ป.ป.ส. จับมือ 10 ประเทศอาเซียน ผลักดันแผนปิดล้อม สามเหลี่ยมทองคำ

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 13 ม.ค.60 นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) พร้อมหัวหน้าหน่วยงานกลางด้านยาเสพติด ของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และผู้แทนสำนักเลขาธิการอาเซียน ร่วมแถลงสรุปผลการประชุม จัดทำแผนความร่วมมืออาเซียน เพื่อต่อสู้กับการลักลอบผลิตและค้ายาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ

โดยวัตถุประสงค์ของการประชุมเพื่อหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับแผนงาน/กิจกรรมความร่วมมือของประเทศสมาชิกอาเซียนในการร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด ในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ โดยจะยึดตามแผนระยะ 3 ปีโครงการแม่น้ำโขงปลอดภัย สถานการณ์ปัญหายาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงภูมิภาคอื่นๆ ของโลก ในเวทีการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านยาเสพติด ครั้งที่ 5 เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ณ ประเทศสิงคโปร์

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เสนอแนวคิด ที่จะให้ประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ที่อยู่นอกลุ่มแม่น้ำโขง ให้ความช่วยเหลือประเทศในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ เพราะปัญหายาเสพติดจากบริเวณนี้ อาจส่งผลกระทบถึงประเทศสมาชิกอาเซียนประเทศอื่นๆได้ และที่ประชุมฯ ก็ได้มีมติให้บรรจุแผนการแก้ไขปัญหายาเสพติด ในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำไว้ในแผนปฏิบัติการอาเซียน เพื่อสร้างความมั่นคงให้อาเซียนปลอดภัยจากยาเสพติด ระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2559-2568) ซึ่งประเทศไทยได้รับมอบหมายให้จัดประชุม จัดทำแผนความร่วมมืออาเซียน เพื่อต่อสู้กับการลักลอบผลิตและค้ายาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ

โดยทาง นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการ ป.ป.ส. เปิดเผยว่า สำนักงาน ป.ป.ส. ได้จัดการประชุมแผนความร่วมมืออาเซียน เพื่อต่อสู้กับการลักลอบผลิตและค้ายาเสพติด ในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำขึ้น ระหว่างวันที่ 11-13 ม.ค.60 โดยเชิญหัวหน้าหน่วยงานกลางด้านยาเสพติด ของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และผู้แทนสำนักเลขาธิการอาเซียนเข้าร่วม ซึ่งเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2560 สำนักงาน ป.ป.ส. ได้นำผู้เข้าร่วมประชุมฯ ไปศึกษาดูงานในพื้นที่จ.เชียงราย โดยเฉพาะบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ เพื่อให้ได้เห็นลักษณะทางภูมิศาสตร์ของทั้งสามประเทศว่า มีจุดเชื่อมโยงกันอย่างไร ก่อนที่จะประชุมฯ ร่วมกัน ในวันที่ 12-13 มกราคม 2560 ณ จังหวัดเชียงใหม่

กรอบแนวคิดความร่วมมืออาเซียนในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ (Concept Paper on ASEAN Cooperation to Tackle Illicit Drug Production and Trafficking in the Golden Triangle) วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ มีหลักการสำคัญ 6 ประการ ประกอบด้วย 1. การสกัดกั้นสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ไม่ให้รั่วไหลเข้าสู่พื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ 2. ความร่วมมือในการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด ที่ผลิตจากพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ไม่ให้ลักลอบนำออกสู่อาเซียนและภูมิภาคอื่นๆ 3. การเสริมสร้างความสามารถให้แก่หน่วยงานสกัดกั้นยาเสพติด ของประ เทศที่อยู่บริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ

4. การแสวงหาความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากประเทศ นอกภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งองค์การระหว่างประเทศ ในการผลักดันนโยบายการพัฒนาทางเลือก (ศาสตร์พระราชา) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่สาม เหลี่ยมทองคำ ไม่ต้องพึ่งพาการปลูกพืชเสพติด 5. การเสริมสร้างความร่วมมือและการประสานงานร่วมกับกลไกอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้ว เช่น โครงการสกัดกั้นยาเสพติด ณ ท่าอากาศยานสากลในอาเซียน (AAITF) และโครงการสกัดกั้นยาเสพติด ณ ท่าเรือสากลในอาเซียน (ASITF) เป็นต้น 6. การสนับสนุนโครงการแม่น้ำโขงปลอดภัย

ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมกันพิจารณาร่างแผนความร่วมมืออาเซียน เพื่อต่อสู้กับการลักลอบและผลิตค้ายาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งทุกประเทศได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยเฉพาะประเทศที่ไม่ได้อยู่ในสามเหลี่ยมทองคำ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน ลักษณะความช่วยเหลือก็คือ จะมีแผนความร่วมมือที่เน้นการสกัดกั้นสารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตยาเสพติด เน้นการให้ความช่วยเหลือด้านฝึกอบรม เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่เจ้าหน้าที่ด้านปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำและอาเซียน

โดยแผนความร่วมมือประกอบด้วย แผนสกัดกั้นและปราบปรามสารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย , แผนปราบปรามการลักลอบค้ายาเสพติดโดยผ่านเส้นทางทางบก ทางทะเล/ทางน้ำ/ทางอากาศ , แผนสืบสวนจับกุมนักค้ายาเสพติด/ผู้ผลิตยาเสพติดรายสำคัญ ผู้หลบหนีหมายจับและการปราบปรามเครือข่ายนักค้ายาเสพติด , แผนการสนับ สนุนมาตรการด้านลดอุปสงค์ ด้านสาธารณสุขและด้านการพัฒนาพื้นที่ , แผนการพัฒนากลไกการบริหารจัดการ , แผนการแสวงหาความร่วมมือจากภาคีนอกภูมิภาค

เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่าอีกว่า การประชุมเพื่อจัดทำแผนความร่วมมือในการช่วยเหลือแก้ไขปัญหายาเสพติดในครั้งนี้ ประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง มีความเป็นรูปธรรมตามความประสงค์ของที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียน ครั้งที่ 5 เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งผลจากการประชุมจะถูกนำเสนอต่อรัฐบาลของแต่ละประเทศ และต่อที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านยาเสพติดครั้งต่อไป เพื่อให้ภูมิภาคอาเซียนปลอดภัยจากยาเสพติด ตามแนวคิดที่ว่า…. เราจะไม่ทิ้งให้ประเทศใดประเทศหนึ่ง เผชิญปัญหาเพียงลำพัง อาเซียนจะเป็นหนึ่งเดียว และก้าวเดินไปข้างหน้าพร้อม ๆ กัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น