นานาสาระน่ารู้…หมอนรองกระดูกเคลื่อน

โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อน เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนหนุ่มสาว และวัยกลางคนที่ทำงานหนัก พบได้น้อยในคนอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ทำให้มีอาการปวดหลังและปวดขาเรื้อรัง ซึ่งสร้างความรำคาญ ความทุกข์ทรมาน และความวิตกกังวลให้ผู้ป่วยและญาติ แต่ส่วนใหญ่จะไม่มีอันตรายร้ายแรง สามารถให้การดูแลรักษาให้อาการทุเลาและกลับมีคุณภาพชีวิตเป็นปกติได้ ส่วนน้อยที่เป็นรุนแรง ถึงขั้นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

หมอนรองกระดูกสันหลังเป็นกระดูกอ่อนชนิดหนึ่งลักษณะจะเป็นเมือกใสคล้ายเจลลี่มีความยืดหยุ่นสูงคั่นกลางระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละชิ้น หมอนรองกระดูกสันหลังทำหน้าที่สองอย่างคือ ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังและยังมีหน้าที่รับน้ำหนักที่ผ่านกระดูกสันหลังลงมา ซึ่งถ้าหมอนรองกระดูกมีการกระทบกระเทือน จนฉีกขาดจนทำให้ส่วนชั้นในที่เป็นเมือกใสๆ มีการเคลื่อนออกมากดทับเส้นประสาทก็จะทำให้เกิดอาการปวดหลังขึ้น

หมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทเกิดขึ้นได้จากการเสื่อมของหมอนรองกระดูก ซึ่งปัจจัยในเรื่องของอายุมีผลมาก เมื่ออายุมากขึ้นหมอนรองกระดูกที่เป็นเมือกใสจะสูญเสียความยืดหยุ่นไป จึงทำให้มีโอกาสที่จะเลื่อนไปโดนเส้นประสาท และสิ่งที่เร่งให้หมอนรองกระดูกเสื่อมได้เร็วก็คือ ลักษณะไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต บางคนทำงานยกของหนักในท่าที่ไม่ถูกต้อง ทำให้หมอนรองกระดูกต้องรับน้ำหนักมาก หรือบางคนเล่นกีฬาที่ต้องส่งแรงกระแทกซ้ำๆไปที่หมอนรองกระดูก การเคลื่อนไหวผิดท่าทางโดยฉับพลัน บางคนรับประทานมากจนอ้วนก็ส่งผลต่อหมอนรองกระดูกเช่นกัน สิ่งเหล่านี้เป็นตัวเร่งทำให้เกิดหมอนรองกระดูกเสื่อม หรือเกิดการฉีกขาดจนไปกดทับเส้นประสาทได้
อาการของโรคหมอนรองกระดูก มีอาการปวดหลัง ร้าวลงขา โดยจะร้าวตั้งแต่สะโพกลงไป ขึ้นอยู่กับจุดกำหนดของหมอนรองกระดูกที่ปลิ้นออกมา จากอุบัติการณ์สามารถร้าวได้ตั้งแต่สะโพกไปจนถึงเท้าในบางรายอาจมีอาการชา อาการอ่อนแรง ร่วมด้วย ซึ่งอาการลักษณะที่บ่งชี้ชัดเจนนี้ ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้ส่า อาการ เกิดจากข้อกระดูกบริเวณใด

แนวทางในการรักษา ในกรณีที่คนไข้อายุน้อย เช่น เด็ก หรือ วัยรุ่น ซึ่งมีการปลิ้นของหมอนรองกระดูกไม่มาก ในทางการแพทย์สามารถใช้วิธีรักษาด้วย 1.ให้ยาลดอาการปวด ซึ่งช่วยลดอาการอักเสบของตัวเส้นประสาท 2.การทำกายภาพเพื่อให้หมอนรองกระดูกหดกลับเข้าไปได้

แต่ในกรณีที่หมอนรองกระดูกทับเส้น เกิดในบุคลที่อายุมากๆ จะมีความเสื่อมเกิดขึ้นค่อนข้างมาก การทำกายภาพเพื่อดึงให้หมอนรองกระดูกปลิ้นกลับออกไป หรือให้ยาลดปวด อาจจะไม่ส่งผล โอกาสในการรักษาให้ดีขึ้น เป็นไปได้ค่อนข้างน้อย ดังนั้นเมื่อคนไข้มีอาการดังกล่าวมาแพทย์จะต้องทำการซักประวัติว่า ปวดมากขนาดใด รับประทานยาแล้วอาการดีขึ้นหรือไม่ ถ้าดีขึ้นก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด แต่ถ้ารับประทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น จนรู้สึกรำคาญกับอาการปวด หรือปวดมาก ก็จำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อไปคีบหมอนรองกระดูกออก

การป้องกัน

1.หมั่นออกกำลังกาย(เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน และบริหารกล้ามเนื้อหลังและหน้าท้องให้แข็งแรง)

2.ระวังรักษาอิริยาบถ(ท่านอน ท่านั่ง ท่ายืน ท่ายกของ)ให้ถูกต้อง

3.หลีกเลี่ยงการยกของหนัก เข็นของหนัก การนอนที่นอนที่นุ่มเกินไป

4.ควบคุมน้ำหนักอย่าให้เกิน

5.ไม่สูบบุหรี่ อาจทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อมเร็ว

แม้สถานการณ์โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทจะไม่ร้ายแรงในประเทศไทย แต่ถึงอย่างไรสิ่งที่ดีกว่าคือ การป้องกันแต่เนิ่นๆ เพียง แค่ใช้หลังอย่างถูกวิธี โดยหลีกเลี่ยงการยกของหนัก หากต้องนั่งนานๆ ควรหาโอกาสเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ และควรหมั่นบริหารกล้ามเนื้อหลังและหน้าท้องให้แข็งแรง หากเรารู้ว่ากระดูกเราไม่ค่อยจะแข็งแรงก็ควรหลีกเลี่ยงกีฬาที่ต้องกระโดดบ่อยๆ หรือมีการกระแทก ควรหันมาว่ายน้ำ อาจจะออกกำลังกายเบาๆ ที่เน้นการเพิ่มความยืดหยุ่นแทน ทั้งหมดนี้จะช่วยยืดอายุการใช้งานของหมอนรองกระดูกไม่ให้เสื่อมสภาพก่อนวัยอันควร

…..รพ.แมคคอร์มิค / ข้อมูล….

ร่วมแสดงความคิดเห็น