คนไทย 1 ใน 3 เข้าใจผิดว่าคนท้องออกกำลังกายไม่ได้

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เผยผลสำรวจความเชื่อประชาชนไทยอายุ 15 ปีขึ้นทั่วประเทศ รวมทั้งเขตกทม.และปริมณฑล ในเดือนตุลาคม 2559 ผลพบว่าร้อยละ 31 เชื่อผิดๆว่าออกกำลังกายตอนตั้งครรภ์ไม่ได้ ภาคกลางเชื่อสูงสุด ร้อยละ 54 ภาคใต้เชื่อตํ่าสุดร้อยละ 17 เผยการออกกำลังกาย ขณะตั้งครรภ์จะมีผลดี ช่วยให้สุขภาพแม่และลูกแข็งแรง คลอดง่าย และนํ้าหนักลูกปกติ นอกจากนี้ยังช่วยให้สุขภาพจิตแม่ดีขึ้นด้วย

นายแพทย์ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล รองโฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลง เหลือ 679,502 คน ในปี 2558 จากเดิม 780,975 คน ในปี 2555 กรม สบส.จึงร่วมกับ อสม.ทั่วประเทศ รณรงค์ให้หญิงตั้งครรภ์ฝากครรภ์ให้ครบถ้วนตามเกณฑ์มาตรฐาน ตั้งแต่อายุครรภ์ก่อน 12 สัปดาห์ และเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว อย่างน้อย 6 เดือน อย่างไรก็ดี หญิงตั้งครรภ์ ควรมี
กิจกรรมทางกาย หรือการออกกำลังกาย ให้เพียงพอ เพื่อช่วยให้ร่างกายพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์และคลอดด้วย

นายแพทย์ภัทรพล กล่าวว่า กรมสบส.ได้สำรวจความเชื่อของประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปทั้ง 4 ภาค รวมทั้งเขตกทม.และปริมณฑล ในเดือนตุลาคม 2559 รวมกลุ่มตัวอย่าง 501 คน ผลปรากฏว่า บางส่วนยังเข้าใจเรื่องนี้ไม่ถูกต้อง
โดยกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 31 มีความเชื่อว่าขณะตั้งครรภ์ไม่สามารถออกกำลังกายได้ โดยกลุ่มอายุ 15-20 ปีเชื่อไม่ถูกต้องมากที่สุด ร้อยละ 46 และภาคกลางมีความเชื่อไม่ถูกต้องสูงที่สุด ร้อยละ 54 รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
กทม.และปริมณฑล และภาคเหนือ ส่วนภาคใต้เชื่อไม่ถูกต้องตํ่าที่สุด ร้อยละ 17

นายแพทย์ภัทรพล กล่าวต่อว่า การออกกำลังกายขณะตั้งครรภ์ จะมีผลดีทั้งแม่และเด็กในครรภ์ เนื่องจากระหว่างตั้งครรภ์ร่างกายและระบบต่างๆ จะมีการเปลี่ยนแปลงมาก การออกกำลังกายจะช่วยลดอาการไม่สบายต่างๆ ที่เกิดจากการตั้งครรภ์ เช่น อาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ กล้ามเนื้อเป็นตะคริว ลดอาการปวดหลัง ท้องผูก ท้องอืด อีกทั้งยังทำให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดท่างานได้ดีขึ้น ท่าให้ทารกได้รับสารอาหารจากแม่มากขึ้น นอนหลับได้ดี กล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับการคลอดแข็งแรงขึ้น ท่าให้คลอดได้ง่ายขึ้น ลดความเสี่ยงต่อการขาดออกซิเจนของทารกในครรภ์ ทำให้ทารกมีนํ้าหนักตัวที่เหมาะสม และลดอาการปวดในแม่ได้

ด้าน นายแพทย์กิตติ ลาภสมบัติศิริ ผู้อำนวยการกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กล่าวว่า หญิงตั้งครรภ์สามารถมีกิจกรรมทางกายได้เหมือนคนปกติทั่วไป โดยไม่มีอันตรายใดๆ ทั้งในการทำงาน เช่น การเดินขึ้นลงบันได การทำเกษตรกรรม การทำงานในโรงงาน หรือในการเดินทาง เช่น เดิน หรือปั่นจักรยาน ไปสถานที่ต่างๆ หรือการออกกำลังกายในเวลาว่าง เช่น การว่ายนํ้า หรือการทำโยคะ ยิ่งเป็นแม่ที่ออกกำลังกายสมํ่าเสมอก่อนตั้งครรภ์ สามารถทำต่อเนื่องขณะตั้งครรภ์ได้เลย ทั้งนี้ควรมีกิจกรรมทางกาย อย่างน้อย วันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ โดยค่อยๆ เริ่มเพิ่มระดับความหนัก และระยะเวลา ซึ่งการออกกำลังกายอย่างสมํ่าเสมอจะทำให้ลูกแข็งแรง แม่ปลอดภัย

ร่วมแสดงความคิดเห็น