โรคสมองเสื่อม…ภาวะที่ควรรู้เมื่อเข้าสู่วัยชรา

โรคสมองเสื่อมเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุทุกเพศ ส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดเหมารวมว่าโรคสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์เป็นโรคเดียวกัน ความจริงแล้วโรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุของโรคสมองเสื่อมที่พบบ่อยที่สุดคือประมาณ 65% ของโรคสมองเสื่อมทั้งหมด โดยผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะมีความผิดปกติอย่างช้าๆ เป็นปีๆ ทำให้ผู้ใกล้ชิดบอก จุดเริ่มต้นของอาการไม่ชัดเจน ส่วนสาเหตุอื่นของโรคสมองเสื่อมยังมีได้จากหลายสาเหตุเช่น โรคสมองเสื่อมจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ดื่มสุราเรื้อรัง ภาวะสมองขาดออกซิเจน ภาวะเลือดคั่งในสมอง และ ภาวะขาดวิตามินบางชนิด เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงของโรคสมองเสื่อม ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง การติดสุราเรื้อรัง การสูบบุหรี่ เป็นต้น ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดสมองเสื่อมได้แก่ อายุมาก ประวัติครอบครัวเป็นโรคสมองเสื่อม ดื่มสุราเรื้อรัง ใช้ยาเสพติด มีประวัติโรคซึมเศร้า มีโรคปัญญาอ่อน อาจได้รับอันตรายทางสมองเช่น เลือดคั่งในสมอง มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ เคยสัมผัสโลหะหนักบางชนิดเรื้อรังเป็นเวลานาน เช่น สารตะกั่ว สารหนู มีโรคทางระบบประสาท อาทิ โรคพาร์กินสัน ติดเชื้อเอชไอวี เป็นต้น

อาการโรคสมองเสื่อมที่ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยจะสังเกตได้คือ มีความบกพร่องในความจำ การรับรู้ หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เช่น ลืมคำพูดระหว่างการสนทนาจึงถามซํ้าๆบ่อยๆหรือพูดวกวนในเรื่องเก่าๆ ลืมเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น กินข้าวแล้วก็บอกว่ายังไม่กิน ลืมของมีค่าบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าสตางค์ นาฬิกาข้อมือ กุญแจบ้าน เป็นต้น หลงทางในที่ที่คุ้นเคย เช่น ออกจากบ้านแล้วหาทางกลับบ้านไม่ถูก หรือลืมว่าต้องนั่งรถประจำทางสายใดทั้งๆที่เดิมเคยนั่งอยู่เป็นประจำ เป็นต้น

ในปัจจุบันต้องยอมรับว่าโรคสมองเสื่อมส่วนมากไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่บางภาวะสามารถรักษาหรือชะลอความเสื่อมได้ อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยและผู้ดูแล ให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของผู้ป่วย และลดภาระแก่ผู้ดูแลและครอบครัวอีกด้วย อุปสรรคที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้การวินิจฉัยล่าช้า คือ ตัวผู้ป่วยเองหรือครอบครัวไม่ได้ตระหนักถึงความผิดปกติดังกล่าว และมักคิดว่าเป็นอาการปกติของคนสูงวัย

ดังนั้นญาติหรือคนใกล้ชิดผู้สูงอายุจะเป็นผู้ที่มีความสำคัญอย่างมากในการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และมีความน่าเชื่อถือมากที่สุดในการวินิจฉัยโรคสมองเสื่อม ซึ่งหากผู้สูงอายุหรือผู้ใกล้ชิด สงสัยว่าผู้สูงอายุอาจเป็นโรคสมองเสื่อม ควรรีบนำมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อการตรวจสืบค้น เพิ่มเติมและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

เมื่อท่านสงสัยว่าท่านหรือญาติของท่านเป็นโรคสมองเสื่อม ควรไปปรึกษาแพทย์ด้านอายุรกรรม แพทย์จะสอบถามประวัติทางการแพทย์ ตรวจร่างกายผู้ป่วยโดยละเอียด รวมทั้งให้ท่านทำแบบทดสอบเกี่ยวกับความจำเพื่อประเมินว่ามีความผิดปกติหรือไม่

การรักษาโรคสมองเสื่อม ต้องเริ่มจากการมองหาสาเหตุที่สามารถรักษาได้ก่อนแม้จะเป็นส่วนน้อยเช่น เลือดคั่งในสมอง สาเหตุจากยาหรือสารเสพติด การติดเชื้อ หรือขาดวิตามินบางชนิด จากนั้นจึงเหลือกลุ่มโรคสมองเสื่อมเรื้อรัง โดยจุดมุ่งหมายในการรักษาดูแลผู้ป่วยคือ ชะลอการลดลงของสติปัญญา ให้ผู้ป่วย

ช่วยเหลือตนเองได้มากที่สุด โดยเพิ่มความสามารถในการดำรงชีวิตประจำวันและเพิ่มคุณภาพชีวิตทั้งต่อผู้ป่วยเองและต่อผู้ดูแล

แนวทางการรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุ และการวินิจฉัยแยกโรคที่ถูกต้อง ส่วนใหญ่จะแก้ไขให้ดีดังเดิมได้ยาก ยกเว้นภาวะเลือดออกในสมอง บางกรณี สามารถรักษาให้หายได้โดยการผ่าตัด แพทย์อาจใช้ยาบำรุงสมอง เพื่อหวังผลชะลอความรุนแรงของโรคให้เสื่อมช้าลง โดยทั่วไปการป้องกันในสิ่งที่ทำได้ย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เราไม่สามารถหยุดยั้งความเสื่อมตามธรรมชาติได้ แต่เราสามารถดูแลสุขภาพของเราให้ดี ทำจิตใจให้สดชื่นแจ่มใสอยู่เสมอ มีความรักความเข้าใจ ความอบอุ่นในครอบครัว ยอมรับสภาพตามความเป็นจริงไม่เคร่งเครียดเกินไป

ความเสื่อมของสังขารตามกาลเวลาที่ผ่านไป เป็นเรื่องของธรรมชาติ ซึ่งนำมาทั้งการเจ็บป่วยทางร่างกายและทางใจ ไม่เพียงแต่มีผลต่อผู้สูงอายุเท่านั้น แต่มีผลกระทบมาถึงครอบครัว และผู้ดูแลผู้สูงอายุด้วย การเรียนรู้ถึงอาการ ปัญหา และการดูแลที่ถูกวิธีจึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างยิ่งเพื่อการอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

ด้วยความปรารถนาดีจาก….ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โทรศัพท์ 053-935045 www.nurse.cmu.ac.th

ร่วมแสดงความคิดเห็น