ชูโครงการมันสำปะหลังกินได้

กรมการค้าภายใน เปิดโครงการมันสำปะหลังกินได้ เดินหน้าจัดการจัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ 3 จังหวัดนำร่อง ชูแนวทางส่งเสริมเกษตรกรปลูกมันสำปะหลัง เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีทิศทางในการปลูกมันสำปะหลังที่สามารถนาไปสู่การเพิ่มมูลค่าและมีทางเลือกเพิ่มขึ้น พร้อมเปิดตลาดให้พบกับผู้ประกอบการ หวังยกระดับและสร้างรายได้ให้เกษตรกร ตามนโยบายประเทศไทย 4.0

นางสาววิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงโครงการแปรรูปมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์สู่อุตสาหกรรมอาหารเพื่อยกระดับรายได้เกษตรกรชุมชนว่า เดิมเกษตรกรจะปลูกมันสำปะหลัง และเก็บเกี่ยวเพื่อนำไปจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการแปรรูปเป็นแป้งมันและมันเส้น จำหน่ายต่อไปยังตลาดทั้งภายในประเทศและส่งออก โดยสัดส่วนการบริโภคในประเทศมีเพียงร้อยละ 30 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับการส่งออกไปต่างประเทศ ร้อยละ 70 ทำให้ตลาดต่างประเทศเป็นตัวกำหนดราคามันสำปะหลัง และส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังถูกกดราคาลงไปด้วย อย่างไรก็ตาม จากนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืน สู่การทำงานแบบ “ประชารัฐ” โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันของภาครัฐ เอกชน เกษตรกรและชุมชน ให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งและมีศักยภาพ กระทรวงพาณิชย์ จึงริเริ่ม โครงการแปรรูปมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ สู่อุตสาหกรรมอาหารเพื่อยกระดับรายได้เกษตรกรชุมชนประจำปีงบประมาณ2559 ซึ่งเป็นความร่วมมือของกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ภาคเอกชน หอการค้า สมาคมฯ สถาบันมันสำปะหลัง สถาบันการศึกษา มีเป้าหมายพัฒนาการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อผลักดันให้ชุมชนและเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังหันมาเพาะปลูกและแปรรูปมันสำปะหลังเพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารแทน โดยเกษตรกรสามารถผลิตและแปรรูปเองได้โดยตรง ไม่ต้องพึ่งพาการแปรรูปจากภาคอุตสาหกรรมเหมือนดังเช่นปัจจุบัน ส่งผลให้เกษตรกรสามารถกำหนดราคาขายได้ด้วยตนเอง และสร้างรายได้ที่มากขึ้นให้แก่ตัวเกษตรกรและชุมชน

ด้านนางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีทิศทางในการปลูกมันสำปะหลังที่สามารถนาไปสู่การเพิ่มมูลค่าและมีทางเลือกเพิ่มขึ้น กรมการค้าภายใน จึงได้มอบหมายให้คณะอุตสาหกรรมเกษตรและสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทำจากมันสำปะหลังชนิดหวาน คิดค้นวิธีที่จะลดพิษไซยาไนด์ในหัวมันสำปะหลัง ซึ่งพบว่าวิธีลดพิษสามารถทำได้โดยการปอกเปลือก ล้างน้ำ แช่น้ำทิ้งไว้ หรือการให้ความร้อน วิธีการเหล่านี้ล้วนแต่เป็นวิธีที่เกษตรกรก็สามารถทำเองได้ด้วยตนเอง และจากการค้นคว้าวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญ ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จากมันสำปะหลังขึ้นมาเป็น 4 ผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ละ 3 รสชาติ ได้แก่ มินิวาฟเฟิลมันสำปะหลัง ไอศกรีมมันสำปะหลัง มันสำปะหลังกรอบ และมันสำปะหลังบอล ภายใต้แบรนด์CassaSweet จากโครงการนำร่องนี้ทำให้เห็นได้ว่า มันสำปะหลังพันธุ์ชนิดหวานนั้นสามารถพัฒนาเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อการบริโภคได้ โดยจากนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการจะสามารถต่อยอดพัฒนาให้เป็นสินค้าของตัวเองได้อีกด้วย

นอกจากนั้น กระทรวงพาณิชย์ ยังได้นำองค์ความรู้เหล่านี้ไปเผยแพร่เพื่อเป็นการกระตุ้นให้มีการปลูกมันสำปะหลังชนิดหวานเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการนำมันสำปะหลังมาแปรรูปเพื่อจำหน่ายในท้องตลาด โดยการจัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ 3 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดนครราชสีมา และ จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งได้รับความสนใจจากเกษตรกรเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังได้อบรมความรู้ในด้านการตลาดให้เกษตรกรและผู้ประกอบการในท้องถิ่นด้วยการจัดเสวนาขึ้นในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร และจังหวัดขอนแก่น โดยมีผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการด้านมันสำปะหลัง นักวิจัยผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และผู้เชี่ยวชาญทางด้านการตลาด มาให้ความรู้ ซึ่งผู้เข้าร่วมเสวนาสามารถนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดได้ตั้งแต่กระบวนการผลิต การแปรรูป และการจัดจำหน่าย อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวส่งท้าย

ร่วมแสดงความคิดเห็น