เรียนรู้ประวัติศาสตร์เชียงใหม่ใน “หอศิลปวัฒนธรรมสามกษัตริย์”

แนวคิดในการออกแบบปรับปรุงอาคารศาลากลางเดิมนี้ใช้วิธีการอนุรักษ์แบบสงวนรักษา คือทำการปรับเปลี่ยนวัสดุที่เสื่อมสภาพเสริมความมั่นคง และตกแต่งพื้นผิวให้ดีขึ้น โดยจะไม่ไปเปลี่ยนรูปแบบดั้งเดิมที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวอาคาร ในส่วนของการออกแบบจัดแสดงนิทรรศการภายในนั้น ได้กำหนดเนื้อหาการจัดแสดงออกเป็น 2 ส่วนคือการจัดแสดงนิทรรศการถาวรและการจัดแสดงนิทรรศการแบบหมุนเวียน

ใครที่มีโอกาสเข้าไปชมหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่บริเวณศาลากลางหลังเก่า คงต้องเกิดอาการตื่นเต้นไม่น้อย เพราะภาพที่เห็นเบื้องหน้านั้นนับเป็นมิติใหม่ของการจัดแสดงนิทรรศการที่ใช้งบประมาณลงทุนกว่าหลายล้านบาท และหากใครที่ยังไม่เคยเข้าไปสัมผัสสิ่งที่ว่านี้ก็คงนึกเสียดายไม่น้อย

หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาแห่งอดีตอันรุ่งโรจน์ของอาณาจักรล้านนา หัวเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการค้า การปกครองของภูมิภาคตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน เพียงแห่งเดียวที่นำเสนอความเป็นมาของอดีตเมืองเชียงใหม่ได้อย่างครบถ้วน และอาจเรียกได้อีกว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ไฮเทคที่สุดในบรรดาพิพิธภัณฑ์ทั้งหลายที่มีอยู่ในประเทศ

ตัวอาคารของหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ซึ่งดัดแปลงจากอาคารศาลากลางหลังเดิมให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของเชียงใหม่ทุกยุคสมัยตั้งแต่เริ่มต้นการเลือกชัยภูมิสร้างเมืองของพญามังรายจนถึงยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 โดยอาคารศาลากลางเชียงใหม่หลังเก่านี้เป็นอาคารที่มีความงดงามและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2468 ครั้งนี้เคยเป็นศาลาว่าการรัฐบาลมณฑลพายัพและเป็นศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ดังนั้นคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์ของอาคารหลังนี้คงไม่ต้องพูดถึง

ความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ของอาคารพิพิธภัณฑ์หลังนี้ ประการหนึ่งนอกจากจะเป็นศูนย์กลางของการบริหารนครแล้ว บริเวณที่ตั้งของอาคารยังตั้งอยู่ในบริเวณที่เรียกกันว่า “กลางเวียง” ในปัจจุบันหรือ “สะดือเมือง” ในอดีต ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของเสาอินทขิลหรือเสาหลักเมืองมาก่อนที่จะย้ายเสาไปไว้ที่วัดเจดีย์หลวง นอกจากนั้นที่บริเวณนี้ในอดีตยังเป็นที่ตั้งของหอคำและที่ทำการเค้าสนามหลวง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรล้านนา

หลังจากที่หน่วยงานราชการต่างๆ ได้ย้ายไปอยู่อาคารศาลากลางหลังใหม่ บริเวณถนนโชตนาทางไปอำเภอแม่ริมเมื่อปีพ.ศ.2539 แล้ว ทางเทศบาลนครเชียงใหม่ร่วมกับองค์กรภาคเอกชนจึงได้ทำการปรับปรุงจัดตั้งเป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ขึ้นเพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์และเป็นแหล่งข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมประเพณีของเมืองเชียงใหม่ นอกจากนั้นเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในเขตเมืองเก่าที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปเที่ยวชมได้

การดำเนินการปรับปรุงอาคารหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ได้ดำเนินงานปรับปรุงมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 โดยได้รับการสนับสนุนจากทางจังหวัดเชียงใหม่ กรมการปกครองและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดทำเป็นโครงการภายใต้แผนงานเงินกู้เพื่อพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว OECF ระยะที่ 2 ซึ่งแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วน คือการปรับปรุงตัวอาคารศาลากลางเป็นหอศิลปวัฒนธรรม ใช้งบประมาณปรับปรุงกว่า 67 ล้านบาท ในส่วนที่สองคือการจัดแสดงภายในหอศิลปวัฒนธรรมได้รับเงินสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจำนวนกว่า 19 ล้านบาท ในส่วนของการปรับปรุงอาคารศาลากลางให้เป็นหอศิลปฯนั้นทางจังหวัดเชียงใหม่ยังได้แต่งตั้งคณะกรรมการประกอบด้วยนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ล้านนาและผู้ทรงคุณวุฒิของเมืองเชียงใหม่ ระดมความคิดเกี่ยวกับการปรับปรุงอาคารศาลากลางหลังเดิมให้เป็นหอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่ นอกจากนั้นยังมีการปรับปรุงทั้งบริเวณให้เป็นอนุสรณ์สถาน 700 ปีของเมืองเรียกว่า “ข่วงพญามังราย”

แนวคิดในการออกแบบปรับปรุงอาคารศาลากลางเดิมนี้ใช้วิธีการอนุรักษ์แบบสงวนรักษา คือทำการปรับเปลี่ยนวัสดุที่เสื่อมสภาพเสริมความมั่นคง และตกแต่งพื้นผิวให้ดีขึ้น โดยจะไม่ไปเปลี่ยนรูปแบบ ดั้งเดิมที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวอาคาร ในส่วนของการออกแบบจัดแสดงนิทรรศการภายในนั้น ได้กำหนดเนื้อหาการจัดแสดงออกเป็น 2 ส่วนคือการจัดแสดงนิทรรศการถาวรและการจัดแสดงนิทรรศการแบบหมุนเวียน

แนวคิดในการจัดตั้งหอศิลปฯเมืองเชียงใหม่ก็เพื่อ เมื่อเวลานักท่องเที่ยวขึ้นมาเที่ยวเมืองเชียงใหม่จะต้องแวะเข้ามาชมที่หอศิลปวัฒนธรรมก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อเป็นการทำความเข้าใจและรู้จักเชียงใหม่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันว่ามีความเป็นมาอย่างไร จากนั้นเมื่อนักท่องเที่ยวสนใจในเรื่องไหนก็สามารถจะตามไปศึกษาในส่วนนั้นได้

ในส่วนนิทรรศการชั้นล่างจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอดีตของเมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่สมัยพญามังรายที่ได้สร้างบ้านแปงเมือง การเลือกชัยภูมิของเมืองเชียงใหม่รวมถึง วัฒนธรรมของคนล้านนาในอดีต ส่วนชั้นบนจะเป็นเรื่องเชียงใหม่ในปัจจุบันที่นักท่องเที่ยวสามารถพบเห็นได้ ถ้าสนใจเรื่องไหนก็ตามไปเจาะโดยชั้นบนจะจัดแสดงเรื่องวิถีชีวิต กลุ่มคนที่อพยพมาอยู่รวมทั้งสถาปัตยกรรมเกี่ยวกับบ้านและวัดของเชียงใหม่

หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่มีห้องนิทรรศการถาวรถึง 15 ห้องจัดแบ่งตามเนื้อหาสาระ นับตั้งแต่ยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ยุคของการสร้างบ้านแปงเมือง ล่วงเลยผ่านวันเวลาอันรุ่งเรืองและเสื่อมถอย เปลี่ยนแปลงจนกระทั่งเป็นเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังจัดแสดงเรื่องราววิถีชีวิต ภูมิปัญญา การเมืองการปกครองและเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันน่าภูมิใจของคนเชียงใหม่ ซึ่งทั้งหมดนี้นำเสนอด้วยแบบจำลองผสานสื่อที่ทันสมัย ทั้งสไลด์ วีดิทัศน์ ซอฟต์แวร์ หุ่นจำลอง บอร์ดกราฟิกและภาพประกอบคำบรรยายที่ทันสมัยสวยงามน่าสนใจ

ภายในหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่จะแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 2 ชั้น เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาชมจะเริ่มต้นด้วยห้องวิดีทัศน์ เพื่อเกริ่นนำให้นักท่องเที่ยวได้เข้าใจภาพรวมของเชียงใหม่ รวมทั้งการก่อตั้งเมือง อิทธิพลของความเชื่อในลัทธิศาสนา ความสัมพันธ์ของเมืองเชียงใหม่กับเมืองต่างๆ ในภูมิภาคอื่น นอกจากนั้นยังมีห้องเชียงใหม่ 100 ปี แสดงถึงความสัมพันธ์ของเชียงใหม่กับสยาม ในส่วนชั้นบนจัดแสดงประวัติและความสำคัญของอาคาร ต่อด้วยห้องประวัติเจ้าหลวงเชียงใหม่และสายสันติวงศ์ อาคารชั้นบนด้านซ้ายจัดแสดงการตั้งถิ่นฐานของคนเมือง เริ่มจากการตั้งถิ่นฐานของพ่อค้าฝั่งแม่นํ้าปิงเชื้อสาย ต่าง ๆ นอกจากนั้นยังมีการจำลองกาดในอดีตมาไว้ ห้องจำลองวิหารวัดในพระพุทธศาสนาอันเป็นวิถีชีวิตของชาวเชียงใหม่ ตั้งอยู่คู่กับห้องภูมิปัญญาท้องถิ่นแสดงวัฒนธรรมและพัฒนาการด้านความคิดของชาวเชียงใหม่ ตลอดจนศิลปกรรมแขนงต่างๆ ซึ่งตลอดเวลากว่า 2 ชั่วโมงในการเข้าชมในหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่นั้น จะทำให้ทราบความเป็นมาของเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่อดีตเริ่มแรกในการสร้างบ้านแปงเมืองจนถึงยุคสมัยปัจจุบันกว่า 700 ปีของอาณาจักรแห่งนี้

ปัจจุบันหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมในเวลา 08.30-17.00 น.ตั้งแต่วันอังคารถึงวันอาทิตย์ (ไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) และนับเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของเชียงใหม่และภูมิภาคของที่จัดแสดงเรื่องราวของเชียงใหม่และอาณาจักรล้านนาได้ครบถ้วนและไฮเทคที่สุดก็ว่าได้

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น