สธ.เตือนให้ระวัง ช่วงปิดเทอมเด็กลงเล่นน้ำ อาจจะเกิดอันตราย ผู้ปกครองควรดูแล พบมีเด็กเสียชีวิตแล้ว 31 ราย

กรมควบคุมโรค ห่วงช่วงปิดเทอมเด็กชวนกันลงเล่นน้ำ ย้ำผู้ปกครองอย่าปล่อยเด็กเล่นกันเองตามลำพัง หลังพบปิดเทอมเดือนแรกมีเด็กเสียชีวิตแล้ว 31 ราย

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560 นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้เป็นช่วงปิดเทอมของโรงเรียนต่างๆ เด็กจะอยู่บ้านและรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ไปเล่นตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งผู้ปกครองต้องคอยสังเกตและดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการลงเล่นน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจเกิดเหตุเด็กจมน้ำเสียชีวิตได้ ประกอบกับช่วงนี้ยังมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ลำคลอง สระน้ำ มีปริมาณน้ำมากกว่าปกติ ไหลเชี่ยวแรงและมีระดับความลึกมาก ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการจมน้ำมากขึ้น

การจมน้ำเสียชีวิตของเด็กไทย (อายุต่ำกว่า 15 ปี) ช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน (มีนาคม-พฤษภาคม) เป็นช่วงที่มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงสุด โดยในปี 2559 เสียชีวิต 197 คน (ค่าเฉลี่ย 10 ปี : ปี 2550-2559 คือ 348 คน บางปีมีจำนวนสูงเกือบ 450 คน) ข้อมูลการเฝ้าระวังจากสื่อของสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค เบื้องต้นพบว่าช่วงปิดเทอมเพียง 28 วัน (1-28 มีนาคม 2560) พบว่า มีเหตุการณ์เด็ก ตกน้ำ จมน้ำ 26 เหตุการณ์ ในจำนวนนี้มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตถึง 31 คน โดยเป็นกลุ่มเด็กอายุ 5-14 ปีมากที่สุด (27 คน) รองลงมาคือเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี (4 คน) เพศชายจมน้ำสูงกว่าเพศหญิง 2 เท่าตัว นอกจากนี้ ยังพบว่ามากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 58) พบว่าขณะจมน้ำเด็กอยู่กับเพื่อนหรือพี่/น้อง แสดงว่าเด็กมักจะชวนกันไปเล่นน้ำด้วยกันมากกว่าไปกับผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเสียชีวิต ณ ที่เกิดเหตุ (ร้อยละ 77.4)

ส่วนแหล่งน้ำที่เกิดเหตุมากสุด คือแหล่งน้ำการเกษตร คลอง หนองน้ำ บ่อน้ำ/สระน้ำ (ร้อยละ 41.9) รองลงมาคือ คลองชลประทาน/อ่างเก็บน้ำ (ร้อยละ 32.3) และที่น่าสนใจคือมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสวนน้ำที่เปิดให้บริการและมีเด็กจมน้ำเสียชีวิต ซึ่งสถานที่ดังกล่าวไม่ควรมีเด็กจมน้ำเสียชีวิต และจากการเฝ้าระวังข่าวในช่วงปิดเทอมทุกเหตุการณ์ไม่พบว่ามีการช่วยผิดวิธีโดยการอุ้มพาดบ่า

นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อไปว่า คำแนะนำเพื่อความปลอดภัยจากการจมน้ำในปิดเทอม โดยขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ดังนี้ 1.ชุมชนต้องช่วยกันเฝ้าระวังและตักเตือนเมื่อเห็นเด็กเล่นน้ำกันเองตามลำพัง 2.ชุมชนจัดให้มีป้ายเตือนและอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำ 3.สอนเด็กให้รู้จักการใช้อุปกรณ์ลอยน้ำได้อย่างง่าย 4.ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็กอย่าปล่อยเด็กเล่นน้ำตามลำพัง แม้ว่าจะเป็นแหล่งน้ำใกล้บ้านหรือแหล่งน้ำที่คุ้นเคยก็ตาม 5.ไม่ยืนใกล้ขอบบ่อ เพราะช่วงหน้าฝนพื้นบริเวณขอบบ่อนิ่มและมีหญ้าปกคลุม อาจเกิดการลื่นไถลลงไปในน้ำ 6.ใช้เสื้อชูชีพ เสื้อพยุงตัว หรืออุปกรณ์ลอยน้ำได้อย่างง่าย เช่น แกลลอนพลาสติกคล้องเชือกให้เด็กติดตัวไว้

สำหรับสระว่ายน้ำและสวนน้ำที่เปิดให้บริการ ควรมีเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างน้อย 1 คนต่อผู้ใช้บริการ 50 คน ควรให้ผู้รับบริการสวมเสื้อชูชีพหรือเสื้อพยุงตัวทุกครั้งเมื่อเล่นน้ำหรือทำกิจกรรมทางน้ำและมีอุปกรณ์อย่างเพียงพอ ผู้ปกครองที่พาเด็กไปเที่ยวต้องดูเด็กให้อยู่ในสายตาตลอดเวลา เด็กเล็กที่ว่ายน้ำไม่เป็นไม่ควรอนุญาตให้ไปเล่นในบริเวณน้ำลึกแม้จะสวมอุปกรณ์ชูชีพอยู่ ที่สำคัญควรจัดให้มีชุดปฐมพยาบาลที่เหมาะสมและสามารถใช้งานได้

“อีกมาตรการสำคัญที่ต้องยึดไว้ใช้ยามฉุกเฉิน คือ “ตะโกน โยน ยื่น” ได้แก่ 1.ตะโกนเรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วยและโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 2.โยนอุปกรณ์ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำ เช่น เชือก ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น 3.ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ ประชาชนสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” นายแพทย์เจษฎา กล่าวปิดท้าย

ร่วมแสดงความคิดเห็น