หัวเราะบำบัด….แบบฝึกหัดเพื่อห่างไกลโรค

การหัวเราะบำบัดถือเป็นการออกกำลังกายแบบหนึ่ง ที่เน้นให้ระบบต่างๆ ภายในร่างกายทำงานขับเคลื่อนไปได้ตามปกติ ซึ่งต้องฝึกการหายใจให้ถูกต้องไปพร้อมกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย ก็จะช่วยให้ระบบต่างๆ ขับเคลื่อนได้ดีขึ้น การที่มนุษย์เราหัวเราะนั้น งานวิจัยหลายชิ้นมากมาย ชี้ให้เห็นว่า การหัวเราะทำให้ฮอร์โมนความเครียด เช่น คอร์ซิตอล
อะดรีนาลีน ลดลง และ ช่วยเพิ่มสาร “เอ็นดอร์ฟิน” หรือสารความสุขให้เรารู้สึกผ่อนคลาย เพราะการหัวเราะดีกับระบบการทำงานของร่างกายต่างๆ ปกติ

การหัวเราะตามธรรมชาติของคนเราอาจช่วยได้เพียงทำให้อารมณ์เบิกบาน จิตใจผ่อนคลาย ซึ่งต่างจากการหัวเราะบำบัด ที่มีการฝึกท่าหัวเราะหลายๆ ท่าต่อเนื่อง 2-3 ชั่วโมง เพราะแต่ละท่ามีประโยชน์ต่างกัน ที่สำคัญต้อง
ฝึกการหายใจเข้าออกให้ถูกต้องด้วยโดย “หายใจเข้าท้องพอง หายใจออกท้องยุบ” ซึ่งเป็นปัจจัยแรกที่ทำให้การหัวเราะบำบัดได้ผล และใช้การออกเสียง “โอ อา อู เอ” มาประยุกต์กับท่าทางการเคลื่อนไหวร่างกายไปพร้อมๆ กัน

ออกเสียงโอ : ท่าท้องหัวเราะ ยืนตัวตรง กางขาเล็กน้อย กางแขนออกไปด้านข้างลำตัว งอแขนเล็กน้อย กำมือทั้ง 2 ข้างโดยชูนิ้วหัวแม่มือขึ้น ตามองตรง สูดลมหายใจเข้าปอดลึกๆ และกักลมไว้ ค่อยๆ เปล่งเสียง “โอ โอะๆ ๆ…” แล้วปล่อยลมหายใจออกมาช้าๆ พร้อมกับขยับแขนขึ้นลง ท่านี้ช่วยให้กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ตับ ไต ได้เคลื่อนไหว ระบบทางเดินอาหารจึงทำงานดีขึ้น ช่วยบำบัดโรคลำไส้อักเสบ กระเพาะอาหาร ท้องผูก ท้องเสีย รวมถึงคนที่มีปัญหาเบื่ออาหาร หรืออ้วนและมีพุง

ออกเสียงอา : ท่าอกหัวเราะ ยืนตรง กางขาเล็กน้อย กางแขนออกไปข้างลำตัวเหมือนนกกระพือปีก หงายมือขึ้น ปล่อยมือตามสบาย ตามองตรง สูดลมหายใจเข้าลึกๆ กักลมไว้ ค่อยๆ เปล่งเสียง “อา อะ ๆ ๆ…” ดังๆ พร้อมกับปล่อยลมหายใจออกช้าๆ และกระพือแขนขึ้นลง ท่านี้ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก หัวใจ ปอด และไหล่ขยับเขยื้อน ช่วยบำบัดโรคความดัน โรคหัวใจ โรคปอด อาการเจ็บแน่นหน้าอก เส้นเลือดหัวใจตีบ โรคหัวใจขาดเลือด การเต้นของหัวใจทำงานปกติ การสูบฉีดและการไหลเวียนโลหิตดีขึ้น

ออกเสียงอู : ท่าคอหัวเราะ ยืนตรง กางขาเล็กน้อย แขนแนบลำตัวและยกตั้งฉากชี้ไปข้างหน้า งอนิ้วนางกับนิ้วก้อยเข้าหาตัว ยกนิ้วหัวแม่มือขึ้น ส่วนนิ้วชี้กับนิ้วกลางชี้ไปข้างหน้าลักษณะชิดกันเหมือนท่ายิงปืน ตามองตรง สูดลมหายใจ
เข้าลึกๆ แล้วกักลมไว้ ค่อยๆ เปล่งเสียง “อู อุ ๆ ๆ…” และปล่อยลมหายใจออกช้าๆ พร้อมกับแทงมือไปข้างหน้า ท่านี้จะกระตุ้นให้บริเวณลำคอสั่น บรรเทาอาการเจ็บคอ คออักเสบ ปวดคอ คนที่มีปัญหาจากการใช้เสียงเยอะ เช่น ครู นักร้อง ฯลฯ เพราะช่วยให้คอโล่งและรักษาโทนเสียงได้ดี

ออกเสียงเอ : ท่าใบหน้าหัวเราะ ยืนตามสบายแล้วค่อยๆ ยกมือขึ้นมาตามถนัด สูดลมหายใจลึกๆ และขยับทุกนิ้วทั้งหัวแม่มือ ชี้ กลาง นาง และก้อย ตามองตรง ระหว่างนั้นให้เปล่งเสียง “เอ เอะ ๆ ๆ…” ออกมาด้วย ท่านี้ช่วยคลายความเครียด ลดอาการปวดศีรษะ ปวดสมอง เพราะเมื่อเปล่งเสียงเอ ใบหน้าจะมีลักษณะเหมือนกำลังฉีกยิ้มโดยอัตโนมัติ

นอกจากท่าออกเสียง โอ อา อู เอ ยังมี ท่าหัวเราะบำบัด ที่น่าสนใจอีก ได้แก่- ท่าจมูกหัวเราะ เริ่มจากการย่นจมูกขึ้นและทำเสียง “ฮึ ๆ ๆ …” ในจมูกเหมือนม้า ท่านี้จะไล่สิ่งสกปรกในจมูกออกมาได้อย่างดี จึงสามารถช่วยบำบัดอาการเกี่ยวกับภูมิแพ้ โรคไซนัส และ อาการเป็นหวัด – ท่าตาหัวเราะ วิธีการทำคือ ให้กะพริบตาถี่ๆ กรอกตาขึ้นลงเป็นวงกลม แล้วเปล่งเสียง “อ่อยๆ ๆ …” เล่นหูเล่นตา มองซ้ายทีขวาที ท่านี้จะช่วยให้มีนํ้าหล่อเลี้ยงที่ตา ทำให้ดวงตาชุ่มชื้นและผ่อนคลาย- ท่าไหล่หัวเราะ ยืนตรง ส่ายไหล่ไปมาเหมือนกำลังว่ายนํ้าท่าฟรีสไตล์ พร้อมเปล่งเสียง “เอ เอะ ๆ ๆ …” จะช่วยบริหารช่วงไหล่ ลดปัญหาเกี่ยวกับไหล่ เป็นต้น

สุดท้ายในระหว่างที่ฝึกทำท่า หัวเราะบำบัด นั้น ผู้ฝึกควรปลดปล่อยตัวเองทั้งทางกายและใจ ไม่เกร็งหรือวิตกกังวลใดๆ เพื่อให้ร่างกายได้รับผลที่ดีได้มากที่สุดนั่นเอง

ด้วยความปรารถนาดีจากฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ www.nurse.cmu.ac.th โทรศัพท์ 053-935045

ร่วมแสดงความคิดเห็น