การรับปริญญาบัตรในสมัยก่อนที่ศาลาอ่างแก้ว ก่อนย้ายมาหอประชุม มช.

ขอขอบคุณภาพและประวัติจาก สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“ บัณฑิตผู้มีความรู้ เป็นส่วนหนึ่งของกำลังของชาติ จึงน่าจะถือตนว่ามีหน้าที่อันสำคัญยิ่งที่จะต้องปฏิบัติการร่วมกับกำลังส่วนอื่นๆ โดยประสานสอดคล้อง ทั้งส่งเสริมกันและกันอย่างเหมาะสม พร้อมเพรียง และเข้มแข็ง เพื่อให้กำลังปฏิบัติการส่วนรวมทั้งประเทศมีประสิทธิภาพบริบูรณ์เต็มเปี่ยม” พระราชดำรัสในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ ๙ ณ ศาลาอ่างแก้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันพฤหัสบดี ที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๘

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เริ่มเปิดสอนในวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๗ โดยระยะแรกมีเพียง ๓ คณะ ได้แก่ คณะมนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ ในปีพ.ศ. ๒๕๐๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตน์ราชกัญญาฯ และพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ฯมาทรงประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ ณ วันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๘ และในปีเดียวกันนี้เองที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับโอนคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ มาสังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดังนั้น พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ในครั้งที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๐๙) จึงเป็นพิธีพระราชทานปริญญาบัตรพร้อมกับมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ณ หอประชุมแพทยาลัย มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ครั้งที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๑๐) จัด ณ พลับพลาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครั้งที่ ๓-๕ (พ.ศ. ๒๕๑๒ – ๒๕๑๔) จัด ณ พลับพลาบริเวณสนามหน้าตึกอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครั้งที่ ๙ พ.ศ.2513

ศาลาอ่างแก้วในปัจจุบัณ ขอบคุณณภาพจาก sweet_pills

ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เมื่อการสร้างศาลาอ่างแก้วแล้วเสร็จ มหาวิทยาลัยจึงได้ย้ายสถานที่ประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตรมายังศาลาอ่างแก้ว ดังนั้น พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งที่ ๖–๓๐ (พ.ศ. ๒๕๑๕ – ๒๕๓๙) จึงจัด ณ ศาลาอ่างแก้ว ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวมีเหตุการณ์ที่ควรบันทึกไว้คือ ในการพระราชทานปริญญาบัตรครั้งที่ ๒๕ (พ.ศ. ๒๕๓๔) เป็นปีฉลอง ๒๕ ปีแห่งพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต จัดทำเหรียญที่ระลึกพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งที่ ๒๕ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นเหรียญทองคำหนัก ๒๕ บาท จำนวน ๑ เหรียญ เพื่อขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญที่ระลึกดังกล่าวแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ ๒๕ เพื่อเป็นศิริมงคลแก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การรับปริญญาบัตรในหอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินเปิดอาคารหอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมกับพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดังนั้นการพระราชทานปริญญาบัตรครั้งที่ ๓๑ (พ.ศ. ๒๕๔๐) จึงเป็นปีที่เริ่มใช้หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นสถานที่พระราชทานปริญญาบัตร

ในอดีต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตรในวันที่ ๒๔ มกราคม เป็นประจำทุกปี บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจะต้องรายงานตัวเพื่อขอรับพระราชทานปริญญาบัตรล่วงหน้า ทั้งนี้ เพื่อความเป็นระเบียบและสามารถจัดเตรียมปริญญาบัตรและที่นั่งในพิธีได้ เป็นประเพณีสืบต่อกันมานานสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาต้องมาเตรียมตัวก่อนรับพระราชทานปริญญาบัตรก่อน ๓ วัน เพราะต้องมีการซ้อมการรับปริญญาบัตรให้สมบูรณ์ ไม่มีข้อผิดพลาด แบ่งการซ้อมเป็นการซ้อมธรรมดา ๒ ครั้ง และซ้อมใหญ่ในวันก่อนวันจริงในการรับปริญญาบัตรนั้นมีสิ่งที่นักศึกษาต้องฝึก คือ การทำความเคารพ การทำมือขณะเอางาน การแต่งกายที่ต้องไม่มีเครื่องประดับ บัณฑิตต้องมีการแบ่งกลุ่มกันซ้อมเพื่อฝึกความถูกต้องโดยจะมีคณาจารย์คอยควบคุมการฝึกอย่างใกล้ชิด

ในช่วงที่บัณฑิตเดินทางมาถึงนั้น บรรยากาศของมหาวิทยาลัยจะคึกคัก ทางสโมสรนักศึกษาจะเปิดเพลงประจำมหาวิทยาลัย เจ้าหน้าที่หอพักจะปลูกดอกไม้เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศของการกลับบ้านของบัณฑิต และเพิ่มบรรยากาศความสดชื่นและเป็นที่สำหรับถ่ายรูปของบัณฑิต

รายการอ้างอิง

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. คณะกรรมการจัดทำหนังสือ. (๒๕๔๐). พระภูบาลปานตะวันอัน

โอภาส : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (๒๕๓๓). ครบรอบ ๒๕ ปี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เชียงใหม่:

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (๒๕๔๘). ประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ค้นเมื่อ ๑๖

กรกฎาคม ๒๕๕๕, จาก library.cmu.ac.th/pinmala/place.php

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น