สดร. ลงนาม ซื้อกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติใหญ่ที่สุดในอาเซียน

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลงนามกับบริษัทเอ็มทีเมคคาทรอนิกส์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ผู้นำระดับโลกด้านกล้องโทรทรรศน์และเทคโนโลยีวิศวกรรมการสื่อสารในห้วงอวกาศลึก จัดซื้อกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ เส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร จานแรกของไทย ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เดินหน้าโครงการพัฒนาเครือข่ายดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซี่ หนุนงานวิจัยดาราศาสตร์วิทยุในไทยและใช้เฝ้าระวังภัยพิบัติที่อาจมีผลกระทบต่อโลก คาดเริ่มใช้งานปี 2564 มุ่งเป้าใช้ดาราศาสตร์เป็นโจทย์ยากท้าทายการสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ และพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อต่อยอดสู่ภาคอุตสาหกรรมขั้นสูงในอนาคต
รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า สดร. ได้ลงนามจัดซื้อกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร จากบริษัทเอ็มทีเมคคาทรอนิกส์ (MT Mechatronics GmbH) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซี่ กล้องโทรทรรศน์วิทยุดังกล่าว จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักทางดาราศาสตร์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศ นอกเหนือจากหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ที่ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.4 เมตร ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่

โครงการฯ ดังกล่าวจะก่อให้เกิดความร่วมมือกับเครือข่ายดาราศาสตร์วิทยุทั่วโลก เพื่อการพัฒนางานวิจัยทางด้านดาราศาสตร์วิทยุและทางด้านธรณีวิทยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาผลการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเปลือกโลกซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการเกิดภัยพิบัติบนพื้นโลก เช่น การเกิดแผ่นดินไหว หรือสึนามิ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังจะก่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง ทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำทางด้านดาราศาสตร์วิทยุในภูมิภาคอาเซียน ยังผลให้ดาราศาสตร์ในภูมิภาคอาเซียนเป็นที่ยอมรับในระดับสากลมากขึ้นด้วย

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สดร. กล่าวถึงรายละเอียดของกล้องโทรทรรศน์วิทยุว่า กล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ จำเป็นต้องมีการออกแบบ ผลิต และสร้างซอฟต์แวร์ควบคุมการทำงานให้เป็นไปตามความต้องการของแต่ละหน่วยงาน สำหรับกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติที่ลงนามจัดซื้อในวันนี้ ประกอบด้วย กล้องโทรรศน์วิทยุ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร จำนวน 1 ชุด ประกอบด้วย จานรับสัญญาณชนิดโพราโบลอยด์ ระบบควบคุมเพื่อรับและรวมคลื่นวิทยุไปยังระบบรับสัญญานวิทยุ หน่วยสะท้อนสัญญาน และห้องรับสัญญาน พร้อมซอฟต์แวร์ควบคุมการทำงาน
บริษัทเอ็มทีเมคคาทรอนิกส์ จำกัด สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ตั้งอยู่ที่เมืองไมนซ์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นผู้นำระดับโลกด้านกล้องโทรทรรศน์และเทคโนโลยีวิศวกรรมการสื่อสารในห้วงอวกาศลึก มีความเชี่ยวชาญในการออกแบบ การพัฒนา การรวมระบบ การว่าจ้าง การฝึกอบรม การบำรุงรักษา และการดำเนินงานสำหรับการสื่อสารและเสาอากาศสำหรับอวกาศลึก กล้องโทรทรรศน์วิทยุและกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสง อุปกรณ์เมคคาทรอนิกส์ต่างๆ มีประสบการณ์การผลิตกล้องโทรทรรศน์ให้กับหอดูดาวต่างๆ ทั่วโลกมากว่า 50 ปี

กล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ ใช้ต้นแบบและพัฒนามาจากกล้องโทรทรรศน์วิทยุเยเบส ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร ฐานรากมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 18 เมตร อาคารฐานรากมีความสูงประมาณอาคาร 3 ชั้น ประกอบด้วยห้องปฏิบัติการนักดาราศาสตร์ ห้องเก็บอุปกรณ์รับสัญญาณวิทยุ ห้องรับสัญญาณ รับความถี่คลื่นวิทยุได้ถึง 100 กิกะเฮิร์ตซ์ กำหนดแผนดำเนินการระหว่างปี 2560-2563 คาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จ เริ่มใช้งานประมาณปี 2564 ในอนาคตยังมีแผนติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 13 เมตร และขยายเครือข่ายสถานีเชื่อมสัญญาณไปอีก 3 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี กาญจนบุรี และสงขลา

สำหรับพื้นที่ดำเนินโครงการฯ สดร. ได้รับความอนุเคราะห์ให้ใช้พื้นที่ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ดังกล่าว มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม อยู่ห่างตัวเมืองเชียงใหม่ออกไปประมาณ 30 กิโลเมตร ห่างไกลจากแหล่งกำเนิดสัญญาณวิทยุรบกวน นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกันวางแผนจัดตั้ง “อุทยานเรียนรู้ดาราศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติตามแนวพระราชดำริฯ อีกด้วย

ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากย้อนกลับไปในอดีตจะพบว่าต้นกำเนิดของระบบไวไฟ (Wi-Fi) หรือเครือข่ายการสื่อสารแบบไร้สาย (Wireless Network) มาจากงานวิจัยด้านดาราศาสตร์วิทยุ จากการคิดค้นวิธีรับสัญญานจากวัตถุท้องฟ้ากลับมายังโลกโดยปราศจากการใช้สายสัญญาณในการเชื่อมต่อ ใช้คลื่นวิทยุเป็นช่องทางการสื่อสาร รับส่งข้อมูลระหว่างกันผ่านอากาศ จนกลายมาเป็นระบบสื่อสารที่ผู้คนทั่วโลกนิยมใช้กันมากที่สุด การวิจัยด้านดาราศาสตร์วิทยุ ต้องใช้เทคโนโลยีวิศวกรรมขั้นสูงในหลายสาขา การพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตนเองจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบันข้อจำกัดในงานวิจัยทางวิศวกรรม คือไม่มีโจทย์ที่ท้าทายและเวทีสำหรับการนำไปใช้งานจริง กล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ จะเปิดโอกาสให้เทคโนโลยีขั้นสูงได้รับการพัฒนาขึ้นจากบุคลากรด้านเทคนิคคนไทยหลายสาขา เช่น วิศวกรรม โทรคมนาคม อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ เกิดเป็นศูนย์การเรียนรู้และศูนย์วิศวกรรมขั้นสูง

ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและความร่วมมือด้านเทคนิคขั้นสูงระหว่างหลายหน่วยงาน อาทิ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัยหลายแห่งในไทย เครือข่าย VLBI ของจีน เกาหลี ญี่ปุ่น สถาบันแมกซ์แพลงค์ดาราศาสตร์วิทยุ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน เป็นต้น องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญที่เกิดขึ้นไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะงานด้านดาราศาสตร์เท่านั้น ยังสามารถนำไปต่อยอดประยุกต์สำหรับงานเทคโนโลยีขั้นสูงสาขาวิชาอื่น และภาคอุตสาหกรรมต่อไปในอนาคต

ร่วมแสดงความคิดเห็น