ปั้นแบรนด์ไม้สักไทย หวังเจาะตลาดโลก

ปั้นแบรนด์ไม้สักเมืองพระลอเจาะตลาดโลก สวทช. ร่วมกับ จังหวัดแพร่ เปิดโครงการเพิ่มประสิทธิภาพและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมไม้สัก เพื่อพัฒนาความรู้ สร้างความเข้มแข็ง

นายฐานวัฒน์ วิทยปรีชาศิลป์ ที่ปรึกษาแผนงานไม้สัก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า ITAP สวทช. ร่วมกับจังหวัดแพร่ ส่งเสริมการเรียนรู้การผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้สักสำหรับชุมชน โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต รวมถึงจัดหาผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาอบรมการผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้สักคุณภาพสูง ให้คำแนะนำด้านการตลาด การสร้างตราสินค้า เพื่อสร้างงานและรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกร รวมถึงเพิ่มมูลค่าไม้สักได้อย่างยั่งยืน

โดย ITAP สวทช. มีโครงการที่เข้าไปช่วยเหลืออุตสาหกรรมไม้สักร่วมกับ จ.แพร่ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ในหลายโครงการ ได้แก่ 1. การแก้ไขปัญหาการระบาดของหนอนผีเสื้อเจาะต้นสัก จนไม่สามารถนำไปแปรรูปได้ 2. การพัฒนาด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ไม้สัก จากเดิมที่เน้นการผลิตแบบเดิมๆแล้วแข่งขันกันลดราคา มาเป็นการผลิตที่ใช้นวัตกรรมเพิ่มมูลค่า พัฒนาจากท้องถิ่นไปสู่ระดับโลก3. การพัฒนาหลักสูตรผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไม้สัก ให้ความรู้ตั้งแต่การเพาะปลูก การออกแบบ และ การนำเทคโนโลยีมาแปรรูป ตลอดจนการหาตลาดและการสร้างตราสินค้า 4. การเพิ่มศักยภาพการผลิตของผู้ประกอบการแปรรูปไม้สัก ด้วยการสร้างศูนย์เรียนรู้ และสร้างโรงงานต้นแบบสำหรับผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้สักคุณภาพสูง

ด้านนายอุบลศักดิ์ ขีดสร้อย ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชมแพร่ กล่าวว่า วิทยาลัยชุมชนแพร่ได้สร้างองค์ความรู้ในการทำผลิตภัณฑ์ไม้สัก ทั้งเรื่องการออกแบบ ฝีมือการจัดการ โดยนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้ในการผลิต เพื่อให้มีการใช้ไม้สักอย่างคุ้มค่า ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ สวยงาม ราคาสูง เพื่อพัฒนาการทำไม้สักอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่

ขณะที่ นายชูชีพ แว่นฉิม ประธานวิสาหกิจชุมชนผู้ค้าเฟอร์นิเจอร์หัวดง ต.ดอนมูล อ.สูงเม่น จ.แพร่ กล่าวเสริมว่า จ.แพร่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หัตถกรรมไม้สัก เนื่องจากชาวท้องถิ่นดั้งเดิมเป็นผู้มีฝีมือในเชิงช่างที่คงเอกลักษณ์ศิลปะของชาวล้านนา และทักษะด้านการทำไม้มาเป็นเวลาอันยาวนาน สืบทอดจากบรรพบุรุษรุ่นต่อรุ่น สามารถนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ของใช้ในครอบครัว และเป็นสินค้าที่จำหน่ายได้ในราคาดี เป็นการช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของท้องถิ่น เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ร่วมแสดงความคิดเห็น