ความเชื่อมั่นเอสเอ็มอี ชม.ปลายปี 59 เกณฑ์ดี

ศูนย์เตือนภัยธุรกิจภาคเหนือ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จังหวัดเชียงใหม่ประจำไตรมาสที่ 4 ปี 2559 ชี้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อภาวะการณ์ทางธุรกิจในภาพรวมของจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ในสภาวะการณ์ที่ดี เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นในช่วงฤดูหนาวหรือฤดูกาลท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่

ผศ.ดร.ชัยวุฒิ ตั้งสมชัย รองคณบดี คณะบริหารธุรกิจ และประธานศูนย์เตือนภัยทางธุรกิจภาคเหนือ (BWC) ร่วมกับ ศูนย์นวัตกรรมการจัดการ (MIC) คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจังหวัดเชียงใหม่ประจำไตรมาส ดัชนีนี้นำมาใช้ชี้วัดกับหมวดธุรกิจที่สำคัญ และเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดเชียงใหม่ 6 หมวดธุรกิจ ดังนี้ 1.การผลิตผ้าทอและเครื่องนุ่งห่มจากผ้าทอ 2.การผลิตหัตถกรรมจากไม้ 3.การผลิตสินค้าเกษตรแปรรูป 4.การบริการซ่อมบำรุงรถยนต์ 5.การบริการอาหารและเครื่องดื่ม 6. การบริการที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว

องค์ประกอบที่ใช้ในการจัดทำดัชนีได้แก่การคาดการณ์ในด้าน 1. กำไร 2. ยอดขาย 3. ต้นทุนธุรกิจ 4. การจ้างงาน 5. การลงทุน 7. การใช้กำลังการผลิตค่าอยู่ระหว่าง 0 – 100 ถ้าค่าดัชนีมีค่ามากกว่า 50 หมายถึง ผู้ประกอบการโดยรวมคาดการณ์ว่าองค์ประกอบนั้นๆ มีการปรับตัวในทิศทางที่เพิ่มขึ้นถ้าค่าดัชนีมีค่าเท่ากับ 50 หมายถึง ผู้ประกอบการ โดยรวมคาดว่า องค์ประกอบนั้นๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือคงอยู่ในสถานการณ์ปัจจุบันถ้าค่าดัชนีมีค่าน้อยกว่า 50 หมายถึง ผู้ประกอบการ โดยรวมคาดว่า องค์ประกอบนั้นๆ มีการปรับตัวในทิศทางที่ลดลง

ดัชนีนี้เป็นการรวบรวมความคิดเห็นและการคาดการณ์ผู้ประกอบการซึ่งดำเนินธุรกิจและมีประสบการณ์ในธุรกิจ มีการสุ่มตัวอย่างตามสถิติ ดังนั้นเราสามารถใช้ผลที่ได้ในฐานะตัวชี้สัดภาพรวมการดำเนินธุรกิจในไตรมาสที่จะมาถึง เพื่อการวางแผน การปรับกลยุทธ์ รวมทั้งการเตรียมการล่วงหน้าได้

สำหรับไตรมาสที่ 4/2559 ช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2559 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจโดยภาพรวมของผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงไตรมาสที่ (4/พ.ศ.2559) ค่าดัชนีความเชื่อมั่นทุกองค์ประกอบปรับตัวในทิศทางที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา (3/พ.ศ.2559) และดัชนีอยู่ในระดับที่มากกว่า 50.0 สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อภาวการณ์ทางธุรกิจในไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 อยู่ในระดับที่ดี โดยเฉพาะดัชนีด้านกำไร ยอดขาย และการใช้กำลังการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยค่าดัชนีด้านกำไร ยอดขาย และการใช้กำลังการผลิต อยู่ที่ระดับ 71.2 เท่ากัน ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นด้านการจ้างงาน และการลงทุน ปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม อยู่ที่ระดับ 53.7 และ 59.6 ตามลำดับ

ผู้ประกอบการคาดการณ์ว่า ภาวะเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี จะกลับมาคึกคักขึ้นเพราะเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว และเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ จึงคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เชื่อมั่นว่าจะสามารถขายสินค้าและบริการได้มากกว่าช่วงที่ผ่านมา สำหรับความเชื่อมั่นด้านต้นทุนประกอบการ จากผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงใหม่ ยังมีความกังวลสูงเกี่ยวกับต้นทุนในการประกอบการ โดยค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 88.5

เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลแยกตามหมวดธุรกิจแล้วพบว่า ทุกหมวดธุรกิจมีค่าดัชนีความเชื่อมั่นด้านกำไรและด้านยอดขายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะหมวดธุรกิจบริการอาหารและเครื่องดื่มและหมวดธุรกิจบริการที่พักแรมสำหรับนักท่องเที่ยว ที่ดัชนีกำไรและยอดขายเพิ่มสูงกว่าหมวดธุรกิจอื่นๆ สำหรับหมวดธุรกิจบริการซ่อมบำรุงรถยนต์ในภาพรวมยังคงอยู่ในระดับคงที่

โดยสรุปแล้วผลจากการสำรวจความเชื่อมั่นในภาพรวมของผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงใหม่ สำหรับไตรมาสที่ 4 ของปี 2559 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อภาวะการณ์ทางธุรกิจในภาพรวมของจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ในสภาวการณ์ที่ดี เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นในช่วงฤดูหนาวหรือฤดูกาลท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น