มช.มุ่งสร้างนวัตกรรมใหม่ สู่นโยบายประเทศไทย 4.0

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วางแนวทางยุทธศาสตร์ด้านการวิจัยตามแผนพัฒนาการศึกษา ระยะที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) ใน 5 ด้าน ได้แก่ นวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน นวัตกรรมด้านอาหาร สุขภาพและผู้สูงอายุ นวัตกรรมล้านนาสร้างสรรค์ การวิจัยที่เป็นเลิศ และการบริการวิชาการที่เกิดประโยชน์แก่สังคม มุ่งนำองค์ความรู้จากการวิจัย สู่การสร้างนวัตกรรม เพื่อนำไปร่วมพัฒนาและแก้ปัญหาของประเทศ ให้สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0

รองศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีพันธกิจที่ชัดเจน ที่จะมุ่งเน้นการพัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาการและการอาศัยจุดแข็งด้านการสร้างองค์ความรู้จากการวิจัยของมหาวิทยาลัยไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาและแก้ปัญหาของประเทศในเชิงเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยได้ดำเนินการกำหนดยุทธศาสตร์ ให้สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาลที่มุ่งผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยเฉพาะการปฏิรูปการสร้างองค์ความรู้ผ่านระบบการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมพร้อมไปกับการปฏิรูปคนและการศึกษา จุดที่หลายฝ่ายได้มองเห็น คือ ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบในเชิงความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) และความหลากหลายทางวัฒนธรรม (Cultural diversity) แต่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบดังกล่าวอย่างเต็มที่ จึงจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนความได้เปรียบที่มีอยู่ให้กลายเป็นความได้เปรียบในการแข่งขัน ซึ่งในการนำแนวคิดดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผล รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญที่จะให้มหาวิทยาลัยเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาไปสู่การสร้างนวัตกรรม ดังเช่นประเทศ ที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ ภายใต้บริบทดังกล่าว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ด้านการวิจัยเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ของประเทศ ในระยะ 5 ปี ต่อจากนี้ไป คือ พ.ศ. 2560-2564 โดยมียุทธศาสตร์ด้านการวิจัยไว้ 5 ด้าน

ยุทธศาสตร์ที่ 1 นวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน มหาวิทยาลัยมุ่งสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยการบูรณาการเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีดิจิทัล และเทคโนโลยีอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนานวัตกรรมในด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงประจักษ์ รวมถึงสร้างวัฒนธรรม พัฒนาสมรรถนะด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนให้แก่สังคมภายใน (นักศึกษาและบุคลากร) และสังคมชุมชนภายนอกมหาวิทยาลัย โดยมีเป้าหมายว่า ภายในปี 2564 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานเมื่อเทียบกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ภายในประเทศ สามารถลดปริมาณคาร์บอน ฟุตพริ้นท์ภายในมหาวิทยาลัยลดลงได้อย่างชัดเจน และสามารถ เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนให้ได้อย่างน้อย 5 เมกกะวัตต์ หรืออย่างน้อยร้อยละ 10 เทียบกับปริมาณพลังงานรวมที่ใช้ในปัจจุบัน

ยุทธศาสตร์ที่ 2 นวัตกรรมด้านอาหาร สุขภาพและผู้สูงอายุ จะให้ความสำคัญในการสร้างนวัตกรรมทั้งด้านผลิตภัณฑ์และบริการด้านอาหาร สุขภาพและผู้สูงอายุ ที่สร้างรายได้หรือมีผลกระทบต่อสังคม โดยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มอุตสาหกรรมเครือข่ายและ ภาคสังคม ในการนำนวัตกรรมไปขับเคลื่อนการแก้ปัญหาด้านอาหาร สุขภาพและผู้สูงอายุ รวมทั้งการบริการข้อมูลและคลังความรู้ด้านอาหาร สุขภาพและผู้สูงอายุ ตลอดจนการทำวิจัยเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงการบริโภคอาหารของตลาดในประเทศและตลาดโลก ด้วยการ บูรณาการเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีชีวการแพทย์ เทคโนโลยีดิจิทัล และเทคโนโลยี เมคาโทรนิกส์ และเทคโนโลยีอื่นๆ ในปี 2564 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำด้านอาหารและสุขภาพ ระบบการจัดการและการดูแลสังคมผู้สูงอายุ เมื่อเทียบกับสถาบันการศึกษาภายในประเทศ และผลงานวิชาการด้านอาหารและสุขภาพ และด้านผู้สูงอายุ สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์จริงเกือบทั้งหมด

ด้านยุทธศาสตร์ที่ 3 นวัตกรรมล้านนาสร้างสรรค์นั้น การที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งอยู่ในภาคเหนือตอนบนที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจึงเอื้อให้มีการศึกษาวิจัยและสะสมองค์ความรู้เกี่ยวกับล้านนาคดีด้านต่างๆ ไว้เป็นจำนวนมาก ที่สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่สามารถสร้างคุณค่าเชิงวัฒนธรรมและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ดังนั้นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงมุ่งที่จะรวบรวมคลังความรู้และพัฒนาการเผยแพร่ข้อมูลด้านล้านนา และนำความรู้ด้านล้านนามาต่อยอดสร้างนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ โดยในปี 2564 มหาวิทยลัยเชียงใหม่ตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นำอันดับ 1 ด้านองค์ความรู้และการสร้างนวัตกรรมล้านนาเมื่อเทียบกับสถาบันการศึกษาในระดับนานาชาติ และผลงานวิชาการด้านล้านนาสร้างสรรค์มีการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์จริงเป็นจำนวนมาก

ในส่วนของยุทธศาสตร์ที่ 4 การวิจัยที่เป็นเลิศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เล็งเห็นความสำคัญอย่างยิ่งของการวิจัยและพัฒนา ที่จะนำไปสู่การสร้างและพัฒนานวัตกรรมทั้งสามด้านหลัก คือ นวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน นวัตกรรมด้านอาหาร สุขภาพและผู้สูงอายุ และนวัตกรรมล้านนาสร้างสรรค์ จึงได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการวิจัยที่เป็นเลิศ โดยมุ่งเน้นการสร้างระบบและพัฒนานักวิจัย ทุกระดับอย่างต่อเนื่อง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการวิจัยให้สมบูรณ์และทันสมัย ปฏิรูปโครงสร้างระบบบริหารจัดการงานวิจัยของมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับยุทธศาสตร์การวิจัยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามแนวทางของนโยบายประเทศไทย 4.0 พัฒนาระบบนิเวศการวิจัยที่เอื้อให้คณาจารย์และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สามารถเพิ่มผลิตภาพและคุณภาพของงานวิจัยได้ดีขึ้น ตลอดจนส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการผลิตผลงานวิจัยและผลงานวิชาการอื่นๆ ที่มีคุณภาพสูงเพื่อยกระดับของมหาวิทยาลัย ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และผลงานวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงและตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ตลอดจนมุ่งสร้างกลไกและความร่วมมือในการบูรณาการการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคสังคม โดยในปี 2564 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งเป้าที่จะเพิ่มจำนวนโครงการวิจัยที่มีการนำไปใช้จริงและตอบโจทย์การพัฒนาประเทศให้มากขึ้น มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับโลกสูงขึ้นกว่าปัจจุบันอย่างชัดเจน และมีจำนวนสาขาวิชาที่ได้รับการจัดอันดับโลกเพิ่มขึ้นกว่าปัจจุบัน

สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 5 การบริการวิชาการที่เกิดประโยชน์แก่สังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีเป้าหมายในการสร้างเครือข่ายเชิงบูรณาการทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยในเชิงรุกเพื่อตอบโจทย์ประเทศในการแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ อาทิ การใช้ที่ดินที่ไม่เหมาะสม การสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ การขาดแคลน แหล่งน้ำและการเสื่อมคุณภาพของแหล่งน้ำ ปัญหาหมอกควัน และภัยพิบัติทางธรรมชาติ นอกเหนือจากนั้นจะรวมถึงการผลักดันให้มีการนำองค์ความรู้และนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงประจักษ์บนพื้นฐานของความต้องการและการมีส่วนร่วมของชุมชนกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยภายในปี พ.ศ. 2564 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งเป้าที่จะสามารถช่วยลดปริมาณฝุ่นควันในพื้นที่ภาคเหนืออยู่ในระดับไม่เกินค่ามาตรฐาน และมีผลงานการบริการวิชาการที่สามารถใช้พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศและท้องถิ่นได้

ยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ด้านที่กล่าวมาจะมีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน โดยที่การวิจัยที่เป็นเลิศจะเป็นรากฐานสำคัญ โดยการกำหนดโจทย์วิจัยจะมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ชุมชน และภาคอุตสาหกรรม มากกว่าความต้องการของคณาจารย์และนักวิจัย เพื่อให้มั่นใจว่างานวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีทิศทางที่ชัดเจนและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้จำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบการบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย การสร้างระบบนิเวศการวิจัยที่เอื้อต่อการทำวิจัยและการพัฒนางานวิจัยของคณาจารย์และนักวิจัย ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชน และความร่วมมือกับสถาบันและองค์กรต่างประเทศอย่างจริงจัง

ร่วมแสดงความคิดเห็น