ลำพูนสั่งเฉียบขาด ห้ามเผาป่าเด็ดขาด ลดปัญหา-หมอกควัน-เริ่ม 15 ก.พ.

จังหวัดลำพูนฮึ่มกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า ห้ามเผาเด็ดขาด 60 วัน ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ถึง 15 เมษายน 2560 วางโทษคนเผา จำคุก 2 ปี ถึง 15 ปี ปรับ 20,000 บาท ถึง 150,000 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เช้าวัน 27 มกราคม 2560 ที่ห้องประชุมโรงแรมลำพูนวิล อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน นายวีระชัย ภู่เพียงใจ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ได้ประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 เพื่อกำหนดแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า โดยในปีที่ผ่านๆ มาพบว่าจังหวัดลำพูนนั้นยังมีการละเมิดคำสั่งห้ามเผา มีการลักลอบเผาป่ากันอย่างต่อเนื่อง และในบางครั้ยังลุกลามมายังบ้านเรือนราษฎร ซึ่งเสี่ยงที่จะเกิดไฟไหม้บ้านได้

จังหวัดลำพูน ได้กำหนดให้ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอ เป็นเขตควบคุมไฟป่า เพิ่มความเข้มข้นของการใช้มาตรการต่างๆ ในด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ถึง 15 เมษายน 2560 เป็นช่วง “60 วันห้ามเผาเด็ดขาดของจังหวัดลำพูน” ห้ามไม่ให้ผู้ใด เผากิ่งไม้ใบไม้ วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ขยะมูลฝอย และเผาพื้นที่เกษตรกรรม ผู้กระทำผิดจะมีโทษดังนี้ คือ หากมีการจุดไฟเผาป่า หรือปล่อยให้ไฟลุกลามเข้าไปในอุทยานแห่งชาติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า และเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ ต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่ 2 ปี จนถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 150,000 บาท และเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 220

ผู้ใดกระทำทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดๆ แม้เป็นของตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น หรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 14,000 บาทจังหวัดมุ่งรณรงค์ให้เกษตรกรและประชาชนงดเผา โดยนำใบไม้และเศษวัสดุทางการเกษตรไปทำปุ๋ยหมัก โดยเฉพาะหน่วยส่งเสริมการควบคุมไฟป่าลำพูน, สถานีควบคุมไฟป่า มีแผนจัดการเชื้อเพลิง โดยการกำจัดเศษวัสดุ การชิงเผา และการทำแนวกันไฟในพื้นที่ต่างๆ ที่เป็นจุดเสี่ยง รวม 28,000 ไร่เศษ นอกจากนี้ มีโครงการธนาคารกิ่งไม้ใบไม้ เพื่อส่งเสริมการทำปุ๋ยหมัก โดยมีแผนจัดทำในจังหวัดลำพูน รวม 7 แห่ง ทางด้านศูนย์พัฒนาที่ดินจังหวัดลำพูน ก็มีโครงการส่งเสริมการทำปุ๋ยหมักด้วยเช่นกัน โดยจะตระเวนไปสาธิตการทำปุ๋ยหมักในอำเภอต่างๆ ให้ประชาชนนำใบไม้และเศษวัสดุทางการเกษตร มาร่วมกันทำปุ๋ยหมัก แล้วนำปุ๋ยไปใช้ในที่สวน ไร่ นา ของตนต่อไป

ทางด้าน นายวัฒนา ผาทอง รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ กล่าวว่า ปัจจุบันในจังหวัดแพร่มีเกษตรกรที่ทำการปลูกข้าวโพดมากขึ้นโดยเฉพาะในเขตอำเภอร้องกวาง ทำให้เกิดวัสดุเหลือใช้ทั้งเศษเปลือกและตอซังเป็นจำนวนมากจนนำไปสู่การเผาที่ทำให้เกิดมลภาวะหมอกควัน มีการใช้ปุ๋ยเคมีทำดินมีความเป็นกรดสูง องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่มีแนวคิดที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตมาเป็นเกษตรอินทรีย์ที่เน้นการทำเกษตรแบบอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมไปด้วย จึงได้ร่วมกับสหกรณ์การเกษตรร้องกวางซึ่งมีเปลือกและตอซังข้าวโพดที่เหลือจากการรับซื้อจากสมาชิกกว่า 500 ตัน จัดการฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากซังข้าวโพด เพื่อที่เกษตรกรจะได้นำไปปฏิบัติในพื้นที่จริง ลด ละ เลิก การใช้สารเคมีในการเกษตร เกิดผลผลิตที่ปลอดภัยทั้งตนเอง ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมของจังหวัดแพร่ได้

สำหรับการฝึกอบรมในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานเกษตรอำเภอร้องกวาง และสถานีพัฒนาที่ดินแพร่ ในการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์และการทำปุ๋ยหมักสูตรพระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ ตลาดกลางสหกรณ์การเกษตรร้องกวาง บ้านน้ำเลา ตำบลน้ำเลา อำเภอร้องกวาง ซึ่งมีเกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรร้องกวางและประชาชนทั่วไปจากอำเภอร้องกวาง อำเภอลอง และอำเภอเมืองแพร่ ให้ความสนใจเข้าเรียนรู้กว่า 200 คน ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นโครงการแต่ละคนจะได้รับปุ๋ยหมักกลับไปคนละ 1 ตันเพื่อใช้ในพื้นที่การเกษตรของตนเองอีกด้วย

นายบุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงราย ร่วมกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้หมู่บ้านต้นแบบปลอดการเผาบ้านแม่เลียบ หมู่ที่ 2 ตำบลโชคชัย อำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย ในการสร้างจิตสำนึกส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อการเผยแพร่แหล่งเรียนรู้ การศึกษาดูงานให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและองค์กรชุมชน กำหนดเปิดศูนย์การเรียนรู้หมู่บ้านต้นแบบปลอดการเผาบ้านแม่เลียบ ในวันที่ 29 มกราคม 2560 เวลา 10.00น. จัดกิจกรรมเป็นฐานเรียนรู้ประกอบด้วย 11 ฐาน คือ ฐานจุดเริ่มต้น สู่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนปลอดการเผา ฐานบ้านต้นแบบปลอดการเผา ฐานบ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ฐานกติกาหมู่บ้านปกป้องป่าชุมชน ฐานเกษตรปลอดการเผา ฐานฝายตามแนวพระราชดำริ ฐานอาหารสัตว์จากหยวกกล้วย ฐานบ้านต้นแบบศาสตร์พระราชา ฐานปุ๋ยหมักชีวภาพ ฐานบวชป่าปกป้องต้นไม้ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ และฐานการเรียนรู้แนวกันไฟป่าชุมชน โดยนายสากล ฐินะกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดศูนย์การเรียนรู้หมู่บ้านต้นแบบปลอดการเผาบ้านแม่เลียบ ตำบลโชคชัย อำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย และมอบกองทุนสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์อีกด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น