แรงงานต่างด้าว-ส่อเค้ามีปัญหา ทั้งเสียชีวิตถูกจับ-รัฐจี้จังหวัดแก้

รัฐบาลเร่งให้จังหวัดเชียงใหม่ ออกมาตรการเข้มในการดำเนินการตรวจสอบและควบคุมประชากรแรงงานต่างด้าว หลังผลสำรวจยังมีแนวโน้มการขาดแคลนแรงงานในหลายประเภทกิจการ และมีแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้ามาทำงานทางช่องทางธรรมชาติเพิ่มขึ้น พร้อมบูรณาการข้อมูลในการสอดส่องติดตามการแก้ไขกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว

เมื่อวัน25 ก.พ.60 ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ พล.ท.สมพงษ์ ไทรงาม ผอ.ศปป. 2 กอ.รมน. เป็นประธานการประชุมสรุปผลการตรวจแรงงานต่างด้าว และการติดตามประเมินผลการดำเนินงานและผลการใช้จ่ายเงินกองทุน เพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร โดยมีนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ หัวหน้าส่วนราชการ และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้

จากปัญหาโครงการตรวจสอบและควบคุมประชากรแรงงานต่างด้าว ปี 2560 พบว่า เมื่อแรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศแล้ว ไม่กลับมาทำงาน บางรายเสียชีวิต หรือ ถูกจับ และมีแรงงานต่างด้าวทำงานผิดเงื่อนไข ทั้งผิดสถานที่ หรือ ท้องที่ทำงาน หรือ ผิดนายจ้างจำนวนมาก ปัญหาสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานต่างด้าวบางสถานประกอบการอยู่ในลักษณะขาดสุขลักษณะ เป็นต้นเหตุให้แรงงานหนีนายจ้างไปทำงานที่มีสภาพการจ้างงานที่ดีกว่า และนายจ้าง หรือ เจ้าของสถานประกอบการไม่รู้กฎหมายด้านรายงาน ปัญหาแรงงานต่างด้าวลักลอบทำการค้าขาย เมื่อถูกจับกุมมักอ้างว่าเป็นลูกจ้าง และการตรวจสอบทำได้ยาก ประกอบกับมีแรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนแล้วมักเคลื่อนย้ายไปทำงานจังหวัดอื่นๆ โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นเหตุให้มีการขาดแคลนแรงงานในบางพื้นที่ และการพิสูจน์สัญชาติไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด เนื่องจากประเทศต้นทางยังไม่ดำเนินการใดๆ ส่งผลให้นโยบาย หรือ แนวทางการบริหารจัดการด้านแรงงานต่างด้าวกระทำได้ยาก หรือมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ทำให้มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการหรือแรงงานต่างด้าว

สำหรับ แนวโน้มสถานการณ์แรงงานต่างด้าว คาดว่า ยังมีสถานประกอบการขาดแคลนแรงงานในหลายประเภทกิจการ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการประมง แปรรูปสัตว์น้ำ ภาคการเกษตรและปศุสัตว์ ที่ขาดแคลนแรงงาน ทำให้มีการลักลอบนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงาน โดยเฉพาะตามจังหวัดชายแดนในลักษณะเข้ามาทำงาน 5-7 วัน โดยเดินทางเข้าออกตามช่องทางธรรมชาติ และคาดว่ามีแรงงานบางส่วนที่ไม่เดินทางกลับประเทศต้นทาง แต่ได้ลักลอบเข้ามาทำงานในพื้นที่ตอนใน เช่น กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เป็นต้น การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในอนาคตจะต้องอาศัยฐานข้อมูลที่มีความถูกต้อง และทันสมัย เริ่มจากมีหลายหน่วยงานต้องใช้ข้อมูลจำนวนประชากรแรงงานต่างด้าวหรือถิ่นที่อยู่ในการวางแผนปฏิบัติงาน และหน่วยงานด้านความมั่นคง

ดังนั้นการบูรณาการเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ในการปฏิบัติงานของแต่ละหน่วยงาน นอกจากนี้แรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามาทำงานในประเทศไทยในพื้นที่ตอนในมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากสถานประกอบการเริ่มมีการปรับตัว โดยหันไปใช้เครื่องจักรแทนการใช้แรงงาน ประกอบกับรัฐบาลไม่มีนโยบายให้แรงงานกลุ่มใหม่เข้ามาจดทะเบียนในลักษณะผ่อนผันอีกต่อไป แต่ความต้องการแรงงานในภาคการเกษตรหรือตามพื้นที่จังหวัดชายแดนในลักษณะเช้าไปเย็นกลับ หรือ ตามฤดูกาลอาจจะมีมากขึ้น และการลักลอบทำงานในลักษณะนี้จะมีมากขึ้นตามไปด้วยเนื่องจากมีการใช้ช่องทางธรรมชาติในการผ่านข้ามแดน

ด้านนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่มีแรงงานต่างด้าวมากที่สุดในประเทศ โดยทางจังหวัดเชียงใหม่ กำลังดำเนินการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ อย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ตามมติคณะรัฐมนตรี ทั้งทางด้านสังคม สาธารณสุข ด้านการศึกษา อัตราค่าจ้าง และสวัสดิการอย่างชัดเจน ซึ่งทางจังหวัดเชียงใหม่ได้ทำการสำรวจแรงงานต่างด้าวพื้นที่ตำบลช้างเผือก เนื่องจากเป็นแรงงานที่มีการเคลื่อนไหวต่ำ และจะมีการรายงานผลต่อไป

ทั้งนี้ทุกภาคส่วนยังได้เสนอแนะเกี่ยวกับการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว ว่าควรกำหนดให้คนต่างชาติทุกสัญชาติที่จะเดินทางเข้าประเทศไทย ไม่ว่าจะด้วยวัตถุประสงค์ใดๆ ควรมีการทำประกันสุขภาพ และประกันชีวิตทุกคนเพื่อเป็นหลักประกันว่า เมื่อเข้ามาแล้วจะไม่ก่อให้เกิดภาระ ด้านงบประมาณของทางการไทยในการดูแลสุขภาพ เมื่อเจ็บป่วยและควรมีการเชื่อมโยงข้อมูลด้านแรงงานกับต่างประเทศ โดยเฉพาะแรงงาน 3 สัญชาติ เมียนมา ลาว และกัมพูชา และให้หน่วยงานความมั่นคง กำหนดมาตรการรือแนวทางควบคุม สกัดกั้น มิให้แรงงาน 3 สัญชาติ ลักลอบเข้ามาในประเทศไทย โดยใช้ช่องทางธรรมชาติอย่างเข้มงวด และให้หน่วยงานด้านนโยบายประสานกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยอาจต้องมีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ และการแก้ไขปัญหาขาดแคลนตามฤดูกาล

ร่วมแสดงความคิดเห็น