ข่วงเวียงแก้ว พบของดีอื้อ ดินเผา-ถ้วยจีน นักโบราณคดีลุยขุด กำแพงเมืองโผล่อีก

พบของดี……..นักโบราณคดี พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสำรวจขุดค้นโบราณสถานข่วงหลวงเวียงแก้ว อ.เมืองเชียงใหม่ เผยพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมาย ทั้งซากกำแพงเมือง เศษเครื่องปั้นดินเผา รวมถึงภาชนะดินเผาจากเตาล้านนา และเครื่องถ้วยจีนที่บ่งชี้ความเป็นไปได้สูงว่าจุดที่ตั้งสำรวจเคยเป็นข่วงเวียงแก้ว

เชียงใหม่ นักโบราณคดี พร้อมหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าสำรวจติดตามความคืบหน้าขุดค้นโบราณคดีข่วงหลวงเวียงแก้ว เผยพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมาย ทั้งซากกำแพงเมือง เศษเครื่องปั้นดินเผา รวมถึงภาชนะดินเผาจากเตาล้านนา และเครื่องถ้วยจีนที่บ่งชี้ความเป็นไปได้สูงว่าจุดที่ตั้งสำรวจเคยเป็นข่วงเวียงแก้ว พร้อมเตรียมส่งตัวอย่างที่ได้จากการขุดค้น ส่งตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์เพื่อชี้ชัดอีกครั้ง

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 7 ก.พ.60 นายสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ พร้อมด้วย นายไพศาล สุรธรรมวิทย์ เลขานุการนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ และนายพงษ์ศักดิ์ แก้วแสนเมือง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกันเข้าสำรวจติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่เก่า ซึ่งอยู่ที่บริเวณใจกลางเมืองเชียงใหม่ ตามโครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้ว โดยการขุดสำรวจในครั้งนี้อยู่ในช่วงเฟสที่ 2 ซึ่งได้มีการขุดลอกดิที่ได้ทับแถมแนวกำแพงเมืองเก่า และเศษเครื่องสังคโลกต่างๆ ออกเพื่อเผยให้เห็นถึงโครงสร้างของโบราณสถานที่อยู่ใต้ดิน ซึ่งถือได้ว่ามีความคืบหน้าค่อนข้างมากแล้ว

โดยทั้งนี้ นายสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ กล่าวว่า ในการดำเนินงานทางโบราณคดีของพื้นที่ของข่วงหลวงเวียงแก้วนั้นเป็นการดำเนินงานในเฟสที่สอง โดยในเฟสแรกที่ทำไปก่อนหน้านี้นั้นเป็นการดำเนินการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ และขุดค้นทางโบราณคดี ซึ่งได้ใช้ผลสำรวจจากธรณีฟิสิกส์กับการขุดค้นทางโบราณคดีเป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนดำเนินงานในส่วนของเฟสที่สอง ที่จะเป็นเรื่องของการขุดแต่งโบราณคดี โดยการขุดลอกเอาดินที่ทับถมตัวโบราณสถานในพื้นที่ออกเพื่อเผยให้เห็นถึงโบราณสถานที่อยู่ใต้ดิน โดยสิ่งที่ต้องการจะค้นหาคือร่องรอยของความเป็นเวียงแก้วหรือวังหลวงของพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งผลจากการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ให้ผลบ่งชี้ว่ามีแนวโน้มที่จะเจอโครงสร้างแข็งภายใต้ดิน คือแนวกำแพงอยู่ ณ ปัจจุบันนี้และส่วนด้านนอก รวมถึงส่วนต่างๆ ที่ในการสำรวจนั้นมีผลออกมาว่าเจออยู่ทั้งสิ้น 7 จุด และผลของการขุดค้นทางโบราณคดีก็ทำให้เห็นว่า ช่วงระดับตั้งแต่ผิวดินลงไปถึงประมาณ 50 เซนติเมตร จะเป็นช่วงระดับชั้นใช้งานของประมาณยัครัตนโกสินตอนกลางมาถึงยุคสมัยปัจจุบัน และในช่วง 60 เซนติเมตร ลงไปถึง 1 เมตร โดยเฉพาะช่วงที่ประมาณ 80 เซนติเมตร ไปจนถึง 1 เมตร ของผิวดินพบว่าจะเป็นชั้นใช้งานในยุคล้านนา

ดังนั้นในการดำเนินงานในขั้นต่อไปจึงได้ใช้ข้อมูลทั้ง 2 ส่วน ประกอบกันเพื่อวางแผนในการขุดครั้งนี้ ซึ่งการขุดนั้นได้วางแผนขั้นแรกเรียกว่า ร่องขุดตรวจ ผ่าพื้นที่บริเวณด้านนอก และขุดตรวจรอบๆ ตัวอาคารของคุกเดิมที่ยังไม่ได้รื้อถอนทั้ง 6 หลัง โดยข้อมูลสำคัญที่เจอในปัจจุบันคือ เราสามรถแบ่งประเภทของโบราณสถานที่พบในพื้นที่ออกเป็น 2 สมัย ประกอบด้วย สมัยแรกเป็นโบราณสถานที่อยู่ในระดับความลึก 80 เซนติเมตร ไปจนถึง 1 เมตร จากผิวดินปัจจุบัน โบราณสถานสำคัญที่พบคือแนวกำแพง ที่มีลักษณะความกว้างประมาณ 1.8 -2 เมตร ก่อหนาประมาณ 5-8 ชั้นอิฐ และจากการที่ได้เปรียบเทียบกับข้อมูลแผนผังโบราณที่ได้ทำซับซ้อนกับพื้นที่ปัจจุบันมีความสอดคล้องกันและบ่งชี้ว่า แนวกำแพงที่ขุดเจอนั้นน่าจะเป็นแนวกำแพงเวียงแก้ว

ทั้งนี้ในส่วนของสิ่งที่เป็นประเด็นทางวิชาการที่ต้องการจะค้นหาต่อคือ แนวกำแพงดังกล่าวน่าจะเป็นกำแพงที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยไหน ซึ่งจากข้อมูลที่ได้จากแผนที่โบราณนั้นได้แสดงให้เห็นว่ากำแพงเวียงแก้วปรากฎในแผนที่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2436 ซึ่งเป็นช่วงรัตนโกสินตอนกลาง หรือในสมัยของ รัชกาลที่ 5 และจากประวัติศาสตร์ของพื้นที่จากเอกสารตำนานเมืองเชียงใหม่ก้มีการกล่าวถึงการเปรียบเทียบพื้นที่ตั้งวังของพญามังรายในเชิงการเปรียบเทียบว่า พระองค์ทรงตั้งวังไว้ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ของพื้นที่ที่เป็นวัดเชียงมั่นในปัจจุบัน ซึ่งทำให้เป็นข้อสันนิษฐานว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่า คำว่าเวียงแก้วที่พบเห็นในแผนที่โบราณนนั้นจะเป็นวังมาตั้งแต่ยุคสมัยของล้านนา หรือของพญามังราย ซึ่งในส่วนนี้จะต้องรอการวอเคราะห์เพิ่มเติมจากการส่งผลทางวิทยาศาสตร์ด้วย

นายสายกลาง กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า อย่างไรก็ตามในการดำเนินการจุดนี้ก็พอจะเห็นแนวโน้มบางประการ จากการที่พบเจอโบราณวัตถุร่วมกับแนวอิฐเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น เศษเครื่องปั้นดินเผา รวมถึงภาชนะดินเผาจากเตาล้านนา และเครื่องถ้วยจีน ที่สามารถกำหนดอายุได้ประมาณ ตั้งแต่ช่วง ค.ศ.1900-2200 หรือประมาณ พ.ศ.ที่ 20-22 ซึ่งทำให้พอจะเห็นแนวโน้มว่าน่าจะมีความเป็นไปได้พอสมควรที่กำแพงเวียงแก้วจุดนี้กับการใช้งานเวียงแก้ว จะมีความเป็นไปได้ว่าเป็นวังหลวงมาตั้งแต่ยุคสมัยล้านนา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็จะต้องรอผลจากตรวจสอบค่ายุ ทางวิทยาศาสตร์อีกครั้งเพื่อให้เป็นการยืนยันอีกครั้ง

และขณะเดียวกันจากพื้นที่ดังกล่าวยังเห็นได้ว่า นอกจากการใช้งานในความเป็นเวียงแก้วแล้วนั้น ยังพบว่าในพื้นที่ยังมีแนวอิฐอีกกลุ่มที่เป็นช่วงสมัยยุคหลังจากแนวที่เป็นกำแพงที่พบเจอซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างที่มาในยุคกลางสมัยรัตนโกสิน เนื่องจากว่า ตัวแนวอิฐของทั้งสองชนิด ทั้งกำแพงกับโบราณสถานในยุคกลางรัตนโกสินมีการวางตัวในคนละแนวแกนทิศกัน โดยของทางกำแพงเวียงแก้วจะวางเบนไปจากทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ประมาณ 10 องศา เฉียงไปทางด้านเหนือ ส่วนแนวอาคารที่เป็นสมัยช่วงรัตนโกสินตอนกลาง จะวางตัวตามแนวแกนทิศของตะวันออกและตะวันตก

ขณะที่ทาง ด้านนายพงษ์ศักดิ์ แก้วแสนเมือง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สำหรับโครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้ว แต่เดิมมีกำหนเการในการดำเนินโครงการรวม 480 วัน หรือ 1 ปีครึ่ง แต่ในปัจจุบันพบว่าได้มีความล่าช้ากว่ากำหนด เนื่องจากยังคงมีอาคารบางส่วน ซึ่งเป็นอาคารเก่าแก่ และมีคุณค่า ที่ยังไม่ได้มีการรื้อถอน เพราะเราต้องการที่จะเอาไม้ที่เป็นส่วนหนึ่งของอาคารเหล่านี้ กลับเข้ามาใช้ในการก่อสร้างข่วงหลวงเวียงแก้ว จึงต้องมีการจัดหาผู้รับเหมาที่มีความเชี่ยวชาญค่อนข้างสูง ทั้งนี้จากการประกาศประกวดราคาซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือน กันยายนที่ผ่านมา โดยได้มีการประกาศไปแล้วจำวน 2 รอบ แต่ก็ยังไม่มีผู้เสนอราคา ซึ่งหลังจากนี้จะได้มีการทบทวนการกำหนดราคากลางอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ยังได้มีการทบทวนรายละเอียดและข้อกำหนดต่างๆ ก่อนจะได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างอีกครั้ง ซึ่งถ้าหากได้ผู้รับจ้างแล้ว ก็จะได้มีการรื้อถอนอาคารที่เหลือ เพื่อให้ทางนักโบราณคดี ได้สำรวจและการบูรณะแนวกำแพงเวียงแก้วและโบราณสถานให้แล้วเสร็จ ก่อนที่จะได้มีการปรับแผนในการพัฒนาต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น