งดเผาตอซังข้าว ลดหมอกควันไฟ

นายศักดิ์ชัย ถนัดวณิชย์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดลำปาง กล่าวว่าช่วงแล้งของทุกปีตั้งแต่มกราคม-เมษายน ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน มักจะพบปัญหาเกษตรกร นิยมเผาตอซังฟางข้าว เศษวัสดุเหลือใช้ในไร่นา ด้วยความเคยชินเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกในฤดูกาลใหม่ ซึ่งการเผาตอซังฟางข้าว ทำให้เกิดหมอกควันไฟ ฝุ่นละออง ฟุ้งกระจาย

เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมลภาวะและภาวะโลกร้อน มีผลเสียต่อสุขภาพร่างกายมนุษย์และสัตว์เลี้ยง โดยความร้อนจากการเผาทำให้สภาพกายภาพของดินเปลี่ยนไป สภาพดิน เสื่อมโทรม จึงแนะนำเกษตรกรควรเลิกเผาตอซังฟางข้าวในพื้นที่นา แล้วหันมาใช้วิธีไถกลบลงดินแทน เพราะจะเป็นวิธีทำให้เกิดประโยชน์ต่อการปรับปรุงบำรุงดิน คืนความอุดมสมบูรณ์ในโครงสร้างดิน ช่วยลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมี หรือสารเคมีทางการเกษตรได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ในการไถกลบตอซังฟางข้าว หรือเศษพืชไร่ที่เหลือในไร่นาลงในดิน หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแทนการเผา แนะนำว่าควรทำช่วงเตรียมพื้นที่เพาะปลูก ช่วงที่ดินยังมีความชื้น แล้วปล่อยทิ้งไว้ระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้ย่อยสลายเป็นอินทรียวัตถุและธาตุอาหารพืช แล้วจึงปลูกพืชหลักตาม ซึ่งประโยชน์จากการไถกลบตอซัง จะช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดินให้โปร่ง ร่วนซุย เพิ่มการซึมผ่านของน้ำ ทำให้ดินมีความเหมาะสมต่อการปลูกพืช

หากผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีทางชีวภาพ ของกรมพัฒนาที่ดิน ได้แก่ สารเร่ง พด.2 ไปทำการหมักผสมกับเศษปลาสด ไส้ปลา หอยเชอรี่ ผัก ผลไม้ หรือเศษอาหาร ผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพ มาช่วยในการหมักย่อยสลายตอซังฟางข้าว โดยน้ำหมักชีวภาพมีประโยชน์เพราะเป็นฮอร์โมนพืช ช่วยเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ดิน ซึ่งจะทำหน้าที่ย่อยสลายตอซังฟางข้าวได้ดี และไถกลบสะดวกขึ้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น