11 กุมภาพันธ์ นี้ สดร. ชวนตื่นเช้า ชมจันทรุปราคาเงามัว แต่สังเกตเห็นยาก

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ องค์การมหาชน (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยเช้าของวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2560 เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว เวลาประมาณ 05:34-09:53 น. ตามเวลาในประเทศไทย เงามัวบังมากที่สุดเวลา ประมาณ 07:43 น. ในไทยปรากฏเพียงช่วงสั้น ๆ ก่อนดวงจันทร์ตกลับขอบฟ้า ตั้งแต่เวลาประมาณ 05:34-06:40 น. ดวงจันทร์เต็มดวงปรากฏไม่เว้าแหว่ง มีความสว่างลดลงเพียงเล็กน้อย จึงสังเกตด้วยตาเปล่าได้ไม่ชัดเจนนัก

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รอง ผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า “ช่วงเช้าวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2560 จะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว ช่วงเวลาประมาณ 05:34-09:53 น. ตามเวลาในประเทศไทย เงามัวจะบังมากที่สุดในเวลาประมาณ 07:43 น. แม้จันทรุปราคาเงามัวครั้งนี้ จะกินเวลานานถึง 4 ชั่วโมง 19 นาที แต่ในประ เทศไทย ดวงจันทร์จะตกลับขอบฟ้าในเวลา ประมาณ 06:42 น. เราจึงมีเวลาสังเกตการณ์จันทรุปราคาเงามัว ในช่วงเวลาสั้นๆ ประมาณ 05:34-06:40 น. เท่านั้น

หากสังเกตด้วยตาเปล่าจะมองเห็นได้ไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากดวงจันทร์โคจรเข้าไปในเงามัวของโลกบางส่วน ไม่ได้ผ่านเข้าไปในบริเวณเงามืด ดวงจันทร์จึงไม่เว้าแหว่ง ยังคงมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวง แต่มีความสว่างในส่วนที่อยู่ในเงามัวลดลงเท่านั้น นอกจากนี้ยังเป็นช่วงดวงจันทร์ใกล้ตกลับขอบฟ้า ดวงจันทร์จะปรากฏใกล้ขอบฟ้ามาก ทำให้เป็นอุปสรรคสำคัญอีกประการหนึ่ง ของการสังเกตการณ์จันทรุปราคาเงามัวในครั้งนี้ หากใช้กล้องโทรทรรศน์หรือการถ่ายภาพเปรียบเทียบความสว่างขณะเกิดปรากฏการณ์ จะเห็นการเปลี่ยนแปลงความสว่างของดวงจันทร์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

สำหรับในปี 2560 ปรากฏการณ์จันทรุปราคา ที่สามารถสังเกตเห็นประเทศไทย จะเกิดขึ้นอีกครั้ง คือ “จันทรุปราคาบางส่วน” ในช่วงหลังเที่ยงคืนของ วันที่ 7 สิงหาคม ถึงเช้ามืดของวันที่ 8 สิงหาคม 2560 ดวงจันทร์จะเริ่มเข้าสู่เงามัวของโลกตั้งแต่ เวลา 00:22 น. และสิ้นสุด เวลา 02:18 น. ดวงจันทร์เข้าไปอยู่ในเงามืดของโลกมากที่สุดในเวลา 01:20 น. จะสังเกตเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งเพียงเล็กน้อย ส่วนจันทรุปราคาเต็มดวงจะกลับมาให้คนไทยชมอีกครั้งใน ปี 2561 ซึ่งเป็นจันทรุปราคาเต็มดวง 2 ครั้ง ในปีเดียวกัน ได้แก่วันที่ 31 มกราคม และ 28 กรกฎาคม 2561 ดร.ศรัณย์กล่าวปิดท้าย

ร่วมแสดงความคิดเห็น