“ถนนท่าแพ” อดีตย่านการค้าของเชียงใหม่

เชียงใหม่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งการค้าที่สำคัญของภาคเหนือ นอกเหนือจากถนนช้างคลานแหล่งค้าขายขนาดใหญ่ใจกลางเมืองแล้ว หากย้อนไปในอดีตเมื่อราว 50 – 60 ปีก่อน ถนนท่าแพนับว่าเป็นถนนสายการค้าที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเชียงใหม่ ตลอดสองข้างทางจะมีร้านค้าของชาวจีนตั้งเรียงรายอยู่เป็นจำนวนมาก จนกระทั่งปัจจุบันร้านค้าเหล่านั้นก็ยังคงเปิดดำเนินการอยู่

ในสมัยก่อนร้านค้าสองฟากถนนท่าแพตั้งแต่บริเวณสี่แยกอุปคุตเรื่อยไปจนถึงบริเวณวัดแสนฝาง ส่วนมากจะเป็นร้านค้าของพ่อค้าชาวพม่าและชาวตองสู เวลานั้นพ่อค้าชาวจีนยังมีน้อย ส่วนคนไทยหรือคนพื้นเมืองแทบไม่มีเลย พ่อค้าชาวพม่าและตองสูเหล่านี้ มักจะนิยมเดินทางค้าขายไปมาระหว่างเมืองเชียงใหม่กับเมืองมะละแหม่งของพม่า โดยใช้ช้างหรือวัวต่าง ม้าต่างบรรทุกสินค้าผ่านเข้าออกที่ด่านอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก นำสินค้าจากเชียงใหม่ไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าของพม่า จากนั้นก็จะนำมาจำหน่ายที่ร้านค้าบริเวณถนนท่าแพ

ถนนท่าแพเชียงใหม่ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ถนนต้าแป” เป็นย่านการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองเชียงใหม่มาตั้งแต่อดีต แม้ว่าปัจจุบันจะมีแหล่งการค้าแห่งใหม่เกิดขึ้นมากมายทั่วเมือง แต่ชื่อเสียงและมนต์เสน่ห์แห่งถนนท่าแพยังคงไว้ซึ่งกลิ่นอายของถนนสายการยุคโบราณเสมอมา ในสมัยก่อนร้านค้าสองฟากถนนเป็นของชาวพม่า ซึ่งเปิดขายสินค้าจำพวกเสื้อผ้า โดยทางร้านจะนำเสื้อผ้าออกมาแขวนห้อยอยู่หน้าร้านเป็นแถว ในหนังสือของบุญเสริม สาตราภัยชื่อ “ลานนาไทยในอดีต” ซึ่งมีภาพเก่าของถนนท่าแพ เป็นภาพที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน ในหนังสือดังกล่าวพูดถึงถนนท่าแพว่า บริเวณสองข้างทางของถนนท่าแพจะนิยมขายเสื้อผ้าซึ่งเป็นร้านค้าของชาวพม่า ส่วนในภาพที่เห็นผู้หญิงขี่รถจักรยานสองล้อคือบริเวณที่เป็นห้างตันตราภัณฑ์ในปัจจุบัน ถัดไปอีกเล็กน้อยจะสังเกตเห็นว่าตรงนั้นมีตรอกแคบ ๆ มีรั้วไม้สะลายอยู่หัวมุมบ้านไม้ชั้นเดียว บ้านหลังนี้ต่อมากลายเป็นโรงหนังมีชื่อของเชียงใหม่ชื่อ “โรงหนังตงเฮง” ต่อมาก็ได้กลายเป็นโรงยาฝิ่น มีคอขี้ยาระดับเถ้าแก่ เจ้าสัว อาเสี่ย อาแป๊ะ แม้กระทั่งกุลีจับกังเข้าไปสูบฝิ่นในโรงฝิ่นแห่งนี้เป็นจำนวนมาก จนกระทั่งสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรีได้สั่งให้มีการเลิกสูบฝิ่นทั่วประเทศ โรงฝิ่นแห่งนี้จึงได้เลิกกิจการ

ช่วงเมื่อกว่า 80 ปีที่แล้ว บนถนนสายต่างๆ ของเชียงใหม่ ผู้คนจะนิยมเดินทางด้วยการเดิน ส่วนการใช้รถจักรยาน หรือ รถถีบ จะมีน้อยมากนอกเสียจากคนมีเงินมีฐานะจะนิยมใช้รถจักรยานเท่านั้น ส่วนรถยนต์แทบไม่มีให้เห็นเลยส่วนใหญ่จะเป็นพวกเจ้านาย คหบดี ดังนั้นสมัยก่อนหากใครมีรถจักรยานปั่นโชว์ก็นับเป็นเรื่องเท่อย่าบอกใคร…

ส่วนอีกภาพหนึ่งก็เป็นภาพถ่ายถนนท่าแพ สันนิษฐานว่าถ่ายจากบริเวณทางม้าลายใกล้กับห้างตันตราภัณฑ์ และน่าจะเป็นคนละสมัยกันกับภาพแรก ระยะเวลาต่างกันไม่มากนักคงไม่เกิน 10 ปี ซึ่งถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นราวสะพานแม่ข่าอยู่ด้านหลังของผู้หญิงสองคนซึ่งเดินอยู่ตรงกลางภาพ สมัยนั้นสะพานแม่ข่าสร้างด้วยไม้ ส่วนร้านค้าสองฟากถนนเป็นโรงแถวไม้ชั้นเดียวหลังคามุมกระเบื้องดินเผาซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้น นอกจากนั้นบริเวณใต้ต้นไม้ใหญ่ในภาพเดียวกัน จะเห็นศาลาประตูหน้าวัดแสนฝางเป็นเงาตะคุ่ม ด้านตรงข้ามกับศาลาวัดแสนฝางก็คือบริเวณโรงภาพยนตร์ศรีวิศาล ซึ่งเป็นโรงหนังที่ทันสมัยที่สุดในสมัยนั้น ปัจจุบันได้เลิกกิจการไปแล้วหลังจากที่ได้มีโรงหนังเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในเชียงใหม่ ส่วนริมทางเท้าใกล้กับผู้หญิงสองคนจะเห็นคล้ายกับถังวางอยู่ ไม่ใช่ถังขยะแต่เป็น “ก๋วยหวาย” หรือกระบุงหวายสำหรับใช้ใส่ของเดินทางไกล สมัยก่อนไม่มีกระเป๋าเดินทางเมื่อเวลาชาวบ้านจะนำสินค้าไปขายยังต่างเมือง ก็จะนำก๋วยหวายนี้ใส่สินค้าแล้วบรรทุกบนหลังวัวหรือหลังม้า

ก๋วยหวายนี้เป็นกระบุงสานด้วยหวายรูปสี่เหลี่ยม ข้างบนมีฝาปิดเปิดได้ เมื่อเวลาเปิดฝาออกจะมีชั้นตะแกงสานด้วยไม้ไผ่อย่างบาง สำหรับวางสิ่งของเบ็ดเตล็ด ก๋วยหวายจะมีน้ำหนักเบาและทนทานมาก ส่วนตรงข้ามก๋วยหวายจะเห็นคอกสี่เหลี่ยมล้อมต้นมะฮอกกานี ซึ่งเพิ่งปลูกได้ไม่นาน

หลังจากนั้นมาถนนท่าแพก็มีความเจริญขึ้นตามลำดับ ร้านค้าที่เคยเป็นโรงไม้ชั้นเดียวก็เปลี่ยนมาสร้างด้วยอาคารพานิช 2 ชั้น และมีพ่อค้าชาวจีนเข้ามาตั้งร้านค้าจำหน่ายสินค้าเพิ่มมากขึ้น จนชื่อเสียงของถนนท่าแพกลายเป็นถนนสายการค้าที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่ แต่เมื่อเมืองเชียงใหม่มีเจริญมากยิ่งขึ้นมีพ่อค้า นักธุรกิจเดินทางเข้ามาค้าขายในเชียงใหม่เพิ่มขึ้น ย่านการค้าของเชียงใหม่จึงกระจายออกไปอยู่ทั่วเมือง ความสำคัญของถนนท่าแพก็ลดลง อย่างไรก็ตามแม้ว่าถนนเศรษฐกิจและการค้าของเชียงใหม่จะมีมากขึ้น แต่เสน่ห์ของถนนท่าแพในความทรงจำของคนยุคก่อนก็คือถนนแห่งการค้าสายแรกในยุครุ่งเรืองของเชียงใหม่

เอกสารและภาพประกอบ
ลานนาไทยในอดีต โดยบุญเสริม สาตราภัย

ร่วมแสดงความคิดเห็น