รายงานพิเศษ…สัมมนา CITY GAS GRID งานวิจัย การติดตั้งท่อส่งก๊าซ CBG ทดแทน LPG

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน จัดโดย สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดงานสัมมนาประชาสัมพันธ์ “โครงการสาธิตการใช้ประโยชน์จากก๊าซไบโอมีเทนด้วยระบบท่อส่งก๊าซ (City Gas Grid) เพื่อทดแทนก๊าซหุงต้มในภาคครัวเรือน เพื่อชุมชนแห่งแรกของประเทศ” ในวันศุกร์ที่ 24 มีนาคม 2560 ณ ห้อง T Meeting ชั้น 2 โรงแรมอีสติน ตัน จ.เชียงใหม่

นายฤกษ์ฤทธิ์ เคนหาราช ผู้อำนวยการ กลุ่มพลังงานทดแทน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เป็นประธานพิธีเปิดงานฯ พร้อมด้วย ผศ.ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี ผู้อำนวยการ รศ.ดร.อิทธิชัย ปรีชาวุฒิพงศ์ รองผู้อำนวยการ และ ผศ.ดร.สิริชัย คุณภาพดีเลิศ รองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายในงาน จัดให้มีพิธีส่งมอบระบบท่อส่งก๊าซเพื่อทดแทนก๊าซหุงต้มให้ชุมชนหมู่บ้านโรงวัวต้นแบบแห่งแรกของประเทศ โดยมี คุณสุเมธ กิ่วคำ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่บ้านโรงวัว อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ , คุณจันทิมาพร ทองนาค ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลนํ้าบ่อหลวง, คุณพชรพร สุใจคำ ประธานสภาบ้านโรงวัว และ น.สพ.กิตติศักดิ์ มั่นอาจ ผู้จัดการ บริษัท รวมพรมิตรฟาร์ม จำกัด เป็นผู้รับมอบ

โดยเน้น 3 ประสานความร่วมมือระหว่าง หน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการ และชุมชน นอกจากนั้น ยังได้จัดให้มีพิธีมอบสัญญาสนับสนุนหน่วยงานที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมและสาธิตการใช้ประโยชน์จากก๊าซไบโอมีเทนด้วยระบบท่อส่งก๊าซเพื่อทดแทนก๊าซหุงต้มในชุมชนต้นแบบ รับมอบโดย คุณทัตธน กิจการอาสา ผู้จัดการโรงงานบริษัท เคซีเอฟ พลังสีเขียว จำกัด และคุณดวงรัตน์ รุ่งโรจน์ ปลัดเทศบาลตำบลบางเลน ภายหลังได้มีการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการและเสวนาความสำเร็จการดำเนินงาน โดย ผศ.ดร.สิริชัย คุณภาพดีเลิศ รองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ น.สพ.กิตติศักดิ์ มั่นอาจ ผู้จัดการ บริษัท รวมพรมิตรฟาร์ม จำกัด และคุณสุเมธ กิ่วคำ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่บ้านโรงวัว อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ พร้อมกันนี้ คณะผู้บริหารและผู้เข้าร่วมสัมมนาฯ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมชุมชนต้นแบบและรับฟังบรรยายผลการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จด้วย

โครงการสาธิตการใช้ประโยชน์จากก๊าซไบโอมีเทนด้วยระบบท่อส่งก๊าซ (City Gas Grid) เพื่อทดแทนก๊าซหุงต้มในภาคครัวเรือน เป็นหนึ่งในหลายๆ โครงการด้านก๊าซชีวภาพที่กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งเป็นแหล่งทุนใหญ่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน ได้ให้การสนับสนุนการศึกษาวิจัยพัฒนาเรื่องก๊าซชีวภาพมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 20 ปี หากย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2538 เทคโนโลยีการย่อยสลายสารอินทรีย์ในสภาวะที่ไร้อากาศ หรือ Biogas Technology ยังไม่เป็นที่รู้จัก การจะเชิญชวนให้เจ้าของแหล่งน้ำเสีย ที่ก่อเกิดมลภาวะต่างๆ โดยเฉพาะกลิ่น และแมลงวัน มาเข้าร่วมโครงการ จึงต้องใช้พลังมากกว่าจะเข้าใจกันเรื่องก๊าซมีเทน และประโยชน์ที่ได้ก๊าซเมื่อผสมกับอากาศประมาณ 5-7 เท่า จะสามารถจุดไฟติดได้ที่อุณหภูมิประมาณ 600-700 องศาเซลเซียส และให้พลังงานความร้อน

เมื่อถึงยุคกลางที่ Biogas Technology เป็นที่รู้จักในวงกว้าง สามารถทำให้เกิดก๊าซมีเทน ใช้เป็นแหล่งพลังงานทดแทนพลังงานอื่นๆ ได้ ประกอบกับมีกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสนับสนุนการลงทุนส่วนหนึ่ง เป็นหลักประกันที่ดีต่อสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ จึงทำให้เทคโนโลยีก๊าซชีวภาพของประเทศไทยจึงมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วด้วยฝีมือคนไทย และครอบคลุมในทุกประเภทของเสียและน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ เช่น เศษอาหาร ขยะอินทรีย์ชุมชน น้ำเสียมูลปศุสัตว์ของฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ของเสียและน้ำเสียโรงงานอุตสาหกรรมเกษตร เช่น โรงงานแป้ง โรงงานปาล์ม โรงงานเส้นหมี่ โรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ โรงงานแช่แข็งอาหารทะเล โรงงานยางพารา โรงงานผลไม้ รวมถึงการพัฒนาเครื่องจักร วัสดุ อุปกรณ์ ที่เกี่ยวข้อง ตามมาด้วย

ยุคปัจจุบัน กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานได้ลดบทบาทในการส่งเสริมทางการตลาดลง โดยให้เป็นไปตามกลไกนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ ADDER ซึ่งเปลี่ยนมาเป็น Feed-in Tariff ในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามกองทุนยังคงทำหน้าที่สนับสนุนการสาธิตเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในก๊าซชีวภาพด้านอื่นๆ ก่อนจะส่งเสริมให้ขยายผลไปในวงกว้างทุกวันนี้ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่จะการผลิตและใช้ก๊าซชีวภาพในกิจการของตนก่อน เมื่อเหลือจะขายเข้าระบบสายส่งของการไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันสายส่งค่อนข้างจำกัดในการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชน ขณะที่อุตสาหกรรมขนาดเล็กและฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ก๊าซที่ผลิตแล้วเหลืออยู่จะเผาทิ้ง ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ บางพื้นที่อาจจะส่งผ่านท่อ PVC ไปยังชุมชนใกล้เคียงเพื่อใช้ในครัวเรือนแทน LPG ประมาณ 40-50 ครัวเรือน ซึ่งยังไม่มีระบบมาตรฐานหรือหน่วยงานใดกำกับดูแล

เพื่อให้มีคำตอบในโอกาสขยายธุรกิจของกลุ่มก๊าซชีวภาพในรูปพลังงานความร้อน กองทุนจึงได้สนับสนุนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สาธิตการใช้ประโยชน์จากก๊าซไบโอมีเทนด้วยระบบท่อส่งก๊าซ (City Gas Grid) เพื่อทดแทนก๊าซหุงต้มในภาคครัวเรือน โดยได้ติดตั้งด้วยระบบท่อส่งก๊าซไบโอมีเทนที่มีความปลอดภัยในด้านวิศวกรรมและมาตรฐานการวางท่อก๊าซ ให้กับชาวบ้านในหมู่บ้านโรงวัว อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 125 ครัวเรือน เพื่อใช้ทดแทนการใช้ LPG ได้มากกว่า 17,200 กิโลกรัม/ปี คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 430,000 บาท/ปี

โดยได้รับความร่วมมือจากฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ บริษัท รวมพรมิตรฟาร์ม จำกัด สนับสนุนก๊าซไบโอมีเทนส่วนเหลือจากการใช้ในกิจการ ทั้งนี้จากผลตอบรับโครงการดังกล่าว กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จึงได้สนับสนุน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินงานโครงการระยะที่ 2 สาธิตการใช้ประโยชน์จากก๊าซไบโอมีเทนด้วยระบบท่อส่งก๊าซสำหรับทดแทนก๊าซหุงต้มในภาคครัวเรือน จำนวน 2 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันได้ชุมชนต้นแบบแล้ว 1 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนในเทศบาลตำบลบางเลน จ.นครปฐม จำนวน 200 ครัวเรือน และได้รับความร่วมมือจาก บริษัท เคซีเอฟ พลังสีเขียว จำกัด สนับสนุนก๊าซไบโอมีเทนส่วนเหลือจากการใช้ในกิจการนำก๊าซชีวภาพมาปรับปรุงใช้ประโยชน์เป็นพลังงานทดแทน LPG ในภาคครัวเรือน เพื่อให้เป็นชุมชนต้นแบบปลอดการใช้ LPG และมีความยั่งยืนด้านพลังงาน

ร่วมแสดงความคิดเห็น