สกู๊ปหน้า1…ชูระบบขนส่งมวลชน รับอนาคตเชียงใหม่

จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอีกหัวเมืองที่เติบใหญ่ ขยายตัวเร็วไป..ยิ่งถ้าไม่มีการวางแผนรองรับอนาคตเมือง ก็จะเริ่มเห็นปัญหาทีละจุด…โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ปัญหารถติด, ขยะ, น้ำเน่าเสีย, คดีความที่เพิ่มสูง เป็นต้น

ในทุกประเด็นปัญหา ก็ได้มีความพยายามแก้ไข แม้กระทั่งการผลักดันแผนเพื่อจัดการระบบขนส่งมวลชน..ซึ่งหลายๆภาคส่วนพยายาม..วาดฝันมานานหลายสิบปี

แต่ก็ยังไม่ได้ข้อยุติในการดำเนินงานตามแผนแม่บท ที่จะบริหารจัดการปัญหาที่สั่งสมมานานได้นอกจากหยิบยกแผนเฉพาะกิจมาแก้ไขปัญหาจากสภาพเมืองและจำนวนผู้คน ที่ต้องเดินทางในรูปแบบต่างๆ ความนิยมในการใช้รถส่วนตัว ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ยังคงมีสูง

และภาพรถติดในช่วงชั่วโมงเร่งรีบทั้งเช้า เที่ยง เย็น รถราติดกันวินาศสันตะโร!!!

และจะหนักหนาสาหัสกันมาก ในช่วงเทศกาลต่างๆ โดยเฉพาะเขตนครเชียงใหม่ซึ่งเป็นศูนย์กลางของเมืองท่องเที่ยว เป็นปมปัญหาที่หลายๆภาคส่วน กระโจนลงไปแก้ไข สุดท้ายก็ยังคงสาละวนเช่นเดิม

มิหนำซ้ำ อาจจะหนักกว่าเดิมด้วยซ้ำ ถ้าเป็นงานเทศกาลดังๆ เป็นที่นิยมของนักท่องเทื่ยว เช่น เทศกาล สงกรานต์ ปี๋ใหม่เมือง

ทั้งนี้พื้นที่ 40 ตารางกิโลเมตร ของเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ จะมีลักษณะเป็นเมืองเก่า ไม่เอื้ออำนวยต่อการวางผังเมือง รองรับโครงการจัดการขนส่งมวลชนขนาดใหญ่

จึงมีโจทย์ที่ชัดเจนในทุกแผนงานศึกษา วิจัย ระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่ว่า จะทำอย่างไร ให้เกิดมิติการเชื่อมโยงขนถ่ายผู้คนจากภายนอกเมือง เข้าสู่ภายในเขตนครเชียงใหม่ อย่างมีประสิทธิภาพ และต้องลดจำนวนรถที่มี ทั้งรถส่วนบุคคลขนาดใหญ่ รถยนต์สาธารณะ ให้หันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนที่เชื่อมโยงทุกเส้นทาง

เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่ทำรายได้ให้ประเทศปีละกว่า 7-8 หมื่นล้านบาทจากการท่องเที่ยวของคนไทยและชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่มากกว่า 3-5 ล้านคนต่อปี

จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งพัฒนาระบบขนส่งเพื่อรองรับอนาคตเมือง เพื่อเตรียมแก้วิกฤติ!!! ปัญหาการจราจร…

ที่ผ่านๆ มา เคยมีการนำเสนอ โครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว ในมูลค่าการลงทุนเกือบหมื่นล้านบาท ซึ่งไม่ว่าชาติไหนๆ คงเกิดขึ้นได้ยาก

ประเด็นสำคัญที่จะช่วยจุดประกาย ผลักดัน ระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่ ให้เป็นจริงได้นั้น ทุกๆฝ่ายต้องร่วมผลักดัน แนวทางการจัดการระบบขนส่งที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพกับจังหวัดเชียงใหม่ให้เป็นรูปเป็นร่าง ไม่ใช่ทุ่มงบฯศึกษา วิจัย ซ้ำแล้วซ้ำเล่า…

ซึ่งๆ หลายเล่มศึกษา ถ้ารวมงบฯดำเนินการ ก็น่าจะเกือบพันล้าน….เข้าไปแล้ว ระบบขนส่งมวลชน…เชียงใหม่…ทุกระยะตามแผนแม่บทฯ…ต้องจริงจัง มี ความต่อเนื่อง เล็งเห็นประโยชน์ของเมืองเป็นสำคัญ

ถ้าไม่เริ่มวางระบบฯ…..อย่างจริงจังในวันนี้ ในอนาคตก็น่าเป็นห่วง

ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาแม้จะมีโครงการศึกษา เพื่อแก้ปัญหารถติดและการใช้รถส่วนตัว โดยความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ แต่บทเรียนที่เริ่มจากการศึกษาสู่การลงมือปฏิบัติ ก็ยังไม่ตอบโจทย์

มิหนำซ้ำกลับกลายเป็นเรื่อง “เข้ารกเข้าพง”ไปกันใหญ่ ถึงขั้นวางอนาคต ระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่ ต้องมี ทั้งรถใต้ดิน บนดิน เชื่อมโยงทะลุทลวงไปรับกับมอเตอร์เวย์ในเส้นทางหลักๆ ของภูมิภาคต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า แนวคิด…เหล่านั้น เป็นเรื่องดี ในอนาคต ความลงตัว ด้วยเงื่อนไขต่างๆ อาจจะมีบางโปรเจคต์เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้ ทั้งนี้ประเภทรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเมืองที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน มี 5 ประเภท

1.รถไฟฟ้าขนส่งขนาดใหญ่ ได้แก่ รถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟฟ้าขนาดใหญ่ระหว่างเมืองและภาค

2.รถไฟฟ้าขนส่งขนาดกลาง ใช้สำหรับขนส่งและสัญจรระหว่างเมือง ภายในเมือง และระหว่างย่าน ความเร็วระดับกลางใช้ระบบรางแยกออกจากการสัญจรอื่นๆ เช่น ต้องสร้างรางยกระดับและรางในอุโมงค์ใต้ดิน

3.รถไฟฟ้ารางเบา ขนาดเล็กวิ่งบริการระหว่างย่านในเขตเมือง สามารถวางรางวิ่งร่วมกับยวดยานอื่นๆ บนถนนได้ หรือจัดวางรางเฉพาะ

4.รถไฟฟ้ารางเบาขนาดเล็ก รู้จักกันในนามของ Streetcar หรือ Trolley มีตู้พ่วงจำนวน 3 ตู้ (หรือมากกว่า) ความเร็วต่ำ สามารถวางรางวิ่งร่วมกับรถยนต์บนผิวถนน

5.รถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล) เช่นที่เคยใช้งานในสวนสัตว์เชียงใหม่ เป็นรถไฟฟ้าที่ออกแบบรางให้ยกระดับ โดยทั่วไปใช้สำหรับการเชื่อมต่อระหว่างสถานีบริการขนาดใหญ่ หรือในพื้นที่ซึ่งมีข้อจำกัดด้านกายภาพ

นอกจากระบบการขนส่งมวลชนทางรางแล้ว ยังมีระบบการขนส่งมวลชนอีกประเภทหนึ่งที่มีความยืดหยุ่นในการก่อสร้างและลงทุนมากกว่าได้แก่ รถบัสขนส่งมวลชน หรือ บีอาร์ที. เป็นระบบขนส่งมวลชนที่อาจจะจัดช่องทางวิ่งไว้เป็นการเฉพาะหรือวิ่งร่วมกับยวดยานประเภทอื่นๆ บนถนน เป็นที่นิยมในหลายประเทศ ถ้านับเป็นเมืองก็จะมากมายเลยครับ รถราง มีลักษณะคล้ายรถไฟแต่จะสั้นและน้ำหนักเบากว่า ส่วนมากใช้ไฟฟ้าจากสายไฟด้านบน แต่ก็ยังมีบางส่วนใช้ดีเซลอยู่

ปัจจุบันนักผังเมืองจากทุกสำนัก ยกให้สตรีทคาร์ เป็นระบบการขนส่งมวลชนที่ดีที่สุดของโลกในขณะนี้ ไม่ใช่..มินิบัส….แน่นอน

หลายเมืองใหญ่..ที่เป็นเมืองท่องเที่ยวเกือบทั่วโลกยังคงใช้รูปแบบที่ว่า..นี้ เพราะเป็นระบบการขนส่งมวลชนในเมืองที่มีความคุ้มค่ามากที่สุด

ด้วยความคุ้มค่าในหลายประเด็นเช่น อายุการใช้งานมากกว่า 30 ปี รัฐฯไม่มีภาระงบฯการเวนคืนที่ดินสำหรับการวางราง ช่วยส่งเสริมความงดงามของภูมิทัศน์เมืองและกายภาพเมือง รวมทั้งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการใช้ระบบขนส่งสีเขียว เช่น การเดิน และการใช้จักรยานมากขึ้น

ถ้าสนใจ…ชาวเชียงใหม่ต้องช่วยกันผลักดัน

ไม่เริ่มต้น…วางอนาคต…บ้านเมือง..น่าอยู่..อาจกู่ไม่กลับ..ตามที่คาด?!!!!

เจ็ดขุนพล

ร่วมแสดงความคิดเห็น