แหล่งผลิตข้าวญี่ปุ่น ถิ่นเหนือคึกคัก

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ที่ผ่านๆ มากระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวญี่ปุ่นในภาคเหนือได้เริ่มปรับปรุงพันธุ์ข้าวญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2500 โดยความช่วยเหลือจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ได้ต่อยอดงานวิจัยพัฒนาพันธุ์ จนได้พันธุ์ข้าวญี่ปุ่น ก.วก.1 และ ก.วก.2 จากกระแสความนิยมบริโภคอาหารญี่ปุ่นในไทยแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้มีการขยายตัวของร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น

แหล่งผลิตพันธุ์ข้าวญี่ปุ่นที่สำคัญ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แพร่ และพะเยา ส่วนใหญ่จะเป็นการรวมกลุ่มเกษตรกรโดยภาคเอกชน (โรงสี) และจัดตั้งชมรมผู้ผลิตข้าวญี่ปุ่นแห่งประเทศไทย เน้นการซื้อขายทั้งเมล็ดพันธุ์และข้าวญี่ปุ่นแบบเกษตรพันธสัญญา มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 80,000 ไร่ เกษตรกรร่วมโครงการ 6,000 กว่าครัวเรือน

จากการติดตามสถานการณ์ พบว่า ข้าวญี่ปุ่นชั้นพันธุ์สามารถทำรายได้ให้เกษตรกรมากกว่าการขายข้าวทั่วไปถึงเกือบ 2 เท่า การผลิตข้าวญี่ปุ่นในไทย ยังพบว่าขาดแคลนเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี ต้องปรับปรุงพันธุ์ให้ทนต่อโรคและแมลง ส่วนด้านการตลาดมีข้าวญี่ปุ่นจากต่างประเทศเข้ามาตีตลาดไทยในราคาที่ต่ำกว่า ได้แก่ เวียดนาม สหรัฐอเมริกา และ ออสเตรเลีย ส่งผลกระทบต่อผลผลิตในประเทศ ดังนั้น ควรส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรให้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวญี่ปุ่นคุณภาพดี มีความบริสุทธิ์ตรงตามพันธุ์ ให้เพียงพอกับความต้องการ ลดต้นทุนการผลิต ภาครัฐร่วมมือกับเอกชนส่งเสริม ผลักดันการปลูกข้าวญี่ปุ่น ในระบบการผลิตแบบเกษตรดีที่เหมาะสม

ร่วมแสดงความคิดเห็น