สกู๊ปหน้า1…ฟื้นคลอง ”แม่ข่า” ขอเวลา-ของบฯ

ความตื่นตัว ในความพยายามบริหารจัดการ ”คลองแม่ข่า” ของหลายๆ ภาคส่วนที่ร่วมสานพลังเป็นคณะทำงาน ”จัดทำแผนพัฒนาคลองแม่ข่าแบบบูรณาการ” อีกครั้ง

น่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดี ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฟื้นฟู พัฒนาคลองแม่ข่า คลองแห่งประวัติศาสตร์ที่ มีสภาพเสมือนลมหายใจรวยริน ให้มีสีสันมีชีวิตเป็นไปตามรูปแบบที่กำหนดขึ้นสู่เป้าหมายที่วาดหวังกันไว้

คงไม่ต้องย้อนรอยอดีต บอกเล่าความสำคัญของ 1 ใน 7 ไชยมงคล องค์ประกอบหนึ่งของชัยภูมิสร้างเวียงเชียงใหม่ เพราะคลองแม่ข่า ตั้งแต่อดีต จนถึงวันนี้ ได้ทำหน้าที่ อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว กับการรับใช้เมือง ในการเป็น “แหล่งน้ำ…เพื่อชีวิตคนเมือง”

ที่ผ่านๆ มาจังหวัดเชียงใหม่ ได้ตั้งธงแนวทางการดำเนินงานตามแผนฯ ทุกระยะ ในทุกยุทธศาสตร์ แม้อาจไม่ยิ่งใหญ่ เทียบได้กับ ”คลองชองเกชอน เกาหลีใต้” ที่รัฐบาลแห่งชาติ ทุ่มทุน ทุ่มเท ทุกสรรพกำลังลงมาช่วยท้องถิ่น แต่ทว่าในความพยายามที่จะดำเนินการ ฟื้นฟูคลองแม่ข่า กับงบประมาณ ที่เคยตั้งไว้ไม่ต่ำกว่า 2-3 พันล้านบาท ในการบริหารจัดการทั้งระบบ สู่อนาคตที่ดีขึ้นของ “คลองแม่ข่า”

วันนี้ได้รับเจียดมา 50 ล้านบาท คงพอทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันได้บ้าง…(ฮา) เป็นกรอบแนวทางที่น่าจะสอดรับกับบางแผน..ในแผนแม่บทที่จะดำเนินการต่อๆ ไปในอนาคต ด้วยคณะทำงานที่จัดตั้งขึ้นทุกชุด ทุกหน่วยงาน ต่างมุ่งมั่นจะสานแผน ก้าวไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่ต่างฝ่ายต่างคิดเอง ทำเอง

ปัจจุบันมีการวางกรอบงบประมาณของแต่ละหน่วยงาน ให้สอดคล้อง ประสานเป็นหนึ่งเดียวกับแผนงานด้วยยุทธศาสตร์บริหารจัดการคุณภาพน้ำ!!! ตามมาด้วยการแก้ไข ปัญหาอุปสรรค และนำมาตรการ สร้างเสริมส่วนร่วมของทุกภาคส่วน บนพื้นฐานกฎกติกา สังคมที่ทุกฝ่ายต้องถือปฏิบัติ งานอนุรักษ์ และฟื้นฟูนั้น สิ่งที่สำคัญอีกด้านคือ องค์ความรู้ การเข้าถึง เข้าใจ พัฒนา

ต้นตอของปัญหาคลองแม่ข่าเกิดจาก จิตสำนึกของผู้คนในสังคม ที่ไม่ร่วมดูแลรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมของแหล่งน้ำตามธรรมชาติ หากติดตามข้อมูลจากการนำเสนอของ ผู้มีส่วนร่วมรับผิดชอบ..วิจัยเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

ภายใต้โครงการ “อนุรักษ์ ฟื้นฟูคลองแม่ข่า” โดยกระบวนการมีส่วนร่วมจะพบว่า ข้อมูล สภาพปัญหาคลองแม่ข่า ตัวอย่างบางช่วงบางตอน ระบุชัดเจนยิ่งว่าในพื้นที่ชุมชนกู่เต้า ลำน้ำแม่ข่ามีวัชพืชขึ้นตลอดสาย ปริมาณไม่มากแต่ สภาพน้ำมีสีดำและส่งกลิ่นเหม็น

น้ำแม่ข่าที่ไหลผ่านในช่วงชุมชนศรีลานนา มีปัญหาคุณภาพน้ำ สาเหตุมาจากการปล่อยน้ำเสียซึ่งไม่ผ่านการบำบัดลงสู่ลำน้ำ ที่ไหลผ่านในพื้นที่ชุมชนเทียมพร มีสภาพตื้นเขินเป็นช่วงๆ โดยที่ผ่านมาสำนักงานชลประทานจังหวัดเชียงใหม่ได้เข้ามาช่วยขุดลอกไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยังคงพบสภาพปัญหาการบุกรุกลำน้ำ ปัญหาน้ำเน่าเสีย มีสีดำ และส่งกลิ่นเหม็น

สำหรับชุนชนศรีมงคล น้ำมีสีดำและส่งกลิ่นเหม็น ปัจจุบันปัญหาเริ่มเบาบาง เนื่องจากชุมชนเริ่มมีจิตสำนึกที่ดี ในการช่วยกันดูแลลำน้ำ สานพลังทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง และหนึ่งในนั้นคือ การบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่ลำน้ำแม่ข่า” เป็นต้น

เป็นที่ทราบกันดีว่า คลองแม่ข่า ลำน้ำสายนี้มีจุดกำเนิดและปลายน้ำ ว่ากันตั้งแต่เขตอำเภอแม่ริมจนถึงอำเภอหางดง ดังนั้น ตลอดระยะทางยาวร่วมๆ 27 กิโลเมตรของสายน้ำ สายนี้ จะตัดทอน แก้ปัญหา บางพื้นที่ไม่ได้

คลองแม่ข่าอยู่ในเขตเทศบาลประมาณ 10 กิโลเมตร ที่ผ่านมา มีการดำเนินการ 2-3 ด้าน ประกอบด้วยการบำบัดน้ำเสีย การจัดทำบึงประดิษฐ์ นำพืชบางชนิดมาช่วยกำจัดน้ำเสีย นำเรือลงเก็บขยะ

ขอความร่วมมือชุมชนช่วยกันบำบัดน้ำเสีย มีบ่อเกรอะดักตะกอน ไขมัน สิ่งเจือปนในน้ำใช้จากอาคารบ้านเรือ ก่อนปล่อยทิ้งไหลลงสู่คลองแม่ข่า มีการขุดลอกคลองให้น้ำไหลสะดวกขึ้นซึ่งกำลังดำเนินการในปัจจุบัน หลายๆ ช่วง ตามงบประมาณที่พอมี และสุดท้ายคือการป้องกัน ไม่ให้มีการบุกรุกเพิ่มเติม

คณะทำงานของหลายหน่วยงานในพื้นที่ เปิดประเด็นการจัดการ สิ่งปลูก อาคารรุกล้ำแนวคลองแม่ข่า ยังมีช่องโหว่ทางกฎหมายที่ไม่อาจจัดการได้กับปัญหาสิ่งปลูกที่ไม่มีการขออนุญาติ ดังนั้นการจะไล่รื้อถอน อาจต้องอาศัยอำนาจที่ต้องกำหนดขึ้นเฉพาะ เพื่อการจัดระเบียบสังคม สะสางปัญหาที่เรื้อรังกันมานาน

บังเอิญว่า คลองแม่ข่า ในพื้นที่รับผิดชอบของเทศบาลนครเชียงใหม่สะท้อนสภาพปัญหาได้เด่นชัด ทั้งคุณภาพน้ำ สีดำ ส่งกลิ่นเหม็น เป็นที่ทิ้งเศษสิ่งปฏิกูลและน้ำเสียจากโรงงาน อาคารบ้านเรือนต่างๆ

กระแสความตื่นตัวของชาวเชียงใหม่ หลายๆภาคส่วนที่จะร่วมกันคิด รวมพลังกันอนุรักษ์ พัฒนาและฟื้นฟูคลองแม่ข่าให้กลับมามีคุณค่าเช่นเดิมคาดหวังจะให้คลองแม่ข่าเป็นต้นแบบ

แหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยวด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำ การจัดการสิ่งแวดล้อมในเมือง ตลอดจนระบบนิเวศธรรมชาติ มีการฟื้นฟูมิติด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและประเพณี วิถีชีวิตของผู้คนกับสายน้ำ เป็นแหล่งเศรษฐกิจของชุมชน และสะท้อนภูมิปัญญาในการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำ โดยใช้มิติทางวัฒนธรรมที่บูรณาการกับการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม คลองแม่ข่า ทรงคุณค่า สามารถฟื้นฟู อยู่ที่ทุกๆ คน ทุกๆ ภาคส่วน ช่วยกันดำเนินการตามแผนแม่บทอย่างต่อเนื่อง

เป้าหมาย..แม่ข่า..น้ำใส ไหลเย็นเห็นตัวปลา….ฝันนี้อาจอีกยาวไกล แต่เป็นไปได้ ถ้าหากชาวเชียงใหม่ ทุกภาคส่วน ร่วมแรง ร่วมใจกัน

แค่ไม่คิด..แอบทิ้งขยะลงคลองแม่ข่า…ปล่อยน้ำเสีย ไม่รุกล้ำ 2 ฝั่งคลอง มีส่วนร่วมกับแผนพัฒนา

บางที..คลองแม่ข่า..กับสภาพที่เราๆท่านๆคาดหวัง..อาจทันได้เห็นและสัมผัสได้ ในชาตินี้

เจ็ดขุนพล

ร่วมแสดงความคิดเห็น