สกู๊ปหน้า1…ติดตามผลโครงการ “พลังปัญญา 4 หมู่บ้าน”

ช่วงบ่ายวานนี้ ที่ศาลาประชาคม บ้านกู่แดง หมู่ 7 ตำบลหนองแฝก อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ นางวรรณวิมล ศุภประเสริฐ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิมั่นพัฒนา พร้อมคณะกรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา เดินทางมาตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงาน ของโครงการพลังปัญญา 4 หมู่บ้าน ซึ่งเป็น 1 ใน 39 โครงการที่ได้รับ “ทุนหมุนเวียนพลังปัญญา” ปี 2559 ของมูลนิธิมั่นพัฒนา โดยโครงการนี้ก่อตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาให้ประชาชนตื่นรู้ คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล สร้างปัญญาที่เกิดจากการทำงานจริง มีประสบการณ์ สร้างรายได้ สร้างความสุขให้ตัวเอง มีคุณธรรม รู้จักการแบ่งปันสู่สังคม

โดยผู้นำชุมชนที่ผ่านการสอบคัดเลือก จะได้เข้าไปเรียนรู้กระบวนการพลังปัญญา จากองค์กรภาคีเครือข่าย 5 องค์กร คือ มูลนิธิมั่นพัฒนา กองทัพบก scg สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และหอการค้าไทย เกิดปรับเปลี่ยนกระบวนการคิดให้ทันสมัย คิดนอกกรอบที่สอดคล้องกับหลักการและเหตุผล และภูมิปัญญาท้องถิ่นสามารถนำความรู้ที่ได้ไปแก้ไขปัญหาได้ตรงกับปัญหาที่แท้จริง เป็นรูปธรรม และต่อยอดไปสู่การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้คนในชุมชนมีความสุขอย่างยั่งยืน จากนั้นจะมีการสอบเลื่อนระดับขึ้นสู่ระดับ 2 เพื่อให้ได้เงินกองทุนหมุนเวียน นำมาต่อยอดพัฒนาชุมชนต่อไป

ในโอกาสนี้ ตัวแทนของหมู่บ้านทั้ง 4 แห่ง ซึ่งประกอบด้วยชุมชนฟ้าใหม่ (ประตูหายยา) ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่, บ้านกู่แดง หมู่ 7 ตำบลหนองแฝก อำเภอสารภี, บ้านน้ำโจ้ หมู่ 5 ตำบลดอนแก้ว อำเภอสารภี และ บ้านบูชา หมู่ 5 ตำบลบ้านแป้น อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ได้ร่วมกันลงนามในธรรมนูญพลังปัญญา 4 หมู่บ้าน เพื่อขยายความร่วมมือให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในทุกด้าน เพื่อพัฒนาชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน โดยมุ่งมั่นที่จะสร้างความเข้าใจในการพัฒนาคนให้มีความสุขในการดำเนินชีวิตประจำวัน ร่วมกันดูแลสุขภาพซึ่งกันและกัน ร่วมทุนด้วยการสร้างกองทุนพลังปัญญา ร่วมรักษาสุขภาพ ลดการใช้สารเคมีในการเกษตร ส่งเสริมการทำเกษตรปลอดสารเคมีด้วยการทำปุ๋ยหมักปุ๋ยชีวภาพ โดยใช้วัสดุที่มีอยู่ในชุมชนมาผลิตอย่างต่อเนื่อง รักษาสิ่งแวดล้อมลดการเผาเพื่อลดภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นการทำลายสุขภาพของประชาชน สร้างแหล่งเรียนรู้และส่งเสริมปราชญ์ชาวบ้านด้านต่างๆ และร่วมกันอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม

ทั้งนี้ทาง นางวรรณวิมล ศุภประเสริฐ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิมั่นพัฒนา กล่าวหลังการลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานในครั้งนี้ว่า สำหรับการจัดงานในวันนี้ก็เป็นการร่วมมือกัน และเรื่องของความสามมัคคีในชุมชน โดยมี 4 หมู่บ้านที่ได้ทำการตกลงในการทำ MOU ร่วมกัน ในการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยหมู่บ้านทั้ง 4 แห่ง ก็อยู่ห่างกันพอสมควรเมื่อมาเข้าร่วมโครงการก็จะมีการแลกเปลี่ยนในเรื่องของความรู้ต่างๆ และเป็นการสัญญาว่าจะร่วมกันทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ มีความสุขที่ยั่งยืน และเป็นการขับเคลื่อนหมู่บ้านให้เกิดความรักความสามัคคีในชุมชน ขณะเดียวกันในส่วนของโครงการที่จัดขึ้นนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน โดยหลักๆ เป็นเรื่องของการให้ความรู้ เพื่อให้แต่ละชุมชนเกิดการพัฒนา นำความรู้ที่ได้ไปปรับปรุง พัฒนาผลิตภัณฑ์ และผลผลิตในชุมชน เพื่อให้เกิดเป็นการประกอบอาชีพ สร้างรายได้ต่อไป รวมถึงเป็นการต่อยอดและเป็นต้นแบบให้ผู้สนใจได้คิดที่จะนำไปทำ ตามหลักของพลังปัญญา โดยการคิดง่ายๆ นำสิ่งที่มอยู่มาปรับปรุง พัฒนาให้ดียิ่งขึ้น และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันภายในชุมชน เมื่อสามารถทำจนเกิดเป็นรายได้ก็นำมาแบ่งปันกัน

กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิมั่นพัฒนา กล่าวอีกว่า ในส่วนของโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการมาแล้ว 3 ปี ซึ่งนอกจากเป็นการให้ความรู้แล้ว ตอนนี้ก็มีเงินทุนหมุนเวียน โดยให้ทางผู้เข้าร่วมโครงการมีส่วนร่วมในการคิดโครงการขึ้นมา โดยมีทางเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำ หรือเป็นพี่เลี้ยงในการให้ความช่วยเหลือทั้งในเรื่องความรู้ และทุนหมุนเวียนเพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ร่วมแสดงความคิดเห็น