หนุนผู้ทำฟาร์มขนาดเล็กผลิต ก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์

สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ส่งเสริมผู้ทำฟาร์มขนาดเล็ก ผลิตก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เพื่อลดปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเป็นการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน สนับสนุนส่งเสริมให้ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษาวิจัยและนำเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพระบบCD-Junior (Channel Digester-Junior) และระบบบ่อหมักโดมคงที่ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการหมักย่อยสลายสารอินทรีย์ที่มีอยู่ในน้ำเสีย โดยอาศัยกลุ่มของจุลินทรีย์ชนิดที่ไม่ใช้อากาศ ทำหน้าที่หมักและย่อยสลายสารอินทรีย์ให้เปลี่ยนรูปไปเป็นก๊าซชีวภาพมาใช้กับฟาร์มขนาดเล็ก เพื่อบำบัดน้ำเสียภายในฟาร์ม ซึ่งการทำบ่อก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เพื่อผลิตเป็นพลังงานและลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมนั้น ส่วนใหญ่จะทำกันในฟาร์มขนาดใหญ่หรือขนาดกลางเท่านั้น

เนื่องจากมีการลงทุนค่อนข้างสูง ทำให้ฟาร์มที่เลี้ยงสุกรขนาดเล็กซึ่งมีปัญหาด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เหมือนกับฟาร์มขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ไม่สามารถทำการก่อสร้างและติดตั้งระบบก๊าซชีวภาพได้ ดังนั้น การนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาปรับใช้ในฟาร์มขนาดเล็กที่มีจำนวนสัตว์เลี้ยงไม่สูงมาก เช่น ถ้าเป็นสุกรก็ไม่เกิน 500 ตัว ไก่ไข่ ไม่เกิน 10,000 ตัว หรือ วัวนมและวัวเนื้อไม่เกิน 100 ตัว ซึ่งของเสียจากฟาร์มเหล่านี้ มีศักยภาพที่จะผลิตก๊าซชีวภาพได้ในปริมาณสูงสุดถึงวันละ 51 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอที่จะนำไปใช้กับเครื่องหมุนพัดลมโรงเรือน หรือนำไปใช้กับเครื่องสูบน้ำ ทดแทนการใช้น้ำมันหรือกระแสไฟฟ้า และสามารถนำไปใช้ทดแทนก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ในครัวเรือนได้ด้วย ซึ่งสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับฟาร์มเป็นอย่างมากที่สำคัญยังลดปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมได้แก่ ปัญหาน้ำเสีย กลิ่นเน่าเหม็นและแมลงวัน และยังมีรายได้จากการขายปุ๋ยชีวภาพที่เป็นผลผลิตจากการนำกากตะกอนส่วนที่เหลือจากการหมักก๊าซชีวภาพและน้ำที่ผ่านการหมักมาทำเป็นปุ๋ยอีกด้วย ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ติดต่อได้ที่ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โทร. 0-5394-2007 ต่อ 310,311 ในวันและเวลาราชการ

ร่วมแสดงความคิดเห็น