“แล้งเอาอยู่” ชลประทานย้ำ ปีนี้จ่ายน้ำมากกว่าปีที่ผ่านมา 1 เท่าตัว คาดประปาลำพูนมีน้ำพอ

 

วันที่ 7 ก.พ.60 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุม 4 ชั้น 4 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ แถลงข่าวสื่อมวลชนถึงสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึงว่า ก่อนอื่นต้องพูดถึงสถานการณ์น้ำในภาพรวมของจังหวัดเชียงใหม่ก่อน ซึ่งภาพโดยรวมเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาพบว่าภาพรวมดีกว่าประมาณ 2.8 เท่าของปริมาณน้ำที่มีอยู่เมื่อปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกันนี้ แต่ทั้งนี้ทุกภาคส่วนรวมถึงพี่น้องประชาชน เกษตรกร ยังต้องช่วยกันใช้น้ำอย่างระมัดระวังและยังต้องประประหยัดการใช้น้ำให้ได้มากที่สุด


“นอกจากปริมาณน้ำที่มีเพิ่มมากกว่าปีที่แล้ว ยังพบว่าการเพาะปลูกในส่วนต่างๆ ก็มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน ปีที่ผ่านมานั้นมีการปลูกพืชโดยรวมราว 1 แสนไร่เศษ สำหรับปีนี้มีการวางแผนที่จะเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งที่จะถึงนี้ประมาณ 2.8 แสนไร่ ซึ่งทำการเพาะปลูกไปแล้วราว 70 เปอร์เซ็นต์ ก็คงต้องใช้น้ำในปริมาณที่มากขึ้นเพิ่มตามมาด้วยนั่นเอง” ผอ.โครงการชลประทานเชียงใหม่ แจง


นายเจนศักดิ์ฯ กล่าวต่อว่า สำหรับปริมาณน้ำในภาพรวมของจังหวัดเชียงใหม่ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มีมากกว่าปีที่ผ่านมา 2.8 เท่า ภาพรวมปริมาณน้ำในอ่างขนาดเล็กและขนาดกลางมีมากกว่าปีที่แล้วราว 3 เท่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้น้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ มีปริมาณมากกว่าปีที่ผ่านมาเนื่องจากในช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมามีฝนตกในช่วงนี้ จึงมีปริมาณน้ำไหลเข้าสู่อ่างเก็บน้ำเพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กจะมีปริมาณการไหลของน้ำที่ไหลเข้าอ่างเร็วกว่าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่การไหลของน้ำจะไหลช้ากว่า แต่ปีนี้โดยภาพรวมแล้วปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 2 แห่งมีปริมาณมากกว่าปีที่ผ่านมา อย่างเช่นที่เขื่อนแม่กวงอุดมธาราในปีที่ผ่านมามีปริมาณน้ำราว 30 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งน้อยมาก แต่ปีนี้เฉพาะเดือนมกราคม 2560 เดือนเดียวมีน้ำไหลเข้าเขื่อนแม่กวงฯ ราว 20 ล้าน ลบ.ม. ปีที่ผ่านมาเขื่อนแม่กวงมีน้ำตั้งต้นเพียง 30 ล้าน ลบ.ม. แต่ปีนี้เขื่อนแม่กวงฯ ส่งน้ำให้เกษตรกรใช้แล้วตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เช่นกันกับการเพาะปลูกโดยปีที่ผ่านมาพื้นที่
“โดยสถานการณ์น้ำที่มีอยู่ในวันนี้พื้นที่ที่ยังน่าเป็นห่วงคือ พื้นที่โซนใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะอย่าง อ.ฮอด ซึ่งวันนี้มีปริมาณน้ำเฉลี่ยอยู่ที่ 26 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และที่ อ.แม่วาง ก็น่าเป็นห่วงเช่นกัน ส่วนที่ อ.ดอยสะเก็ด ซึ่งเป็น 1 ใน 3 อำเภอที่มีการประกาศไปก่อนหน้านี้ว่าเป็นพื้นที่ที่น่าเป็นห่วง ในพื้นที่ที่รับน้ำจากเขื่อนแม่กวงฯ จะไม่มีปัญหา ส่วนพื้นที่ที่นอกเหนือจากพื้นที่รับน้ำเขื่อนแม่กวงจะมีปัญหา เพราะมีอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กเพียง 2 แห่ง และทั้ง 2 แห่งที่ว่านี้มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งบริเวณนี้จึงได้มีประกาศให้มีการงดปลูกพืชฤดูแล้ง ขณะนี้ยังมีประกาศให้งดปลูกพืชฤดูแล้งเพียง 3 อำเภอคือ อ.ดอยสะเก็ด แม่วาง และ อ.ฮอด ซึ่งได้มีหนังสือแจ้งเตือนทั้ง 3 อำเภอไปแล้ว” ผอ.เจนศักดิ์ฯ กล่าว
ผอ.โครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า สำหรับการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำปิงตอนบนจะมีการแบ่งการบริหารจัดการออกเป็น 2 ส่วน เหมือนเดิม กับการบริหารจัดการพิเศษอีก 1 ส่วนสำหรับไว้รับมือสภาวะวิกฤติในการเตรียมน้ำไว้สำหรับการทำนาปีในปีการเพาะปลูกหน้า ซึ่งในช่วงแล้งปีที่ผ่านมาไม่มีการเตรียมการแบบนี้ไว้ เนื่องจากน้ำไม่มีให้จัดเตรียมได้
“ปีที่ผ่านมามีการส่งน้ำให้ระบบแม่น้ำปิงในปริมาณ 30 ล้าน ลบ.ม. ส่วนปีนี้จะส่งในปริมาณ 62 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะมากกว่าราว 1 เท่า โดยในปีที่แล้วส่งให้แม่น้ำปิงราว 1.7 ล้าน ลบ.ม.ต่อรอบการส่ง แต่ปีนี้จะส่งให้ในปริมาณที่ต่ำสุดราว 2.4 ล้าน ลบ.ม.ต่อรอบการส่ง ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้ภาคการเกษตรได้พอสมควร โดยปริมาณน้ำจัดสรรขนาดนี้เชื่อว่าจะส่งในไปได้ไกลสุดถึงพื้นที่ อ.จอมทอง ส่วนท้ายต่อจากพื้นที่ อ.จอมทอง จะใช้การบริหารจัดการน้ำโดยประตูระบายน้ำวังปาน กับประตูระบาลน้ำแม่สอยมาช่วยในการบริหารจัดการ เพราะจากการตรวจสอบพบว่า งานก่อสร้างโครงการอาคารและส่วนต่างๆ ดำเนินการได้มากกว่าร้อยละ 80 แล้ว โดยเฉพาะที่ ปตร.แม่สอย สามารถเก็บกักน้ำได้แล้วราว 6 ล้าน ลบ.ม. จะสามารถส่งให้พื้นที่สูบน้ำด้วยไฟฟ้าสูบส่งต่อได้เลย ในปริมาณน้ำ 6 ล้าน ลบ.ม.ที่มีอยู่เหนือ ปตร.แม่สอย จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ใช้สำหรับพื้นที่หน้า ปตร.ราว 3 ล้าน ลบ.ม.กว่า ส่วนด้านท้ายน้ำจะใช้น้ำราว 2 ล้านกว่า ซึ่งคาดว่าจะเพียงพอกับการใช้ในช่วงฤดูแล้งนี้” ผอ.โครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าว
นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผอ.โครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวต่อว่า ส่วนน้ำสำหรับการผลิตน้ำประปาในพื้นที่ จ.ลำพูน ซึ่งเป็นปัญหาอย่างมากในฤดูแล้งปีที่ผ่านมา ซึ่งปัญหาของการประปาลำพูนก็คือ ไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำต้นทุนสำหรับการผลิตน้ำประปาเป็นของตนเอง การบริหารจัดการเพื่อจะไม่ให้กระทบการผลิตน้ำประปาของ จ.ลำพูน ซึ่งจะต้องใช้แนวทางการจัดการเหมือนปีที่ผ่านมาคือ ต้องนำน้ำไปถึงฝายพญาอุดให้ได้ก่อน วิธีการบริหารจัดการก็จะใช้แนวทางเดิมเหมือนปีที่ผ่านมาคือการส่งน้ำแบบขั้นบันใด กล่าวคือ เมื่อส่งน้ำจากเขื่อนแม่งัด ราว 3 ช่วงโมงปริมาณน้ำจะถึง ปตร.ท่าวังตาล จากนั้นปล่อยให้น้ำยกระดับขึ้นแล้วจึงปล่อยลงไปเติมให้เต็มฝายทุกตัวจนถึงฝายพญาอุด จึงจะเริ่มใช้น้ำพร้อมกัน ทั้งนี้กุญแจประตูระบายน้ำที่มีอยู่ตลอดทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำปิง ชลประทานจะเป็นผู้ถือเก็บไว้ โดยชลประทานเป็นผู้เปิดและปิดให้แก่ผู้ใช้น้ำตลอดทั้ง 2 ฝั่ง เพื่อความเสมอภาคในการใช้น้ำร่วมกัน เชื่อว่าการบริหารจัดการน้ำไปจนถึงการผลิตน้ำประปาที่ จ.ลำพูน น้ำจะดีกว่าปีที่ผ่านมา เพราะมีการส่งน้ำในปริมาณที่มากขึ้น จากเดิมส่งน้ำในปริมาณ 1 ล้านกว่า ปีนี้ส่งในปริมาณ 2 ล้านกว่า ในรอบส่งน้ำ 26 รอบเวรเช่นเดิม และในช่วงที่แล้งจัดในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมกำหนดส่งในปริมาณ 3.5 ล้าน ลบ.ม.

ร่วมแสดงความคิดเห็น