จาก “หอคำเจ้าหลวง” สู่ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน”

งาช้างดำมีลักษณะเป็นงาปลียาว 94 เซนติเมตร วัดโดยรอบตรงส่วนที่ใหญ่ที่สุดได้ 47 เซนติเมตร มีนํ้าหนัก
ถึง 18 กิโลกรัม สันนิษฐานว่าเป็นงาช้างข้างซ้ายเพราะปรากฏรอยเสียดสีกับงวงช้างให้เห็น ปัจจุบันงาช้างดำถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์เมืองน่านซึ่งได้ดัดแปลงมาจากหอคำเจ้าหลวงเมืองน่าน

หากเอ่ยถึงเมืองน่านหรือจังหวัดน่าน เมืองเล็กๆ ที่ยังคงความเงียบสงบ ผนวกกับวิถีชีวิตของผู้คนในเมืองนี้ยังคงดำเนินไปท่ามกลางความเรียบง่ายและกลิ่นอายของเมืองล้านนา

วัฒนธรรม ประเพณีและวิถีชีวิตของผู้คนดูเหมือนจะเป็นเอกลักษณ์ที่ดึงดูดคนจากต่างถิ่นให้เข้ามาเยือนเมืองน่านได้พอๆ กับชนชาวไทลื้อที่กระจายถิ่นฐานอยู่ทั่วจังหวัด ไม่แพ้กับงาช้างดำวัตถุมงคลสำคัญคู่บ้านคู่เมืองที่กลายเป็นเอกลักษณ์ของคนเมืองน่านไปเสียแล้ว

ปัจจุบันหากใครที่ต้องการจะเห็นงาช้างดำก็ต้องเข้าไปชมในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดน่าน เพราะที่นั่นเป็นที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุชิ้นสำคัญต่างๆ ที่พบในเมืองน่านรวมทั้งงาช้างดำที่ว่าด้วย

งาช้างดำวัตถุมงคลคู่บ้านคู่เมืองน่านชิ้นนี้เป็นสมบัติที่ตกทอดมาจากเจ้าผู้ครองเมืองน่านหลายชั่วอายุคน สำหรับความเป็นมานั้นไม่มีจดหมายเหตุบันทึกไว้แน่นอน เจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองเมืองน่านองค์สุดท้ายเคยเล่าไว้ก่อนที่จะพิราลัยในปี พ.ศ.2474 ว่า “ประมาณปี พ.ศ.1896 พญาการเมืองเจ้าเมืองน่านองค์ที่ 5 เป็นผู้ได้งาช้างดำนี้มาและประสงค์ให้งาช้างดำนี้เป็นสมบัติคู่บ้านคู่เมืองน่านตลอดไป” จะสังเกตว่าสมัยต่อมาไม่มีเจ้าผู้ครองนครน่านองค์ใดนำงาช้างดำนี้ไปเป็นสมบัติส่วนตัวเลยทั้งๆ ที่เมืองน่านมีเจ้าเมืองสืบต่อๆ มาถึง 59 องค์

งาช้างดำนี้มีลักษณะเป็นงาปลียาว 94 เซนติเมตร วัดโดยรอบตรงส่วนที่ใหญ่ที่สุดได้ 47 เซนติเมตร มีนํ้าหนักถึง 18 กิโลกรัม สันนิษฐานว่าเป็นงาช้างข้างซ้ายเพราะปรากฏรอยเสียดสีกับงวงช้างให้เห็น ปัจจุบันงาช้างดำถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์เมืองน่านซึ่งได้ดัดแปลงมาจากหอคำเจ้าหลวงเมืองน่าน

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ตั้งอยู่ภายในคุ้มของอดีตเจ้าผู้ครองเมืองน่าน แต่เดิมเป็น “หอคำ” ของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ทรงสร้างขึ้นเป็นที่ประทับเมื่อปี พ.ศ.2446 แทนหอคำหลังเก่าซึ่งเป็นอาคารไม้ เมื่อเจ้ามหาพรหมสุรธาดาเจ้าเมืองน่านองค์สุดท้ายถึงแก่พิราลัย เจ้านายบุตรหลานจึงได้มอบอาคารหลังนี้และที่ดินให้แก่รัฐบาลเพื่อใช้เป็นศาลากลางในปี พ.ศ.2474 ต่อมาเมื่อกระทรวงมหาดไทยได้ก่อสร้างศาลากลางขึ้นใหม่ กรมศิลปากรจึงได้รับมอบตัวอาคารหอคำเพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่านเมื่อปี พ.ศ.2517

ด้านหน้าของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่านมีพระราชานุสาวรีย์ของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ประดิษฐานอยู่ ภายในอาคารแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกบริเวณห้องโถงกลางซึ่งเคยเป็นท้องพระโรงที่เสด็จออกว่าราชการของเจ้าเมือง จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองน่าน การสร้างเมืองและโบราณสถานที่สำคัญ เชื้อสายราชวงศ์เจ้าผู้ครองนคร รูปถ่ายโบราณ งานประณีตศิลป์เครื่องใช้ เงินตราและอาวุธโบราณ ส่วนหลังแบ่งเป็น 6 ห้องจัดแสดงเรื่องราวด้านศิลปะและโบราณคดี เริ่มตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่เริ่มปรากฏหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์ในแถบจังหวัดน่าน
สมัยประวัติศาสตร์ อิทธิพลของศิลปล้านนาและสุโขทัยที่ก่อให้เกิดวิวัฒนาการทางรูปแบบศิลปสกุลช่างขึ้นในเมืองน่าน นอกจากนั้นยังจัดแสดงโบราณวัตถุที่ขุดจากพื้นที่นํ้าท่วมเหนือเขื่อนสิริกิติ์ เครื่องถ้วยโบราณที่พบในเมืองน่าน

ส่วนชั้นล่างจัดแสดงเรื่องราวทางด้านชาติพันธุ์วิทยาเกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยพื้นเมืองเหนือ จำลองลักษณะบ้านเรือน ห้องครัว ห้องนอนและเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน การทอผ้าและผ้าทอพื้นเมืองน่านแบบต่างๆ ประเพณีและความเชื่อ เช่น การแข่งเรือ การจุดบอกไฟ การสืบชะตา งานสงกรานต์และงานสลากภัต เป็นต้น

อีกด้านหนึ่งจัดแสดงเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่และเครื่องใช้ไม้สอยของชนกลุ่มน้อยในเมืองน่านรวม 5 เผ่า คือ ไทลื้อ แม้ว เย้า ถิ่นและตองเหลือง การจัดแสดงในส่วนนี้ใช้เทคนิควิธีการจัดแสดงโดยใช้หุ่นจำลองสร้างฉากหลังให้มีความเหมือนจริง

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่านเป็นพิพิธภัณฑ์ทางประวัติศาสตร์ศิลปะและชาติพันธุ์ประจำจังหวัดที่น่าไปชมมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ นอกจากนี้ทางพิพิธภัณฑ์ฯ ยังได้จัดทำเอกสารเผยแพร่เรื่องราวด้านวิชาการ ประวัติศาสตร์ โบราณดคีและชาติพันธุ์วิทยาให้แก่ผู้สนใจอีกด้วย

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่านเปิดให้ชมทุกวันไม่เว้นวันหยุดตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ค่าธรรมเนียมเข้าชมคนละ 10 บาท ชาวต่างชาติคนละ 30 บาท สนใจเข้าชมเป็นหมู่คณะติดต่อได้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ถ.ผากอง อ.เมือง จ.น่าน 55000 โทร.054-710561, 054-772777

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น