นอกเวลาเกมส์ กองทุนกีฬา

นับว่าเป็นข่าวดี ของสมาคมกีฬาในไทย ต่างก็ได้เฮลั่นเมื่อกองทุนกีฬา “หนุนงบเต็มพิกัด สมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย ได้เฮกันลั่น หลัง “กองทุนกีฬา” เดินเครื่องเต็มสูบ ต้อนรับปี 2560 โดยให้การสนับสนุนเต็มพิกัด คลอดงบประมาณออกมาแล้ว ตัวเลขอยู่ที่ 3,999,900,000 บาท หวังพัฒนากีฬาทั้งระบบ โดยเน้น 6 กีฬา เป้าหมายโอลิมปิก 2020 “กอล์ฟ” เบอร์ 1 กีฬาความหวัง ฟันกว่า 88 ล้านบาท ตามมาด้วย ยกน้ำหนัก 68 ล้านบาท แบดมินตัน 51 ล้านบาท มวยสากล กว่า 49 ล้านบาท ขณะที่ วอลเลย์บอล กับ ฟุตบอล สองกีฬายอดนิยม ได้รับไปเต็มๆ 79 ล้านบาท และ 74 ล้านบาท ตามลำดับ
นายสกล วรรณพงษ์ ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา เรื่อง แนวทางการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ” ให้แก่สมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย 78 แห่ง โดยมี นายณัฐวุฒิ เรืองเวส รองผู้ว่าการ กกท. ฝ่ายกีฬาเป็นเลิศและวิทยาศาสตร์การกีฬา ในฐานะผู้จัดการกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ, นายสมพร ใช้บางยาง นายกสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย ในฐานะคณะกรรมการบริหาร กกท. ร่วมชี้แจ้ง ที่ห้องประชุม ชั้น 25 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา กกท. เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.59 โดยการสัมมนาครั้งนี้เพื่อให้สมาคมกีฬา แห่งประเทศไทย ได้เข้าใจตรงกันในการให้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ และนำมาปฏิบัติใช้ไปในทิศทางเดียวกัน
เพื่อให้งบประมาณเพียงพอต่อการสนับสนุนและพัฒนากีฬาอย่างยั่งยืน
ผู้ว่าการ กกท. กล่าวว่า การสัมมนาวันนี้เป็นเรื่องที่ดี ที่ชี้แจ้งให้กับสมาคมกีฬาได้รับทราบรายละเอียดแนวทางในการให้การสนับสนุนว่ามีอย่างไรบ้างเพราะหลังจากที่มีพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย (พรบ.) พ.ศ. 2558 ในหมวดของกองทุนฯ ได้รับงบประมาณเพิ่มจากการเก็บภาษีเหล้าและบุหรี่ 2 เปอร์เซ็นต์ ทำให้มีเงินเพิ่มเติมเข้ามาในกองทุนฯ เพิ่มมากขึ้นจากเดิมมีไม่แน่นอน จนในปี 2557 ที่ผ่านมา กองทุนฯ เจอวิกฤติหนักมีเงิน เหลือเพียง 107 ล้านบาท ทำให้การเตรียมนักกีฬาไทยพบกับปัญหาอย่างหนัก แต่ในเวลานี้มีเงินในกองทุนฯ เพิ่มปีละ 3,700 ล้านบาท  แต่จะทำอย่างไรให้การให้การสนับสนุนการพัฒนากีฬาให้ประสบความสำเร็จมากขึ้น
โดยทางกองทุนฯ มีหลักเกณฑ์ในการให้การสนับสนุนเช่นกัน จึงเชิญให้สมาคมกีฬาฯ ทำความเข้าใจในการขอการสนับสนุนงบประมาณเข้าใจไปในทิศทางเดียวกันเพื่อให้การใช้งบประมาณเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด
จากนั้น นายณัฐวุฒิ เรืองเวส ได้ชี้แจงรายละเอียดในขั้นตอนต่างๆ ว่ากองทุนฯ ให้การสนับสนุนกีฬา อย่างไรบ้าง, การขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ ต้องทำอย่างไร, การพิจารณาแผนงานโครงการ, การเบิกจ่ายงบประมาณ  และการกำกับติดตาม โดยในปี 2560 นี้ กองทุนฯจะทำงานเต็มรูปแบบ ซึ่งตอนนี้กองทุนฯ มีเงินเข้ามาปีละกว่า 4,000 ล้านบาท ทำให้มีรูปแบบในการให้การสนับสนุนซึ่งสมาคมกีฬาฯ ต้องพร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการพัฒนากีฬา จะเห็นว่าจะเห็นกรอบวงเงินงบประมาณการใช้จ่ายงบประมาณระยะ 4 ปี (พ.ศ.2560-2563)
แผนพัฒนากีฬาเพิ่มขึ้นเป็น 78.19 มากกว่าในปี 2559 ที่ได้รับ 75.57 เท่านั้น
นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า ได้มีการหารือกับ 42 สมาคมกีฬา ที่มีในเอเชียนเกมส์ และโอลิมปิกกมส์ เพื่อทำแผนหลักในการเตรียม นักกีฬาตลอด 4 ปี โดยการสนับสนุนแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ พ.ศ.2560 จะใช้งบประมาณทั้งหมด 3,999,900,000 บาท แบ่งการสนับสนุนดังนี้ 1.การเตรียมนักกีฬาสู่ความเป็นเลิศทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ 1,657,447,000 บาท, 2.สมาคมกีฬาแห่งประเทศเทศไทย 1,161,987,000 บาท (เตรียมนักกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่ญี่ปุ่น 424,100,000 บาท/พาราลิมปิเกมส์ ครั้งที่ 16 ที่ญี่ปุ่น 55,000,000 บาท), เตรียมซีเกมส์ ครั้งที่ 29 ที่มาเลเซีย 295,000,000 บาท, อาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 9 ที่มาเลเซีย 80,000,000 บาท, เอเชียนเกมส์ ฤดูหนาว ครั้งที่ 8 ที่ญี่ปุ่น 27,387,000 บาท, เอเชียน อินดอร์และมาเชียลอาร์ตเกมส์ ที่เติร์กเมนิสถาน 30,000,000 บาท ฯลฯ
สำหรับงบประมาณปี 2560 ที่จัดสรรให้กับสมาคมกลุ่มเป้าหมาย ในการเตรียมนักกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2020 จำนวน 6 ชนิดกีฬา ได้แก่ กอล์ฟ 88,565,300 บาท, เทควันโด 41,810,700 บาท, แบดมินตัน 51,579,200 บาท, มวยสากล 49,123,000 บาท, ยกน้ำหนัก 68,611,550 บาท, ยิงเป้าบิน 24,467,300 บาท ส่วนในกลุ่มทั่วไป ได้รับการสนับสนุนมากที่สุด คือ 1.วอลเลย์บอล 79,871,000 บาท, 2.ฟุตบอล 74,478,903 บาท, 3.จักรยาน 62,304,863 บาท, 4.ฮอกกี้ 48,611,582 บาท, 5.ตะกร้อ 45,707,207 บาท, 6.กรีฑา 44,694 ,611 บาท, 7.ว่ายน้ำ 41,384,467บาท, 8.ยิมนานสติก 37,932,845 บาท ฯลฯ ทั้งนี้ รอ กระทรวงการคลัง พิจารณาอีกครั้งก่อนอนุมัติใช้ต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น