สดร. ดึง คริสโตเฟอร์ โก ติวเข้มเทคนิค การถ่ายภาพดาวเคราะห์ หวังสร้างผลงาน นักดาราศาสตร์สมัครเล่นในไทย

สดร. ดึง คริสโตเฟอร์ โก ติวเข้มเทคนิคการถ่ายภาพดาวเคราะห์ หวังสร้างผลงานนักดาราศาสตร์สมัครเล่นในไทย

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัด Workshop เทคนิคถ่ายภาพดาวเคราะห์ ดึงกูรูถ่ายภาพดาวเคราะห์ชื่อดัง “คริสโตเฟอร์ โก” ร่วมเผยเคล็ดลับและประสบการณ์ถ่ายภาพ มีนักดาราศาสตร์สมัครเล่นทั่วประเทศ และผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 60 คน ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ชั้น 4 จามจุรีสแควร์ กทม. เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา หวังขยายฐานนักดาราศาสตร์สมัครเล่นในไทย คาดอาจมีบทบาทสำคัญต่อการค้นพบข้อมูลใหม่ๆ ที่จะเกิดประโยชน์ต่อวงการดาราศาสตร์ในอนาคต

ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา รอง ผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า การถ่ายภาพดาราศาสตร์ นับเป็นศาสตร์และศิลป์ สำหรับภาพมุมกว้าง เช่น ทางช้างเผือก จะเป็นศิลปะมากกว่าเทคนิคเชิงวิชาการ แต่การถ่ายภาพดาวเคราะห์ จะใช้เทคนิคเชิงวิชาการมากกว่าศิลปะ ภาพบางภาพที่มีความสวยงาม นุ่มนวล ดูสบายตา แต่อาจมีรายละเอียดไม่ชัดเจน เท่ากับภาพที่มีมีสีจัดจ้าน เห็นรายละเอียดต่างๆ อย่างชัดเจน บางภาพนักวิจัยสามารถนำไปใช้ศึกษาการหมุนรอบตัวเองของดาวพฤหัสบดี การเปลี่ยนแปลงของเมฆและพายุบนดาวพฤหัสบดี ศึกษาชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร ดาวศุกร์ ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส ฯลฯ ได้ ในวันนี้ เราเชิญ คริสโตเฟอร์ โก มาเป็นวิทยากร ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์การถ่ายภาพดาวเคราะห์ ผู้มีผลงานการค้นพบจุดแดงเล็กบนดาวพฤหัสบดี จากนักดาราศาสตร์สมัครเล่น ที่ใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก สามารถสร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่ เค้าใช้เทคนิคอย่างไร ดาวเคราะห์อยู่ไม่ไกลจากโลกมาก และมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ปรากฏการณ์บางอย่างต้องการการติดตาม ตลอด 24 ชม. เช่น พายุบนดาวพฤหัสบดี ซึ่งกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ มีภารกิจที่หลากหลายและมีการใช้งานอยู่ตลอด จึงไม่สามารถติดตามถ่ายภาพดาวเคราะห์ได้ทุก ๆ วัน

นักดาราศาสตร์สมัครเล่น จึงมีบทบาทสำคัญมาก ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงของดาวเคราะห์ ไม่แพ้ยานสำรวจอวกาศ คุณภาพของภาพถ่ายที่ได้จากกล้องขนาดเล็ก และเทคนิคคอมพิวเตอร์ขั้นสูง รวมถึงกล้องถ่ายภาพในปัจจุบันที่มีความไวแสงสูงมาก ทำให้ได้ภาพถ่ายที่มีคุณภาพดีกว่า ภาพถ่ายจากยานอวกาศในยุคก่อนๆ เช่น ภาพจากยานไพโอเนียร์ 12 ซึ่งส่งไปสำรวจดาวศุกร์ เมื่อปี 2521 ภาพถ่ายจากยานดังกล่าว ยังสู้ภาพถ่ายของนักดาราศาสตร์สมัครเล่น ที่ถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์บนพื้นโลกในปัจจุบันไม่ได้

ดร. ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการสำรวจอวกาศ เช่น นาซา ได้จัดแคมเปญสำหรับนักดาราศาสตร์สมัครเล่นถ่ายภาพดาวเคราะห์ แล้วช่วยกันส่งข้อมูลเข้ามา ตัวอย่างเช่น ยานอวกาศจูโนที่กำลังโคจรรอบดาวพฤหัสบดีอยู่ในขณะนี้ ไม่มีกล้องถ่ายภาพมุมกว้าง ก่อนที่ยานจูโนจะบินโฉบเข้าไปเหนือดาวพฤหัสบดีในระยะ 5 พันกิโลเมตร จำเป็นต้องทราบถึงสภาพแวดล้อมมุมกว้างของดาวพฤหัสบดีในขณะนั้นว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่นักดาราศาสตร์สมัครเล่น รวมถึงสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ จะมีโอกาสเก็บข้อมูลการสำรวจอวกาศร่วมกับยานอวกาศขนาดใหญ่ เพื่อประโยชน์ในการศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับดาวเคราะห์ต่อไปในอนาคตคุณตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์ นักดาราศาสตร์สมัครเล่น หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรม กล่าวว่า เป็นกิจกรรมที่ดีมาก ช่วยกระตุ้นให้ประชาชนทั่วไป หันมาสนใจในธรรมชาติ ท้องฟ้า และดวงดาว นอกจากนี้ การเชิญผู้มีประสบการณ์สูงด้านการถ่ายภาพดาวเคราะห์ และมีชื่อเสียงระดับโลกอย่าง คริสโตเฟอร์ โก มาถ่ายทอดเทคนิคต่าง ๆ ให้แก่ผู้เข้าร่วม ทำให้ได้รับความรู้เพิ่มเติมกลับไป สิ่งที่ถ่ายทอดในวันนี้ สามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว และไม่สามารถหาซื้อได้

โดยเฉพาะเทคนิคการถ่ายภาพและซอฟต์แวร์ สำหรับใช้ประมวลผลภาพถ่ายดาวเคราะห์ โดยส่วนตัวผมมีความสนใจการถ่ายภาพวัตถุในห้วงอวกาศลึก แต่ในอนาคตผมอาจจะเปลี่ยนไปถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้า เช่น ดาวเคราะห์ ก็อาจะเป็นได้ สิ่งสำคัญคือ เป็นการเปิดโอกาสให้คนทั่วไป เริ่มต้นถ่ายภาพดาวเคราะห์ได้ด้วยกล้องธรรมดาทั่วไป และผมรู้สึกดีใจมากที่ สดร.จัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา หวังว่าจะมีกิจกรรมดี ๆ ลักษณะเช่นนี้อีกในอนาคต

การถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ มีหลากหลายประเภท บางท่านที่สนใจถ่ายภาพดาวเคราะห์ อาจจะไม่สนใจที่จะถ่ายภาพวัตถุในห้วงอวกาศลึก เช่น เนบิวลา กาแล็กซี เพราะใช้เทคนิคและวิธีการที่ต่างกัน แล้วแต่ความสนใจส่วนบุคคล บางคนชอบถ่ายมุมกว้าง เช่น ทางช้างเผือก ก็จะเน้นในเรื่องความสวยงาม หากสนใจจะพัฒนาเทคนิคและวิธีการถ่ายภาพดาราศาสตร์ ก็สามารถติดตามต่าง ๆ จากสดร. ได้ ทาง www.facebook.com/NARITpage หรือ www. NARIT.or.th ดร.ศรัณย์ กล่าวปิดท้าย

ร่วมแสดงความคิดเห็น