ชลประทานเปิดเวที ถามประชาชน ฝายแม่แตง จะปรับปรุงแบบไหนดี ?

วันที่ 30 มี.ค.60 เวลา 09.00 น. สำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ ได้เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 (การพิจารณาทางเลือก) โครงการศึกษาความเหมาะสม การปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง จ.เชียงใหม่

นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผอ.โครงการเชียงใหม่ เปิดเผยว่า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง เป็นโครงการที่ดำเนินงานมาเป็นเวลานานกว่า 50 ปี พบว่ามีปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ได้แก่ แหล่งน้ำต้นทุน ที่ไม่แน่นอน ขาดแหล่งเก็บกักน้ำ ระบบชลประทานและอาคารที่มีการใช้งานมานาน เกิดการสูญเสียน้ำมาก และสภาพการใช้น้ำที่มีการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน อีกทั้งในพื้นที่ อ.แม่แตง ก็ไม่มีอ่างเก็บน้ำ ทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำท่าและทำให้เกิดปัญหาในฤดูแล้ง ที่ต้องอาศัยปริมาณน้ำท่าเป็นหลัก และแหล่งน้ำอื่นได้แก่ บ่อน้ำตื้น บ่อบาดาล ลำเหมืองธรรมชาติ ฝายไร่รอ

หากน้ำมากก็เกิดปัญหาน้ำท่วม และการบริหารจัดการน้ำช่วงที่มีน้ำน้อย ได้มีการกำหนดส่งน้ำแบบหมุนเวียนในคลองสายใหญ่เมื่อปริมาณน้ำน้อย ทำให้ต้องใช้เวลานานในการเดินทางของน้ำไปถึงปลายคลอง และการแบ่งน้ำอาจไม่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะช่วงปลายคลองที่น้ำไปถึงช้า และคลองส่งน้ำมีขนาดเล็ก ความต้องการน้ำประปามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากการขยายตัวของเมืองและจำนวนประชากร ประกอบกับสภาพอาคารชลประทานในปัจจุบันซึ่งมีอายุใช้งานนาน มีสภาพเก่าวัสดุหมดอายุ อาจเกิดการรั่วหรือชำรุดได้ง่าย อาคารประเภทท่ออาจมีอุดตัน อาคารปากท่อส่งน้ำไม่มีบานประตู ยากในการควบคุมปริมาณน้ำและการรับน้ำตามรอบเวร งบประมาณการบำรุงรักษาตามปกติ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด และงบประมาณมีจำกัด

นายเจนศักดิ์ กล่าวต่อไปอีกว่า ด้วยสภาพปัญหาที่ยาวนาน และปัจจุบันการดำเนินงานผ่านมากว่า 55 ปี ตั้งแต่ปี 2505 โครงการนี้หากเทียบกับข้าราชการก็ให้จะเกษียณอายุแล้ว ยังดำเนินการไม่ได้ทั้งหมด และปัจจุบันมีพื้นที่รับประโยชน์จากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง ทั้งด้านการเกษตร แบ่งเป็นปลูกข้าวนาปี ประมาณ 66,210 ไร่ ปลูกพืชฤดูแล้ง ประมาณ 35,500 ไร่ ไม้ผล 27,925 ไร่ บ่อปลา 1,019 ไร่ ด้านอุปโภค-บริโภค ส่งน้ำให้แก่หน่วยงานราชการต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กองบิน 41 และราษฎรที่อยู่ในเขตพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง ด้านการประปาก็ส่งน้ำให้กับการประปาส่วนภูมิภาคเชียงใหม่ ประมาณ 4.32 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี และสนับสนุนกิจกรรมของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เช่น ส่งน้ำสนับสนุนสวนหลวง ร.9 และศูนย์สมุนไพรกองบิน 41 ด้านการส่งเสริมการอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรม ได้ส่งน้ำเข้าคูเมืองเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์

ดังนั้น การทำแก้มลิงจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ซึ่งจะนำมาสู่การแก้ปัญหาทั้งภัยแล้ง และอุทกภัยทั้งในพื้นที่แม่แตง และในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ได้ โดยพื้นที่แก้มลิงฝั่งซ้ายของฝายแม่แตง มีสภาพภูมิประเทศเป็นท้องน้ำแม่แตง พื้นที่ประมาณ 1 ตร.กม. อยู่ในการดูแลของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง เป็นพื้นที่ที่จะสามารถพัฒนาเป็นพื้นที่แก้มลิง 2 ส่วน ประกอบด้วย พื้นที่ด้านเหนือน้ำของทำนบดินประมาณ 360 ไร่ และพื้นที่ด้านท้ายน้ำของทำนบดินประมาณ 340 ไร่ รวมความจุประมาณ 6 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้อยู่ในห้วงของการขุด ซึ่งแล้วเสร็จไปแล้วประมาณ 50 กว่าเปอร์เซ็นต์ รวมพื้นที่ทั้งหมด 16 ไร่ จะมีความจุน้ำ 1 แสน ลบ.ม. แต่เพื่อให้เกิดการเก็บกักน้ำที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น จึงคิดว่าควรมีการเสริมสันฝายแม่แตงให้สูงขึ้นอีก 1 เมตร ความจุที่ได้ประมาณ 570,000 ลบ.ม. ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก

เพราะจะมีแหล่งน้ำต้นทุนที่มากขึ้น จึงนำมาสู่การประชุมหารือครั้งที่ 2 ในวันนี้ โดยมีแนวทางให้เลือกทั้งหมด 3 แนวทาง คือ 1.กรณีสภาพปัจจุบัน ระบบชลประทานของโครงการมีสภาพเก่าใช้งานมานานประมาณ 50 ปี และมีแนวโน้จะชำรุดทรุดโทรม เพราะโครงสร้างอาคารหมดอายุการใช้งาน ต้องเสียงบซ่อมแซมบำรุงปีละ 50 ล้านบาท ในฤดูแล้งสามารถเพาะปลูกข้าวนาปรังได้ประมาณ 30,000 ไร่ ทางเลือกที่ 2.กรณีที่มีการซ่อมแซมอาคารชลประทานทั้งหมดให้กลับคืนสภาพ ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และต้องมีการบำรุงรักษาปกติ จะทำให้ระบบชลประทานมีอายุการใช้งานอีก 30 ปี

โดยในฤดูแล้งจะปลูกข้าวนาปรังได้ประมาณ 30,000 ไร่ และทางเลือกที่ 3.ปรับปรุงอาคารกลางคลองส่งน้ำสายใหญ่ ขยายคลองซอยและคลองแยกซอยบางสาย เพื่อส่งน้ำแบบหมุนเวียนในระบบคลองซอย ทำให้มีการกระจายน้ำได้อย่างเท่าเทียมกันเมื่อปริมาณน้ำท่าน้อยในฤดูแล้ง และจะปลูกพืชไร่ ซึ่งใช้น้ำน้อยได้แทนพื้นที่ข้าวนาปรัง ซึ่งเป็นพื้นที่ประมาณ 30,000 ไร่

การประชุมในวันนี้ จึงเป็นการนำเสนอความก้าวหน้าของการศึกษา และแนวทางเลือกในการปรับปรุงโครงการ และเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาและปรับปรุงโครงการ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น เป็นที่ยอมรับของประชาชน และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและส่วนรวมในพื้นที่อย่างแท้จริง ซึ่งกรมชลประทานและคณะผู้ศึกษาพร้อมรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปพิจารณาประกอบการศึกษา ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ แม้ว่าจะอยู่ในขั้นตอนแรกที่สำรวจความคิดเห็นก็ตาม แต่หากไม่เริ่มในตอนนี้ ก็จะสูญเสียงบประมาณการซ่อมแซมบำรุงที่เพิ่มขึ้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น