มช. คลอดแผนพัฒนา การศึกษาฯ ระยะที่ 12

 

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล

มช. คลอดแผนพัฒนาการศึกษาฯ ระยะที่ 12 เน้นเป็นผู้นำนวัตกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม, นวัตกรรมอาหารและสุขภาพและผู้สูงอายุ และล้านนาสร้างสรรค์

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดทำแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) เรียบร้อยแล้วโดยมีเป้าหมายในปี พ.ศ. 2564 คือการเป็นผู้นำในด้านนวัตกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม, นวัตกรรมอาหารและสุขภาพและผู้สูงอายุ และล้านนาสร้างสรรค์ บนพื้นฐานของการผลิตบัณฑิตที่มีคุณธรรม คุณภาพและทักษะการเป็นพลเมืองโลก (Global Citizen Skills) และผลิตงานวิจัยที่นำไปใช้จริงและตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ

จากการเปิดเผยของ ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายแผนงาน บริหารการเงินและทรัพย์สิน แจ้งว่ามหาวิทยาลัยได้จัดทำแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) โดยพิจารณาถึงบริบทที่เปลี่ยนแปลงของโลกและของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การที่ประเทศไทยมุ่งสู่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย การพัฒนาประเทศสู่ Thailand 4.0 ตลอดจนการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของประเทศ เพื่อยกระดับให้ประเทศไทยพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ไปสู่ประเทศที่มีรายได้ขั้นสูง (High Income Country) และเพื่อให้สอดรับยุทธศาสตร์ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) และกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) มหาวิทยาลัยจึงได้กำหนดแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 12 โดยพิจารณาจากศักยภาพที่เข้มแข็งของมหาวิทยาลัย เพื่อการเป็นผู้นำใน 3 ด้าน ได้แก่ นวัตกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม, นวัตกรรมอาหารและสุขภาพและผู้สูงอายุ และล้านนาสร้างสรรค์การเป็นผู้นำด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมุ่งเป้าที่จะเป็นตัวอย่างแก่ชุมชนและสังคมในการเป็นองค์กรที่ลดร่องรอยคาร์บอน (Carbon Footprint) ลงร้อยละ 10 และเป็น Zero waste campus ภายในปี 2564 มหาวิทยาลัยมีโครงการนำวัสดุเหลือใช้แปลงเป็นพลังงานสะอาด เพื่อใช้สำหรับระบบขนส่งมวลชนของมหาวิทยาลัย และโครงการใช้พลังงานทางเลือกอื่นๆ เพิ่มขึ้น มีการเพิ่มทางเท้าและทางจักรยานโดยรอบมหาวิทยาลัย และส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้า เป็นต้น ด้านอาหารและสุขภาพ และผู้สูงอายุ มหาวิทยาลัยใช้ความเข้มแข็งของสาขาเกษตรศาสตร์ อุตสาหกรรมเกษตร และวิทยาศาสตร์สุขภาพ มาทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่เกี่ยวกับอาหารและสุขภาพ ส่งเสริมการสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและอาจนำไปสู่การผลิตยาในอนาคต ส่งเสริมพัฒนาการดูแลผู้สูงอายุ แบบองค์รวม โดยใช้ศาสตร์จากสาขาต่างๆ มาบูรณาการกัน ส่งเสริมนวัตกรรมด้านวิศวกรรม ด้านสถาปัตยกรรมที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ และส่งเสริมนวัตกรรมด้านการดูแลสุขภาพจากการแพทย์ที่หลากหลายบนแนวคิดการแพทย์ผสมผสาน (Complimentary Medicine) เป็นต้น ส่วนการมุ่งเป้าหมายในด้านล้านนาสร้างสรรค์ นั้น มหาวิทยาลัยมีองค์ความรู้ 8 ด้านล้านนา คือ 1) ภาษา วรรณกรรมและวรรณศิลป์ 2) โบราณคดีและประวัติศาสตร์ล้านนา 3) ปรัชญา ศาสนาและความเชื่อ 4) ศิลปกรรม หัตถกรรม ดนตรีและนาฏยกรรม 5) สถาปัตยกรรม 6) การกิน การอยู่ เครื่องนุ่งห่ม 7) แพทย์ล้านนา และ 8) มานุษยวิทยา ซึ่งได้รวบรวมเผยแพร่ในช่วงที่ผ่านมา และจากนี้ไปเพื่อตอบสนองนโยบายเศรษฐกิจจากวัฒนธรรม (Cultural Economy) ของรัฐบาล มหาวิทยาลัยจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ล้านนาสร้างสรรค์ เพื่อให้มีการนำองค์ความรู้ด้านล้านนามาสนับสนุนการท่องเที่ยวที่จะก่อให้เกิดการท่องเที่ยงเชิงวัฒนธรรมมากขึ้น การนำองค์ความรู้ด้านอาหารสมุนไพรล้านนาเพื่อส่งเสริมสุขภาพ การประยุกต์องค์ความรู้ด้านล้านนาสู่การประยุกต์ใช้เพื่อการนวดรักษาผสมผสานกับการแพทย์แผนปัจจุบัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ มหาวิทยาลัยยังยึดมั่นในการผลิตบัณฑิตทุกระดับ ให้รู้จริง สามารถทำงานได้จริง มีทักษะภาษาอังกฤษที่ใช้งานได้ มีจิตอาสา ซื่อสัตย์ และมีความรับผิดชอบ คำนึงถึงปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพ และยังมีความเข้าใจในวัฒนธรรมล้านนา
แผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 12 นี้ มหาวิทยาลัยมุ่งมั่นที่จะใช้ศักยภาพทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัย เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ประเทศที่สามารถแข่งขันได้ตามวิสัยทัศน์ประเทศไทย ปี 2579 นั่นคือ “ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้วด้วยการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

ร่วมแสดงความคิดเห็น