อีกทั้งยังส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนมีการใจในการปลูกข้าวด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น