เปิดพิพิธภัณฑ์เรียนรู้ราษฎรบนพื้นที่สูง

เปิดพิพิธภัณฑ์…….พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พม. เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรม “ตามรอยพ่อบนดอยสูง” พม. เล่าขาน สืบสาน พัฒนาภูมิสังคม และพิพิธภัณฑ์เรียนรู้ราษฎรบนพื้นที่สูง ณ พิพิธภัณฑ์เรียนรู้ราษฎรบนพื้นที่สูง สวนหลวงล้านนา ร.9 อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมและให้การต้อนรับจำนวนมาก

รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขึ้นเหนือเยือนเชียงใหม่ เปิดพิพิธภัณฑ์เรียนรู้ราษฎรบนพื้นที่สูง โชว์นิทรรศการของชนเผ่าต่างๆ ที่บอกเล่าวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม ส่งเสริมการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะอาชีพ และสืบสานปณิธานพระราชา แสดงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และพระบรมวงศานุวงศ์
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 12 ม.ค.60 พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรม “ตามรอยพ่อบนดอยสูง” พม. เล่าขาน สืบสาน พัฒนาภูมิสังคม และพิพิธภัณฑ์เรียนรู้ราษฎรบนพื้นที่สูง ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-13 มกราคม 2560 ณ พิพิธภัณฑ์เรียนรู้ราษฎรบนพื้นที่สูง สวนหลวงล้านนา ร.9 อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายกฤษณ์ ธนวาณิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นำราษฎรชาวเขาที่ราบสูง ชนเผ่าต่างๆ พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน รอให้การต้อนรับเป็นจำนวนมาก

โดยในการนี้ ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ยังได้เป็นประธานในการเปิดป้ายอาคารพิพิธภัณฑ์เรียนรู้ราษฎรบนพื้นที่สูง ซึ่งเป็นอาคารสูง 4 ชั้น พร้อมทั้งได้เดินชมการจัดแสดงนิทรรศการของชนเผ่าต่างๆ ที่บอกเล่าวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม รวมทั้งข้าวของเครื่องใช้ในการดำรงชีวิต ของแต่ละชนเผ่าที่มีอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย

จากนั้นทาง พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ได้ให้สัมภาษณ์กับทางคณะสื่อมวลชน โดยระบุว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) มีภารกิจในการดูแลราษฎรบนพื้นที่สูงในพื้นที่ 20 จังหวัด จำนวน 1,414,135 คน รวม 10 ชนเผ่า ประกอบด้วย กะเหรี่ยง ม้ง เมี่ยน ลาหู่ ลีซู อาข่า ลัวะ ถิ่น ขมุ และมลาบรี โดยการจัดสวัสดิการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้การส่งเสริม สนับสนุนให้มีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินเป็นหลักแหล่ง และพัฒนาทักษะอาชีพ อีกทั้งสร้างการมีส่วนร่วมและการเข้าถึงสวัสดิการ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างสอดคล้องกับภูมิสังคม ซึ่งหนึ่งในนโยบายเร่งด่วน (Agenda Based) ประจำปี 2560 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ คือ การพัฒนาระบบสวัสดิการสังคม โดยการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม และศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนบนพื้นที่สูง ทั้งนี้ จึงได้จัดงานมหกรรม “ตามรอยพ่อบนดอยสูง” พม. เล่าขาน สืบสาน พัฒนาภูมิสังคม และพิพิธภัณฑ์เรียนรู้ราษฎรบนพื้นที่สูงขึ้น เพื่อสืบสานปณิธานพระราชา แสดงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช และพระบรมวงศานุวงศ์ รวมทั้งเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ในการส่งเสริมการเรียนรู้ การฟื้นฟู รักษาวิถีชีวิต ศิลปะวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของราษฎรบนพื้นที่สูงในประเทศไทย ทั้งนี้ภายในงานดังกล่าว มีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ 1) การจัดบูธนิทรรศการเทิดพระเกียรติรัชกาลที่ 9 2) นิทรรศการภูมิสังคม เศรษฐกิจพอเพียง 3) พส.กับการพัฒนาบนพื้นที่สูง 4) การสาธิตการส่งเสริมอาชีพ 5) การผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชน 6) กาดหมั้วครัวดอย 7) การสาธิตกระบวนการผลิตผ้า 8) ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนบนพื้นที่สูง และ 9) การเสวนาเรื่อง “ตามรอยชา-กาแฟพ่อ” เป็นต้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวต่อไปว่า พิพิธภัณฑ์เรียนรู้ราษฎรบนพื้นที่สูง (พิพิธภัณฑ์ชาวเขา หรือ “หอแดง”) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2508 เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์วิจัยชาวเขา สังกัดกรมประชาสงเคราะห์ และในปี พ.ศ.2527 นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี (อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่) ได้สนับสนุนอาคารสถานที่ จึงยกฐานะเป็นสถาบันวิจัยชาวเขา ภายหลังการปฏิรูประบบราชการ พ.ศ.2545 ทำให้ภารกิจงานวิจัยชาวเขาได้ถูกยุบเลิกไป ส่วนอาคารพิพิธภัณฑ์ถูกโอนมาสังกัดกระทรวง

การพัฒนาสังคมฯ จนกระทั่งการปรับโครงสร้างกระทรวงในปี พ.ศ.2558 ทาง พส. จึงได้ปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ให้กลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสืบสานปณิธานพระราชา พัฒนาภูมิสังคม เป็นแหล่งรวบรวม เผยแพร่องค์ความรู้ ประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญา วัฒนธรรม ประเพณีของราษฎรบนพื้นที่สูง เป็นพื้นที่แสดงออกทางอัตลักษณ์และเป็นศูนย์กลาง การรวมกลุ่มเพื่อสร้างความเข้มแข็ง การอนุรักษ์ ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ งานฝีมืออันเกิดจากภูมิปัญญา และสนับสนุนการค้าพาณิชย์ รวมทั้งสร้างเครือข่ายการเชื่อมโยงกลุ่มราษฎรบนพื้นที่สูงระหว่างประเทศอาเซียน

สำหรับพิพิธภัณฑ์เรียนรู้ราษฎรบนพื้นที่สูง ได้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ภายในอาคาร (In door Museum) ประกอบด้วย 4 ชั้น ได้แก่ ชั้นที่ 1 แบ่งเป็นห้องจัดแสดงสารคดีเฉลิมพระเกียรติ และการพัฒนาบนพื้นที่สูง ห้องจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และนิทรรศการหลากวัฒนธรรมกับการท่องเที่ยวบนพื้นที่สูง ชั้นที่ 2 แบ่งเป็นห้องเรียนรู้ราษฎรบนพื้นที่สูง 10 ชนเผ่า ชั้นที่ 3 แบ่งเป็น ห้องนิทรรศการ พม. กับการพัฒนาสังคมบนพื้นที่สูง และชั้นที่ 4 แบ่งเป็น ห้องนิทรรศการด้วยพระบารมีนำทางสู่การพัฒนาบนพื้นที่สูง และส่วนที่ 2 บ้านชาวเขา (Out door Museum) เป็นพื้นที่สำหรับจัดแสดงบ้านจำลองวิถีชีวิตชนเผ่าจำนวน 10 หลัง ซึ่งบริหารจัดการ โดยศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง 16 แห่ง

“พิพิธภัณฑ์ฯ แห่งนี้ นับว่าเป็นเป็นศูนย์กลางแห่งความจงรักภักดี แหล่งเรียนรู้ศาสตร์พระราชา รวบรวมองค์ความรู้ของราษฎรบนพื้นที่สูง แสดงออกทาง อัตลักษณ์เพื่อสร้างความเข้มแข็ง โดยเปิดโอกาสให้ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันและขอให้ ทุกภาคส่วนได้ใช้พื้นที่แห่งนี้ เพื่อบูรณาการกลไกประชารัฐร่วมพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ขยายเครือข่าย ทั้งในระดับจังหวัดและภูมิภาคอาเซียน

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ฯแห่งนี้ ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งเปิดบริการประชาชน ทุกวันในเวลาราชการ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 053-210872” พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวในตอนท้าย

ร่วมแสดงความคิดเห็น