เปิดแผนรับวิกฤติแล้ง ชลประทานยันเอาอยู่

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากกระแสความกังวลเกี่ยวกับปริมาณน้ำเพื่อการเกษตร อุปโภค บริโภคนั้น ขอยืนยันว่าจากการตรวจสอบสถานการณ์น้ำใน 34 เขื่อนหลัก พบว่า มีน้ำใช้การได้ 21,781 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปีที่แล้ว 8,356 ล้าน ลบ.ม.

ช่วงฤดูแล้งระหว่าง ก.พ.-เม.ย. 60 กรมฯได้วิเคราะห์สมดุลน้ำร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ตรวจสอบสถานการณ์น้ำในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศที่มีความสุ่มเสี่ยง พบว่า ในระดับอำเภอมีปริมาณน้ำที่ใช้อุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเพียงพอ ไม่มีอำเภอที่ขาดน้ำ แต่ก็ยังมี อำเภอที่คาดว่าจะขาดน้ำเพื่อการเกษตร มี 105 อำเภอ 34 จังหวัดสำหรับแผนบริหารจัดการน้ำ ได้ยึดโยง แผนฯสำคัญๆ เพื่อ ขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำให้ครอบคลุมทุกๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการน้ำอุปโภค การสร้างความมั่นคงน้ำภาคการผลิต (เกษตร/อุตสาหกรรม) การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย

ทางด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ 2 มีนาคม ที่ผ่านมานั้นกรมฯได้เปิดปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี โดยจะตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง 5 ศูนย์ ครบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัด เช่นที่ ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก โดยขั้นตอนการตัดสินใจในการปฏิบัติการฝนหลวง จะเริ่มจากความต้องการฝนและร้องขอมายังกรมฝนหลวงฯ

ทั้งนี้ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ของทุกปี ในบริเวณภาคเหนือ จะเน้นปฏิบัติการในพื้นที่ประสบปัญหาไฟป่าและหมอกควัน โดยติดตามค่าฝุ่นละอองในอากาศอย่างใกล้ชิด ขณะนี้ค่าไม่เกิน 120 ไมโครกรัม/ลบ.ม. หากพบเกินปริมาณที่กำหนด ก็จะเข้าปฏิบัติการทำฝนหลวงทันที รวมไปถึงการเติมน้ำเขื่อนภูมิพล และแม่กวงฯ ด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น