จ.ลำพูน จัดงานสืบสานตำนาน ฝ้ายงามหนองเงือก

นายทวี ณ ลำพูน นายกเทศมนตรีตำบลแม่แรง กล่าวถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวของตำบลแม่แรง “งานสืบสานตำนาน ฝ้ายงามหนองเงือก ครั้งที่ 11”กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 มีนาคม – 3 เมษายน 2560 ที่บ้านหนองเงือก ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน และ “งานแต่งสีอวดลาย ผ้าฝ้ายดอนหลวง ครั้งที่ 15” กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 – 11 เมษายน 2560 ที่บ้านดอนหลวง ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน

การจัดงานสืบสานตำนาน ฝ้ายงามหนองเงือก ที่บ้านหนองเงือก ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน นับได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้านหนองเงือก เป็นงานประจำปีที่มีเสน่ห์ ยากจะมีที่ไหนเหมือน ปัจจุบันบ้านหนองเงือกได้รับคัดเลือกเป็นแกนนำหลักของเครือข่ายกลุ่มผ้าทอของจังหวัดลำพูนร่วมกับบ้านดอนหลวง ระยะเวลาการจัดงาน 4 วัน
รูปแบบล้านนา โดยใช้สถานที่บริเวณลานหน้าวัดหนองเงือก หมู่บ้านหนองเงือก หมู่ที่ 5 ในการเล่าขานตำนานการทอผ้าฝ้ายทอมือของบ้านหนองเงือก 12 ขั้นตอน อันเลื่องชื่อ ชมและสัมผัสบรรยากาศวัฒนธรรมชาวยองที่เรียบง่าย ที่สำคัญ สามารถแสดงและสื่อถึงวิถีชาวบ้าน การประกอบอาชีพ การดำรงชีวิต รวมถึงประเพณีวัฒนธรรมที่ได้สืบทอดต่อกันมา มีบรรยากาศของ กาดหมั้ว ที่เป็นจุดจำหน่ายอาหารพื้นเมือง และเครื่องดื่มประเภทต่างๆ พร้อมสัมผัสบรรยากาศลานขันโตกของชาวเหนือ การจำหน่ายผ้าฝ้าย ผ้าทอ ซึ่งเป็นสินค้า OTOP ที่ขึ้นชื่อ เป็นของฝากของที่ระลึกในราคาย่อมเยา ท่ามกลางบรรยากาศกลิ่นอายแห่งล้านนา ด้วยเสียงเพลงสะล้อ ซอ ซึง ที่บรรเลงขับกล่อมตลอดงาน

การจัดงานแต่งสีอวดลาย ผ้าฝ้ายดอนหลวง กำหนดให้วันแรกของการจัดงาน คือ วันศุกร์แรกของเดือนเมษายนของทุกปี ระยะเวลาการจัดงาน 5 วัน ที่บ้านดอนหลวง ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน บ้านดอนหลวงเป็นหมู่บ้านที่มีวัฒนธรรมพื้นบ้านที่หลากหลายและน่าภาคภูมิใจ งานผ้าฝ้ายดอนหลวงเป็นการนำเสนอผลิตภัณฑ์ของดีที่มีอยู่ในชุมชน ซึ่งผลิตภัณฑ์หรือสินค้าหลัก คือ ผ้าฝ้ายทอมือ ที่เป็นจุดเด่นและสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์หรืองานปี๋ใหม่เมือง ยังคงเอกลักษณ์การจัดงานในลักษณะ กาดปื้นเฮือน คือการจัดบริเวณบ้านหรือใต้ถุนบ้านเป็นที่จำหน่ายสินค้าที่มีเพียงแห่งเดียว มีการนำเสนอวิถีชีวิตชุมชน ผลิตภัณฑ์สินค้าพื้นเมือง มีบรรยากาศของ กาดหมั้ว ที่เป็นจุดจำหน่ายอาหารพื้นเมือง และเครื่องดื่มประเภทต่างๆ พร้อมสัมผัสบรรยากาศลานขันโตกของชาวเหนือ ซึ่งเป็นสิ่งที่หายากในปัจจุบัน ภายในงานมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย เช่น การสาธิตการทอผ้าฝ้ายพื้นเมืองที่นักท่องเที่ยวสามารถทดลองทอผ้าฝ้ายได้โดยมีชาวบ้านคอยให้คำแนะนำ การจำหน่ายอาหารพื้นเมืองรูปแบบ กาดหมั้ว ลานขันโตก ชมการแสดงพื้นเมืองของชาวบ้านและนักเรียนในตำบลแม่แรง รวมถึงการจำหน่ายผ้าฝ้าย ผ้าทอ ซึ่งเป็นสินค้า OTOP ที่ขึ้นชื่อ เป็นของฝากของที่ระลึกในราคาย่อมเยา ท่ามกลางบรรยากาศกลิ่นอายแห่งล้านนา ด้วยเสียงเพลงสะล้อ ซอ ซึง ที่บรรเลงขับกล่อมตลอดงาน

ร่วมแสดงความคิดเห็น