สกู๊ปหน้า1…ชุมชนแม่ขัก ยกระดับ “สถาบันการเงินชุมชน”

ช่วงสายวันที่ 21 ม.ค.60 ที่ผ่านมา ที่บริเวณสำนักงานกองทุนหมู่บ้านแม่ขัก (สถาบันการเงินชุมชนบ้านแม่ขักพัฒนา) หมู่ 5 ต.หางดง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ รศ.ดร.นที ขลิบทอง ผอ.สทบ.แห่งชาติ ได้เป็นประธานในพิธีเปิดป้ายและอาคารสำนักงานกองทุนหมู่บ้านแม่ขัก ซึ่งเป็นกองทุนหมู่บ้านที่จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2544 ตามนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้น การบริหารจัดการที่ผ่านมาก็เป็นไปตามแนวนโยบายของรัฐบาลโดยตลอดได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลทุกระยะจำนวนรวม 2,500,000 บาท และเมื่อวันที่ 23-25 ก.พ.2551 ได้ส่งบุคลากรเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตร “สถาบันการเงินชุมชนต้นแบบตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” รุ่นที่ 12 และในปี พ.ศ.2554 กองทุนหมู่บ้านแม่ขักได้เปิดดำเนินการในรูปแบบของสถาบันการเงินชุมชนอย่างเป็นทางการ จนถึงวันนี้ มียอดเงินบริหารรวมทั้งสิ้นประมาณ 20 ล้านบาท

ซึ่งราวปลายปี พ.ศ.2558 คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านแม่ขักมีมติเห็นชอบให้เสนอในที่ประชุมใหญ่ฯ สมาชิกกองทุนหมู่บ้านแม่ขักให้เห็นชอบในการจัดซื้อที่ดินและอาคารสิ่งปลูกสร้างในวงเงินรวม 4.5 ล้านบาท และใช้งบประมาณปรับปรุงรวมทั้งสิ้นประมาณ 2 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์ของการจัดซื้อเพื่อสร้างเป็นทรัพย์มรดกของลูกหลานสืบไป รวมทั้งเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่สามารถรับช่วงของการบริหารได้อย่างภาคภูมิใจ และใช้เป็นที่ทำการของกองทุนหมู่บ้านและสถาบันการเงินของชุมชน ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้กับสมาชิกและผู้ใช้บริการอย่างทั่วถึงและเหมาะสม โดยให้บริการครอบคลุมทุกประเภทของธุรกรรมทางการเงิน

โดยทาง รศ.ดร.นที ขลิบทอง ผอ.สทบ.แห่งชาติ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายสำคัญในการยกระดับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองขึ้นเป็น “สถาบันการเงินชุมชน” ที่ให้บริการทางการเงินในรูปแบบการเงินรายย่อยแบบครบวงจรเพื่อขยายโอกาสให้กับประชาชนในพื้นที่ได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนและบริการทางการเงินในรูปแบบที่มีมาตรฐาน มีความมั่นคงเชื่อถือได้ และยังได้ส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อยกระดับกองทุนหมู่บ้านในรูปแบบสถาบันการเงินชุมชนอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน กองทุนหมู่บ้าน สถาบันการเงินชุมชน เป็นศูนย์กลางในการพัฒนา โดยเฉพาะที่ทางรัฐบาลมุ่งหน้าในการสร้างไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งมีการลงความเห็นกันว่า หากหมู่บ้านไม่เป็น 4.0 ฐานแรกของไทยแลนด์ 4.0 ก็จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งเราก็คาดหวังให้กองทุนหมู่บ้านเป็นสถาบันการเงินชุมชน 4.0 เพื่อเป็นฐานรากให้กับไทยแลนด์ 4.0 ต่อไป

นอกจากนี้แล้วยังมีอีกหลายโครงการที่ได้มีการเตรียมการที่จะเดินหน้าสร้างกองทุนหมู่บ้าน และสถาบันการเงิน 4.0 ให้เกิดขึ้น อาทิเช่น การให้กองทุนหมู่บ้าน สถาบันการเงินชุมชนทำโครงการประชารัฐ ด้านตลาด ด้านร้านค้า เพื่อให้ตลาดและร้านค้าสามารถเป็นแหล่งพัฒนาสินค้าให้กับพี่น้องในชุมชน และให้สินค้าในชุมชนนั้นก้าวไปสู่ระดับสากล ที่เป็นอีกทางหนึ่งในนการส่งเสริมอาชีพ ส่งเสริมเครือข่ายส่งเสริมรายได้ ให้กับพี่น้องในหมู่บ้าน ชุมชน ซึ่งที่กล่าวมาคือการสร้างเศรษฐกิจฐานราก นอกจากนี้หากสามารถใช้ระบบพัฒนาดิจิตอลเข้ามาช่วยในหมู่บ้านและชุมชนมีระบบ E-Commerce ให้กองทุนหมู่บ้านใช้ระบบ E-Commerce ในการต่อยอดร้านค้า สถาบันการเงินชุมชนได้ ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของหมู่บ้าน 4.0 เพื่อมุ่งไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น