สกู๊ปหน้า 1….เชียงใหม่รุกจัดระเบียบ ต่างด้าวเข้าเมือง

ปัญหาแรงงานต่างด้าวและการลักลอบหลบหนีเข้าเมือง ในพื้นที่จังหวัดชายแดน ปัญหาดังกล่าวมีความซับซ้อน ยากต่อการจัดการปัญหาให้หมดไปภายในระยะเวลาสั้นๆ

เชียงใหม่มีพื้นที่ติดชายแดน ตั้งแต่บริเวณอำเภอเวียงแหง, เชียงดาว, ไชยปราการ, ฝาง และอำเภอแม่อาย ด้านทิศเหนือ ติดต่อกับรัฐฉานของเมียนมาร์ มีสันปันน้ำของดอยคำ, ดอยปกกลา, ดอยหลักแต่ง, ดอยถ้ำป่อง, ดอยถ้วย, ดอยผาวอก, ดอยอ่างขางส่วนหนึ่งของทิวเขาแดนลาว เส้นกั้นแบ่งพรมแดนไทย-เมียนมาร์ยาว ประมาณ 227 กิโลเมตร

ข้อมูลแรงงานต่างด้าวในรอบปีที่ผ่านมามีราวๆ 1.79 ล้านคน ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว 1.28 ล้านคน แยกเป็น พม่า1.14 ล้านคน กัมพูชา 1.04 แสนคน และลาว 3.49 หมื่นคน และอีกกว่า 3 แสนคนนั้น เป็นแรงงานต่างด้าวที่ต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ตรวจสอบ หรือรอผลักดันกลับประเทศ แรงงานซึ่งไม่ได้อยู่ในระบบ มีการแอบซ่อน ว่าจ้างผ่านกระบวนการนายหน้าโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เข้าไม่ถึง

ฐานแรงงานเหล่านี้ มีความสลับซับซ้อน เป็นภัยต่อความมั่นคง ส่งผลกระทบต่อ ”ระบบแรงงานสากล” ระหว่างประเทศ ที่อาจถูกตีตราขึ้นบัญชี “ค้ามนุษย์ ค้าแรงงานเถื่อน” ได้เฉพาะเชียงใหม่ ยังมีแรงงานต่างด้าวในลักษณะะนี้จำนวนหนึ่ง

หน่วยงานด้านเศรษฐกิจการเกษตร…ลงพื้นที่ติดตาม สำรวจกลุ่มผู้ประกอบการ พร้อมศึกษาแนวทางการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในกิจการเกษตรที่สำคัญจังหวัดเชียงใหม่ เป็นจังหวัดแรก ที่มีการศึกษา วิจัยในรูปแบบนี้
จาก 10 จังหวัด ที่มีการใช้แรงงานต่างด้าวมากที่สุดในประเทศไทย (สมุทรสาคร สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ ภูเก็ต ตาก ระนอง สมุทรปราการ ชลบุรี นครปฐม และสงขลา) พบว่า การใช้แรงงานต่างด้าวในกิจการเกษตรที่สำคัญของเชียงใหม่ มีมากในกิจการ สวนส้ม หอม กระเทียม ลิ้นจี่ ทำนา และโรงสี

ปัจจุบันการจ้างแรงงานต่างด้าว ในลักษณะนี้ลดน้อยลง เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่เลิกกิจการพับพ่ายต่อตลาดการค้า การลงทุน ที่นิยม ใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี่ทันสมัยเข้ามาทดแทนแรงงาน ประกอบกับแรงงานต่างด้าวที่ทำงานมานานมีฝีมือมากขึ้นเปลี่ยนไปทำงานบริการ และก่อสร้างแทน เพราะจังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวมีการขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับอัตราค่าจ้างสูงกว่างานในภาคเกษตร

แรงจูงใจจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำก็นับเป็นอีกเหตุผลสำคัญในการหลั่งไหล ลักลอบเข้ามาค้าแรงงานของกลุ่มต่างด้าวในพื้นที่เชียงใหม่ จะเข้ามาโดยเทคนิคการบุกเบิกของกลุ่มแรงงานยุคแรกๆ ที่วางรากฐานมีสายสัมพันธ์ ลึกล้ำในพื้นที่ จากนั้นก็จะเปิดช่อง..ค้าแรงงาน ผ่านนายหน้า อย่างเป็นระบบขึ้นมาบนหลักการ ”สมคบคิด” กัน

ข้อเสนอแนะ และแนวทางในการแก้ไขปัญหานั้น ผลสำรวจความคิดเห็น พบว่า ควรมีการพิสูจน์สัญชาติในไทยให้แก่แรงงานต่างด้าวที่มีปัญหาในการพิสูจน์สัญชาติ เพื่อจะได้มีบัตรประจำตัวแสดงสถานภาพติดตัวไม่ให้ถูกจับกุมและสามารถทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ควรมีการกระจายอำนาจหรือออกกฎหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์การบริหารส่วนตำบลดำเนินการเรื่องการขอใบอนุญาตทำงาน/การรายงานตัว รวมทั้งการเก็บค่าธรรมเนียม
ทั้งนี้ในการบูณาการแผน ความร่วมมือของหน่วยงานในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นตรวจคนเข้าเมือง, จัดหางาน, ท้องถิ่น, ปกครอง, ทหาร, ตำรวจ ได้ปฏิบัติตามกรอบนโยบายของรัฐฯ ที่มอบหมายดำเนินการ เน้นมาตรการเชิงรุกตามขอบเขตอำนาจ หน้าที่ เน้นการอำนวยการ ด้านบริการอย่างมีประสิทธิภาพ มีการจัดโครงการสัญจร บริการตรวจคนเข้าเมืองนอกสถานที่ ให้บริการด้านการรับคำร้องขออยู่ต่อในราชอาณาจักร ไม่เกินกว่า 1 ปี การขอสงวนสิทธิ การรายงานตัว 90 วัน การรับแจ้งที่พักอาศัย

อดีตกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนฯ ซึ่งเคยติดตาม ปัญหาแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ชายแดนเชียงใหม่ ระบุว่าภาคธุรกิจของไทยยังไม่มีความพร้อมในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวตามนโยบายรัฐ

หลายๆ ฝ่ายแม้กระทั่ง กรอ. เสนอเพิ่มปริมาณแรงงานให้มีสัดส่วนที่สมดุลย์กับภาวะการเติบโต การลงทุนทางเศรษฐกิจบนพื้นฐานความเป็นจริง และปฏิเสธไม่ได้ว่า แรงงานต่างด้าว เข้ามาแทนที่ตำแหน่งงานที่แรงงานไทย ปฏิเสธที่จะทำ เช่น กรรมกร แบก หาม รับจ้างในภาคปศุสัตว์ ประมง เกษตร เป็นต้น

ยุทธการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวจะกลายเป็นวิกฤตหรือโอกาส ก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพของภาครัฐ เพราะหากมีการดูแลให้ทั่วถึงและเป็นระบบประเทศไทยก็จะหลุดพ้นข้อกล่าวหา….การใช้แรงงานเถื่อน
แนวทางการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองให้เข้าระบบที่ถูกต้องตามกฎหมาย มียุทธศาสตร์ชัดเจน เช่น การกำหนดมาตรฐานการจ้าง การคุ้มครอง ตรวจสอบ การปราบปรามจับกุมนายจ้างที่กระทำความผิดกฎหมาย การประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายและแนวทางของภาครัฐ เพื่อนำไปสู่การประสานความร่วมมือของทุกฝ่ายในการแก้ปัญหาร่วมกัน เชียงใหม่ เป็นเมืองที่เติบโต แบบพุ่งทยานองค์ประกอบหนึ่งในภาคการลงทุน ยังพึ่งพา แรงงานต่างด้าว เป็นจำนวนมาก

สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ระบุว่า เหตุผลที่ทำให้แรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย กลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย เนื่องจากแรงงานต่างด้าวทำผิดเงื่อนไขการจดทะเบียนทำงานในประเทศไทย โดยเฉพาะการทำงานผิดประเภทไม่ตรงตามที่แจ้งไว้ หากการจัดระบบ ระเบียบ เข้มข้น หรือ ยืดหยุ่นเกินไป ก็อาจมีผลดี ผลเสีย แตกต่างกัน

ท้ายที่สุด “ทางเลือก รูปแบบ การจัดการที่..ดำเนินไป…..เชียงใหม่ได้ประโยชน์จริง….หรือ…..ต้องแบกรับกับปัญหาที่สลับซับซ้อน เกินกำลัง..พื้นที่จะจัดการได้ อย่างเบ็ดเสร็จ!!!! เด็ดขาด!!!!

ร่วมแสดงความคิดเห็น