กระจายหน่วยเลือกตั้ง นายกสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้

ศ.เกียรติคุณ ดร.เทพ พงษ์พานิช นายกสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ 2 สมัย

มากกว่า 80 ปี ที่สถาบันอันทรงเกียรติยิ่งในภูมิภาคอาเซียน และได้รับการยอมรับในความเป็นหนึ่งด้านศาสตร์ ศิลป์ วิทยาการ โดยเฉพาะด้านการเกษตร

ทำให้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้….ผลิตบัณฑิต ก้าวออกไปทำหน้าที่รับใช้บ้านเมือง ประเทศชาติ มากมาย

แต่ในการเลือกตั้ง “นายกสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้” ซึ่งเป็นอีกฟันเฟืองสำคัญ ที่ช่วยหนุนนำ สร้างสรรค์ สถาบัน ให้ก้าวหน้า มีบรรดาศิษย์เก่า ที่เป็นสมาชิกสมาคมฯ เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง “นายกสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้” ..ไม่ถึงหมื่นคน ผลคะแนนผู้ได้รับฉันทานุมัติ ..อยู่ที่หลักพัน..

“ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ ดร.เทพ พงษ์พานิช”..อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้” ในห้วงเวลาก้าวเข้ามาทำหน้าที่ “นายกสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้” ถึง 2 สมัย มีโอกาสเดินทาง ไปพบปะบรรดาศิษย์ เก่าแม่โจ้ ในถิ่นฐานต่างๆ ที่พยายามเกาะกลุ่ม สร้างสัมพันธภาพศิษย์เก่าแม่โจ้ ในรูปแบบ กลุ่ม-ชมรม…ในแต่ละจังหวัด แต่ละภูมิภาค เสียงสะท้อนที่แสดงถึงพลังความรัก ภักดีที่มีต่อสถาบัน ในการขอมีส่วนร่วมแสดงออกในเสียง -สิทธิ์ ที่มีของแต่ละคน

เป็นคู่ชิงชัย…….แค่ในเกมการเลือกตั้ง..แต่พลังรักและน้ำใจลูกแม่โจ้..เป็นหนึ่งเดียว..เสมอ

กลายเป็นจุดเริ่ม ที่คณะกรรมการบริหารสมาคมศิษย์เก่า นำข้อเสนอแนะจากบรรดาศิษย์เก่า ที่มีมากมาย กระจายอยู่ทุกมุมเมือง ทั้งในประเทศและต่างประเทศเฉพาะแค่สมาชิกสมาคมศิษย์เก่าฯ…ก็มีมากกว่า 4 หมื่นคนแล้ว

เมื่อมีการเลือกตั้ง นายกสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ มาใช้สิทธิ์เพียงหลักพัน เพราะส่วนใหญ่จะเป็นสมาชิกที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และใกล้เคียง รวมถึงบางส่วนที่สะดวก มีความพร้อมมาร่วมกิจกรรมที่สมาคมศิษย์ เก่าแม่โจ้ เชียงใหม่ ในวันแม่โจ้คืนถิ่น

ก่อนจะครบวาระการบริหารงานของ “ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ ดร.เทพ” ในวันที่ 6 มิถุนายน 2560 นั้น

คณะกรรมการฯได้ ทำรับฟังความคิดเห็นสมาชิกและศิษย์เก่า ทั่วประเทศ ศึกษาข้อดี ข้อเสีย ความเป็นไปได้ และงบประมาณ ในการจัดการเลือกตั้ง ในภูมิภาค รวมถึงข้อกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ ในการกระจายหน่วยเลือกตั้งไปยังภูมิภาคจนนำไปสู่การประชุมแก้ไข ระเบียบปฏิบัติการเลือกตั้งนายกสมาคมศิษย์เก่า และยึดโยงผลสรุปจากการสำรวจความคิดเห็นศิษย์เก่าทั่วประเทศว่า เห็นด้วยกับวิธีการเลือกตั้งแบบนี้หรือไม่ และหน่วยเลือกตั้งในภูมิภาคนั้นจังหวัดใดเหมาะสมจนได้ข้อยุติ ของการกำหนดหน่วย เลือกตั้ง

สำหรับหลักเกณฑ์การพิจารณา กำหนดหน่วยเลือกตั้งมีองค์ประกอบ 3 ส่วนสำคัญๆ คือ ความพร้อมของจังหวัดที่จะจัดการเลือกตั้ง, การเดินทางมาลงคะแนนของสมาชิกสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ ต้องไม่ไกลเกินไป และเป็นไปตามข้อแนะนำจากแบบสอบถาม..ศิษย์เก่าแม่โจ้

บรรยากาศการนับคะแนนเลือกตั้งนายกสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้เมื่อปี 58

ทั้งนี้การออกระเบียบ ว่าด้วยการเลือกตั้งนายกสมาคมฯ มีความละเอียบดรอบคอบมากขึ้น เนื่องจากทัศนคติแต่ละบุคคล ล้วนมีความแตกต่างกัน ดั่งคำกล่าวที่ว่า “สองคนยลตามช่อง สองมุมมองแตกต่างกัน”

ระเบียบที่ว่านี้ เป็นเพียงกลไกการคัดเลือก สรรหา บุคคลที่มีความเสียสละ พร้อมก้าวเข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวแทนศิษย์เก่าแม่โจ้ทุกคน ร่วมกับคณะทำงานมิใช่การเปิดช่องให้เกิดการเอื้อประโยชน์ต่อ กลุ่ม-บุคคล..คณะใด เพื่อก้าวสู่ตำแหน่งอันทรงเกียรติ หรือใช้แสวงผลประโยชน์ ตลอดจนการทุจริต

เพราะจากความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมของศิษย์เก่า ทุกๆภาคส่วน ล้วนมีความเชื่อมั่นใน..สปิริตแม่โจ้ และศรัทธาหลัก…การสร้างระบบที่ดี ย่อมจะนำพามหาวิทยาลัย และสมาคมฯ ก้าว ….พัฒนาไปในทิศทางที่ดีอย่างมั่นคง..

แม่โจ้จะเจริญ เติบใหญ่ได้

เพราะ…. มีครูดี… นักศึกษาดี ….และศิษย์เก่าดี…

ศิริ อันทรินทร์….เรียบเรียง

ขอบคุณ : สำนักงาน ปชส.ม.แม่โจ้, ชัยมนตรี โยธาบริบาล และสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้

ร่วมแสดงความคิดเห็น