สกู๊ปหน้า 1…กฟผ. แจงการทำเหมืองหินปูนที่แม่เมาะ

กฟผ. แจงการทำเหมืองหินปูนที่แม่เมาะเป็นโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมโดยนำเอาหินปูนมาใช้กับระบบกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ของโรงไฟฟ้าที่กำลังเดินเครื่องอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2538 มิใช่เป็นการทำเพื่อโรงไฟฟ้าทดแทนที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างตามที่มีการกล่าวอ้างแต่อย่างใด

ตามที่ปรากฏในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน เรื่อง “ชาวแม่เมาะร้อง กฟผ. ระเบิดภูเขา” และ “ชาวบ้านค้านระเบิดภูเขาขยายโรงไฟฟ้าแม่เมาะ” ออกอากาศช่อง Spring News และเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย Youtube เผยแพร่เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 โดยมีเนื้อหาการรายงานข่าวระบุถึงการทำเหมืองหินปูนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ว่าได้สร้างความเดือดร้อนและส่งผลกระทบกับคุณภาพชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ 3 ตำบล คือ ต.สบป้าด , ต.นาสัก และ ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง

ทั้งนี้ นายโอภาส จริยภูมิ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและบริหารเหมืองแม่เมาะ (อบม.) ได้ชี้แจงประเด็นดังกล่าวโดยระบุว่า การระเบิดหินมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตหินปูนสำหรับใช้ในการกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ที่เดินเครื่องอยู่ในปัจจุบันจำนวน 10 เครื่อง คือ เครื่องที่ 4-13 ตามโครงการทำเหมืองแร่หินปูนเพื่ออุตสาหกรรมเคมี ซึ่งเป็นโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมและเพื่อประโยชน์โดยตรงของประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง

โดยพื้นที่โครงการเหมืองหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมเคมี กฟผ. ได้ขอประทานบัตรจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) มาตั้งแต่ปี 2538 ปัจจุบันมีพื้นที่จำนวน 2 แปลง ซึ่งห่างจากพื้นที่ที่มีบ้านเรือนประชาชนอาศัยอยู่ในระยะใกล้ที่สุดมากกว่า 2.5 กิโลเมตร โดยการขอประทานบัตรแต่ละครั้ง กฟผ. ได้มีการรับฟังความคิดเห็นของชุมชน ผ่านการทำประชาคมหมู่บ้าน และรับความเห็นชอบจากชาวบ้านในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญได้ศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ครอบคลุมทุกประเด็นผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่คาดว่าจะเกิดขึ้น พร้อมกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งยังได้เสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะกรรมการผู้ชำนาญการได้พิจารณาให้ความเห็นชอบรายงาน EIA แล้ว

ส่วนเรื่องที่มีการกล่าวอ้างว่า มีการระเบิดหินส่งผลกระทบกับชาวบ้านจนทำให้นอนไม่ได้นั้น นายโอภาส กล่าวว่า กฟผ. ระเบิดหินเพียงวันละ 1 ครั้ง และดำเนินการในช่วงเวลากลางวันเท่านั้น และกำหนดให้ใช้ปริมาณวัตถุระเบิดไม่เกิน 50 กิโลกรัม/จังหวะถ่วง ซึ่งน้อยกว่ามาตรการที่กำหนดให้ใช้ได้ 100 กิโลกรัมต่อจังหวะถ่วง ตามมาตรการแนบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมเคมี คำขอประทานบัตรที่ 9/2551 ด้านแรงสั่นสะเทือน

โดยผลการตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนก็ พบว่า มีค่าดีกว่าเกณฑ์มาตรฐาน DIN 4150-3 สำหรับความสั่นสะเทือนของโครงสร้างอาคารที่มีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ที่กำหนดมาตรฐานสำหรับความสั่นทะเทือนที่เกิดขึ้นในระยะสั้น ต้องมีค่าไม่เกิน 8 มิลลิเมตรต่อวินาที โดยทาง กฟผ. สามารถวัดแรงสั่นสะเทือนได้ต่ำกว่า 1 มิลลิเมตรต่อวินาที ทั้งนี้ เกณฑ์มาตรฐาน DIN 4150-3 เป็นมาตรฐานของประเทศเยอรมันนี ที่ได้รับการยอมรับและนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก

ทั้งนี้ กฟผ. ยืนยันว่า ได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการเหมืองแร่หินปูนฯ อย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด ที่ผ่านมา มีหน่วยงานผู้มีอำนาจในการกำกับดูแล กฟผ. เข้ามาตรวจสอบเป็นระยะ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับชุมชน ทั้งสำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 3 (สรข.3) และกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งผลการตรวจสอบตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมทั้งด้านฝุ่น เสียง และแรงสั่นสะเทือน อยู่ในเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด

นอกจากนี้ ชุมชนยังมีส่วนร่วมในการตรวจสอบตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้วย โดยองค์การบริหารส่วนตำบลนาสัก อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ซึ่งเป็นผู้ได้รับการถ่ายโอนภารกิจจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ก็ได้เข้าตรวจสอบผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นประจำทุก 3 เดือน ผลการตรวจสอบ พบว่า มีการปฏิบัติตามมาตรการฯ ครบถ้วนตามเงื่อนไขแนบท้ายรายงาน EIA ขณะเดียวกัน กฟผ. เอง ยังได้รายงานผลการตรวจวัดด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องความสั่นสะเทือนจากแรงระเบิด เหมืองหินปูน การตรวจวัดเสียงก่อนและขณะระเบิด และการตรวจวัดเสียงทั่วไปเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ให้กับตัวแทนชุมชนจาก 15 หมู่บ้าน ได้รับทราบผลการทำงาน พร้อมนำไปเผยแพร่ให้แต่ละชุมชนได้ รับทราบ สัปดาห์ละ 1 ครั้งด้วย

นายโอภาส กล่าวทิ้งท้ายว่า จากผลการดำเนินการมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมาทำให้ กฟผ. ได้รับรางวัลมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากโครงการ โรงโม่ เหมืองหิน ติดดาว จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเวลา 3 ปี และล่าสุด ยังได้รับรางวัลสถานประกอบการเหมืองแร่สีเขียว ประจำปี 2559 (Green Mining Award 2016) จัดโดย กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ซึ่ง กฟผ. คว้ารางวัลต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ด้วย ซึ่งรางวัลดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความจริงใจ ความใส่ใจ และเป็นเครื่องยืนยันถึงความมุ่งมั่นของ กฟผ. ในการดูแลสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี

ร่วมแสดงความคิดเห็น