แม่แจ่มสั่งติวเข้ม เปิดศูนย์ฯ แก้ปัญหาหมอกควัน

นายอำเภอแม่แจ่ม เปิดศูนย์ภูมิสารสนเทศ เพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เน้นป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน

เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2560 ที่ ศูนย์ภูมิสารสนเทศ เพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการมีส่วนร่วม อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ตั้งขึ้นภายในห้องประชุม อ.แม่แจ่ม นายอรรถชา กัมปนาทแสนยากร นายอำเภอแม่แจ่ม เป็นประธานเปิดศูนย์ดังกล่าว ร่วมกับนายสมเกียรติ มีธรรม ผอ.ศูนย์ภูมิสารสนเทศฯ และนางภัทรลดา สุวรรณนวล กำนันตำบลแม่นาจร และนายจอมกิตติ ศิริกุล ผู้บริหารโครงการพิเศษ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมเปิดศูนย์ฯ เพื่อเป็นการรวมพลัง ภาครัฐ เอกชน ภาคประชาคม และผู้นำชุมชน เดินยุทธศาสตร์เชิงรุกแก้ปัญหาหมอกควันและไฟป่าที่จะเกิดขึ้นใน ปี 2560 เน้น 3 มาตรการ

“ป้องกัน รับมือ และสร้างความยั่งยืน” พร้อมชู “ศูนย์ภูมิสารสนเทศเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยการมีส่วนร่วม อ.แม่แจ่ม” วางแนวทางกำจัดเศษวัสดุจากการเกษตรทั้งในไร่ที่เป็น ต้น ตอ ใบ และจุดโม่ ประกาศมาตรการเข้ม “60 วันห้ามเผาใบไม้ ห้ามเผาไร่นา” ฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำคุกและโทษปรับ เร่งวางแผนระยะยาว “แม่แจ่มโมเดล(พลัส) สร้างความยั่งยืน หลัง 60 วันห้ามเผา ด้านเครือเจริญโภคภัณฑ์มุ่งมั่นตั้งใจจริง ในการร่วมมือกับทุกภาคส่วน แก้ปัญหาหมอกควันและไฟป่าทั้งระยะสั้นและระยะยาว

นายอรรถชา กัมปนาทแสนยากร นายอำเภอแม่แจ่ม กล่าวว่า ในการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม ประจำปี 2560 นี้ ทาง อ.แม่แจ่มได้บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรท้องถิ่น และผู้นำชุมชน โดยมีศูนย์ภูมิสารสนเทศเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการมีส่วนร่วม อ.แม่แจ่ม ซึ่งก่อตั้งโดย คณะกรรมการบูรณาการแก้ไขปัญหาป่าไม้กับชุมชนและหมอกควันไฟป่า อ.แม่แจ่ม เป็นผู้วางมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาว ในการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า  ซึ่งในปีนี้จะจัดการกันอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันและควบคุมสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม ไม่ให้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคเศรษฐกิจ และสังคมใน จ.เชียงใหม่ โดยมีทั้งมาตรการทั้งก่อนและหลัง 60 วันห้ามเผาและการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

นายสมเกียรติ มีธรรม ผอ.ศูนย์ภูมิสารสนเทศ เพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยการมีส่วนร่วม อ.แม่แจ่ม เปิดเผยว่า ในปีนี้ศูนย์ภูมิสารสนเทศฯ จะเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการกับปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม โดยวาง 3 มาตรการ ประกอบด้วย 1.ป้องกัน 2.รับมือ 3.ความยั่งยืน โดยจะทำงานร่วมกับเครือข่ายมากกว่า 1,300 คน ทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน องค์กรท้องถิ่นและประชาชน เพื่อให้การแก้ปัญหาได้ครอบคลุมทุกมิติ และทุกพื้นที่ สร้างความยั่งยืนให้กับ อ.แม่แจ่ม และช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมของจ.เชียงใหม่
ซึ่งในปีที่ผ่านมา มช.ได้ประเมินมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ จากปัญหาหมอกควันว่ามีมูลค่าราว 4 พันล้านบาท

มาตรการ “ป้องกัน” ก่อน 60 วันห้ามเผา ซึ่งเพิ่งสิ้นสุดไปเมื่อ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา มีเป้าหมายเพื่อลดปริมาณเชื้อเพลิงในพื้นที่ปลูกข้าวโพด ทั้งในไร่ที่เป็นต้น ตอ และใบ ซึ่งมีเศษวัสดุจากการเกษตรประมาณ 60,000 ตัน และในจุดโม่ อีกประมาณ 35,000 ตัน

มาตรการที่ 2 “รับมือ” หรือมาตรการช่วง 60 วันห้ามเผา เริ่มต้น 20 ก.พ. ไปจนถึง 20 เม.ย. 2560 โดยห้ามเผาใบไม้ ห้ามเผาไร่นา หากฝ่าฝืนจะมีโทษทั้งจำคุกและโทษปรับ

มาตรการที่ 3 สร้างความ “ยั่งยืน” เป็นมาตรการหลัง 60 วันห้ามเผา ถือเป็นมาตรการระยะยาว เพื่อสร้างความยั่งยืน ผ่านแนวทาง “แม่แจ่มโมเดลพลัส” อาทิ เร่งจัดทำแผนยุทธศาสตร์ จัดระเบียบพื้นที่ป่าไม้กับชุมชน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนโดยเร็ว (ประชารัฐ) ยึดคืนและเร่งฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุก น้อมนำโครงการพระราชดำริ “สร้างป่า สร้างรายได้” มาใช้ ส่งเสริมให้เกษตรกรเปลี่ยนการปลูกข้าวโพดเป็นพืชอื่น

นายสมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า ศูนย์ภูมิสารสนเทศเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมโดยการมีส่วนร่วม อ.แม่แจ่ม ก่อตั้งขึ้นโดยคณะกรรมการบูรณาการแก้ไขปัญหาป่าไม้กับชุมชนและหมอกควันไฟป่า อ.แม่แจ่ม เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2558 โดยได้รับการสนับสนุนจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อให้หน่วยงานนี้เป็นกลไกสำคัญในการจัดการปัญหาหมอกควันไฟป่า และดำเนินงานตามยุทธศาสตร์แม่แจ่มโมเดลพลัส โดยจะมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและการติดตามประเมินผลในพื้นที่ อ.แม่แจ่มให้มีความเป็นเอกภาพ ช่วยให้การจัดทำข้อมูลแผนที่จำแนกการใช้ประโยชน์ป่าไม้ที่ดินรายแปลง สามารถนำไปใช้กำหนดพื้นที่ดินประเภทต่าง ๆ เช่น ป่าอนุรักษ์ดินและน้ำ, ป่าชุมชน, ที่ทำกินและป่าเศรษฐกิจชุมชน ตลอดจนที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนได้อย่างถูกต้องแม่นยำ

นายจอมกิตติ ศิริกุล ผู้บริหารโครงการพิเศษ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์มีความตั้งใจจริงและมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะใน อ.แม่แจ่ม ทั้งที่เป็นแผนรับมือเฉพาะ แผนระยะสั้น และแผนระยะยาว ซึ่งได้เข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายของแม่แจ่มโมเดลพลัสมาตั้งแต่ต้น และที่ผ่านมาได้สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมร่วมกับภาครัฐ และภาคประชาคมใน อ.แม่แจ่มมาโดยตลอด เพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า

โดยในปีที่ผ่านมาได้นำร่องหมู่บ้านปลอดเผา เนื้อที่ประมาณ 1,500 ไร่ที่ ต.บ้านทับ และในก้าวต่อไปของการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าและพลิกฟื้นผืนป่า อ.แม่แจ่ม สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามยุทธศาสตร์แม่แจ่มโมเดลพลัส ได้วางแผนที่จะสร้างระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ได้แก่ ระบบน้ำ ควบคู่ไปกับการสร้างอาชีพในรูปแบบของวิสาหกิจชุมชนหรือ Social Enterprise โดยอยู่ระหว่างการศึกษาหาพืชทางเลือกเพื่อทดแทนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สร้างความยั่งยืนด้านอาชีพแก่เกษตรกร

ร่วมแสดงความคิดเห็น