สกู๊ปหน้า1…ภาคเหนือเปิดแผน สกัดหมอกควันไฟ

แม้สภาพอากาศระยะนี้บางวันจะหนาวเย็นในช่วงเช้า แต่พอช่วงสายๆ แดดร้อนแผดเผา เป็นหนึ่งสัญญาณบอกเล่าจังหวะเวลา เปลี่ยนฤดูกาลและคาดการณ์กันว่าปีระกา….น่าจะร้อนแรง..กว่าที่คาดหรือประเมินรับสถานการณ์

จะเห็นได้จากหย่อมควันไฟ…จากการเผาไหม้ ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ เกิดขึ้นรายวัน จนส่งผลให้… ในพื้นที่เสี่ยง…ภาคเหนือตอนบน 8-9 จังหวัด ไม่ว่าจะเป็น จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน พะเยา น่าน แพร่และตาก ที่แต่ละปีมักจะเผชิญวิกฤติปัญหาหมอกควัน ไฟป่า

เปิดแผน..สกัดหมอกควันไฟป่า….ตามฤดูกาล ที่ส่งผล กระทบต่อสุขภาพชีวิต ความเป็นอยู่ และการท่องเที่ยว รวมถึงด้านอื่นๆอีกมากมาย ทั้งนี้สภาพเมืองในภาคเหนือ บางส่วนเป็นเมืองในหุบเขา เหมือนอยู่ในแอ่งกะทะ ทำให้เกิดการลอยตัวของอากาศที่จะไปเจือจางฝุ่นละอองทำได้ยากแม้จะใช้วิธีการทำฝนหลวง สร้างความชุ่มชื้นเพื่อลดปริมาณค่าฝุ่นละออง ก็ไม่สามารถจัดการได้ตามเป้าหมายมากนัก

ต้องยอมรับว่า “การเผา”..ที่เป็นต้นตอของปัญหาหมอกควันไฟ….นั้น ไม่ใช่เกิดขึ้นภายในประเทศ แต่ยังมีการเผาจากพื้นที่ชายแดน ในประเทศเพื่อนบ้าน เช่นที่เคยสร้างผลกระทบที่เชียงราย แม่ฮ่องสอน เป็นต้น ค่าปริมาณฝุ่นละออกในอากาศขนาดเล็กหรือค่า PM 10 สูงเกินมาตรฐาน อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาวะการดำรงชีวิตของประชาชน ในพื้นที่เกิดหมอกควัน ไฟป่า

ปัญหาการเผาพื้นที่เพื่อเตรียมการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวในเขตเชียงใหม่โซนใต้และบางส่วนติดต่อกับแม่ฮ่องสอน เป็นปัญหาเรื้อรังมาทุกปี

ปีนี้การประกาศมาตรการเชิงรุก จากนโยบายหน่วยเหนือ..ที่จัดวางขุนพล..มือทำงานระดับแม่ทัพภาค..มาคุมโซนอย่างใกล้ชิดน่าจะคลี่คลาย…ปัญหาได้ในระดับที่…(ต้อง)น่าพอใจ

มาตรการป้องกันซึ่งประกอบแนวทาง ป้องกันการเผาหรือไม่มีการเผา โดยการประกาศจังหวัดในความร่วมมือ งดกิจกรรมการเผา ส่วนใหญ่จังหวัดในกลุ่มเสี่ยงเกิดปัญหาซ้ำซาก ใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบนนั้น จะมีการบูรณาการแผนร่วมมือระหว่างหน่วยงาน อาจจะเป็นโมเดล กรอบการทำงานที่พิสูจน์ได้ว่าที่ผ่านๆมานั้น มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด

ตลอดจนข้อสั่งการเพิ่มเติมสำหรับพื้นที่ที่ห้ามไม่ให้มีการเผา ได้แก่ 1.พื้นที่ในเมือง ซึ่งทางจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ 2.พื้นที่เกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ 3.พื้นที่ป่า กรมอุทยานฯและกรมป่าไม้เป็นผู้รับผิดชอบ

มาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน โดยการงดเผาช่วงอันตราย ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 2560 ดูเหมือนจะเข้มข้นกว่าเดิม เน้นแนวทาง “ชุมชน-หมู่บ้านปลอดการเผา”

ทุกมาตรการที่มอบหมายและปฏิบัติการ หากพบว่ามีการลักลอบเผา จะด้วยความประมาท คึกคะนอง จุดไฟเผาป่า เพื่อเก็บหาของป่า หรือเผาขยะในชุมชน-หมู่บ้านต้องร่วมรับผิดชอบ จึงส่งผลให้..ผู้นำชุมชนประกาศเสียงตามสายในมาตรการเข้มข้น แทบจะ 3 เวลาก่อน-หลังอาหาร

อย่างไรก็ตาม เมื่อปัญหาเกิดขึ้นในชุมชน การใช้กฎกติกาชุมชน จัดระเบียบกันเอง..น่าจะมีความยั่งยืนในการแก้ไขมากกว่าสั่งการให้ท้องที่-ท้องถิ่นใช้มาตรการทางกฎหมาย ที่ให้อำนาจจับ-ปรับ จัดการเด็ดขาด

แม้จะไม่มีกฎหมาย จัดการ ควบคุม ลงโทษเรื่องนี้อย่างชัดเจน หากแต่ พรบ.ป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 54 กำหนดไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ใดสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำด้วย ประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือ หรือเข้าครอบครองป่าเพื่อตนเอง หรือผู้อื่น ฯลฯ

โดยกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน คือ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีผู้ใดเผาป่าเป็นเนื้อที่เกิน 25 ไร่ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2-15 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท

ส่วน พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14 กำหนดไว้ว่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือ หรือครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ เก็บของป่า หรือทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ฯลฯ โดยกำหนดโทษไว้สำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม คือ มีโทษ จำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท

ในกรณีบุคคลใดเผาป่าเป็นเนื้อที่เกิน 25 ไร่ หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ไม้สัก ไม้ยาง ไม้สนเขา หรือไม้หวงห้ามประเภท ข. ตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ หรือไม้อื่น เป็นต้น หรือเป็นท่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างรวมกันเกิน 20 ต้น หรือท่อน หรือปริมาตรไม้เกิน 4 ลูกบาศก์เมตร หรือต้นน้ำ ลำธาร มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2-15 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-150,000 บาท

การสร้างจิตสำนึก ในความร่วมมือกับทุกมาตรการ น่าจะกระตุ้นเตือน ปลุกพลังร่วมมือกันสู่เป้าหมาย หมู่บ้านปลอดการเผา

เพราะเท่าที่ติดตามรายงาน แต่ละพื้นที่เสี่ยง ปัญหาจะไม่ต่างกันมากนักคือการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่เกษตร ซึ่งชาวบ้านคุ้นชิน จนกลายเป็นปมปัญหาที่ต้องใช้เวลาแก้ไข ให้มีส่วนร่วม มีจิตสำนึก ดูแล ปกป้อง รักษา สิ่งแวดล้อมร่วมกัน ในช่วงมีนาคมนี้ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากสถิติที่ผ่านมา พบว่าเป็นเดือนที่เกิด Hot Spot มากที่สุดจนถึงกลางเดือนเมษายน

จังหวัดเชียงใหม่ เคยได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันไฟป่า รุนแรงในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา สร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวมูลค่ามหาศาล จากบทเรียนดังกล่าว ระดับนโยบายจึงให้ความสำคัญ และเน้นย้ำให้ทุก อปท.ในจังหวัดเชียงใหม่ ….ใส่ใจและให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน

สำนึกดี ร่วมด้วยช่วยกันป้องกันปัญหาหมอกควันไฟป่า ลด ละ เลิก กิจกรรมการเผา เพื่อสภาพแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน

เจ็ดขุนพล

ร่วมแสดงความคิดเห็น