ร่วมสืบสานปี๋ใหม่เมือง ที่เมืองลี้ “งานเปลี่ยนผ้ารูปเหมือนครูบา

ร่วมสืบสานปี๋ใหม่เมือง ที่เมืองลี้ “งานเปลี่ยนผ้ารูปเหมือนครูบา และสรงน้ำสามครูบา” วันที่ 19-20 เมษายน 2560 ณ บริเวณลานอนุสาวรีย์สามครูบา ด้านหน้าตลาดสดเทศบาลตำบลวังดิน

ลี้ เมืองหน้าด้านทางทิศใต้ของจังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นเมืองเก่าที่ยังคงซากของตัวเมืองร้างและซากของสิ่งก่อสร้างหลงเหลือปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ลี้เมืองที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ แห่งธรรมชาติ วิถีชีวิตดั้งเดิม รวมไปถึงความงดงามของสถานที่เก่าแก่ทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ที่ยังคงอยู่ และส่งผ่านความงดงามจากรุ่นสู่รุ่น ลี้ เมืองเล็กๆแห่งนี้ เป็นถิ่นกำเนิดของนักบุญล้านนาที่ทุกคนรู้จักกันดี ถึง 3 ท่านด้วยกัน ท่านแรก คือ ครูบาเจ้าศรีวิชัย (ถือกำเนิดที่ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้) แห่งวัดบ้านปาง ท่านได้ก่อสร้างและบูรณะปฏิสังขรวัดวาอารามในล้านนาไว้มากมาย อาทิเช่น ก่อสร้างพระธาตุบ้านปาง พระธาตุแม่ตืน สร้างประตูเมืองลี้ สร้างวิหารวัดพระสิงห์ บูรณะหอธรรมวัดพระสิงห์ สร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ สร้างวิหารวัดพระนอนขอนม่วง จังหวัดเชียงใหม่ บูรณะพระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย สร้างพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ สร้างวิหารหลวงวัดทุ่งเอื้อง จังหวัดพะเยา สร้างวิหารพระแก้วลำปาง วิหารวัดพระแก้วดอนเต้า จังหวัดลำปาง และอีกมากมายในพื้นที่ภาคเหนือ


ท่านที่สอง คือ ครูบาอภิชัย (ขาวปี) ศิษย์เอกของครูบาเจ้าศรีวิชัยแห่งวัดพระพุทธบาทผาหนาม ครูบาผู้มีจริยวัตรที่งดงาม ผู้สืบต่องานพัฒนาจากครูบาเจ้าศรีวิชัยในฐานะนักบุญ ครูบาผู้ทรงความงดงามในศีล บารมี ไม่แพ้ท่านอาจารย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย นอกจากนี้ท่านยังได้บูรณะปฏิสังขรวัดวาอารามและสถานที่สำคัญๆมากมาย อาทิเช่น วัดพระพุทธบาทผาหนาม โรงเรียนบ้านสามหลัง(อภิชัยบูรณะ) อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่และโรงพยาบาลอีกมากมาย นอกจากสถานที่ที่ท่านได้บูรณะแล้วท่านยังคงสร้างสรรค์งานต่างๆในรูปถาวรวัตถุ ทั้งในด้านพุทธจักร และอาณาจักรไว้อย่างมากมายเหลือคณา โดยมีโล่ห์จากทางราชการแสดงไว้ให้เห็นเป็นประจักษ์พยาน ถึงเกียรติคุณ นอกจากนี้ท่านยังได้เผยแพร่ธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา สร้างความเชื่อมใสศรัทธาให้เกิดแก่ชาวกระเหรี่ยงที่อพยพมาอยู่ตามเชิงดอยผาหนาม จนสามารถเปลี่ยนความเชื่อจารีตประเพณีของชาวกระเหรี่ยงที่นับถือผีไหว้เจ้า ให้หันมาเลื่อมใสศรัทธา ในพระพุทธศาสนา และหันมากินมังสิวัตแทนเนื้อสัตว์
ท่านสุดท้าย คือ ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา แห่งวัดพระบาทห้วยต้ม ครูบานักพัฒนา โดยเส้นทางการพัฒนาของท่านเป็นเส้นทางที่ลึกซึ้งไปกว่าที่สายตาคนทั่วไปมองเห็น ท่านได้ธุดงค์ไปทั่วประเทศ ด้วยวัตรปฏิบัติและคำสั่งสอนของท่านทำให้ชาวไทยภูเขาที่พเนจรร่อนเร่ ตั้งใจอพยพครอบครัวมาตั้งหลักแหล่งอยู่ใกล้ๆกับท่าน ท่านได้เปลี่ยนคนที่นับถือผีให้กลายเป็นพุทธศาสนิกชนที่สมบูรณ์ และได้เปลี่ยนคนที่กินเนื้อสัตว์แทบทุกชนิด มาเป็นคนที่กินมังสวิรัติ ที่ “บ้านห้วยต้ม” พัฒนาชาวเขาที่ด้อยความรู้ ที่ไร้ฝีมือ ให้ช่วยสร้างโบสถ์สร้างศาลา สอนวิชาช่างให้แก่ชาวเขาเหล่านั้นจนเป็นความรู้ที่ติดต่อ และส่งผ่านความรู้เหล่านั้นสู่ลูกหลานจนถึงปัจจุบัน

ด้วยวัตรปฏิบัติที่งดงาม และคำสั่งสอนของครูบาทั้ง 3 ท่าน ที่ประชาขนชาวอำเภอลี้และชนเผ่าต่างๆในอำเภอลี้ นำมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต ซึ่งยังคงเห็นอยู่ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย และใช้ชีวิตอย่างพอเพียง นอกจากนี้แล้วชนเผาต่างๆในอำเภอลี้ ยังยึดถือแนวทางปฏิบัติการไม่กินเนื้อสัตว์ทุกชนิด แต่กินมังสวิรัติยังคงมีให้เห็นอยู่ อย่างเช่น ชุมชนพระบาทห้วยต้ม จำนวน 10,000 หลังคาเรือน ที่กินมังสวิรัติ และยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ในการดำเนินชีวิต จนได้รับการยกย่องให้เป็น หมู่บ้านรักษาศีลห้า แห่งแรกของประเทศไทย
เพื่อเป็นการรำลึกถึงครูบาทั้งสามท่านและคุณงามความดีที่ท่านได้ทำไว้ ให้แก่ประชาชนชาวอำเภอลี้ เทศบาลตำบลวังดิน ได้ก่อสร้างอนุสาวรีย์เพื่อประดิษฐานรูปเหมือน สามครูบาขึ้น ณ บริเวณหน้าตลาดสดเทศบาลตำบลวังดิน ติดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106 เมื่อปี พ.ศ. 2545 เพื่อให้พุทธศาสนิกชน นักท่องเที่ยว และผู้ใช้เส้นทางสัญจรไปมาได้สักการบูชา นอกจากนี้ในวันที่ 18-20 เมษายน ของทุกปี เทศบาลตำบลวังดินได้จัดกิจกรรมเปลี่ยนผ้าและสรงน้ำรูปเหมือนสามครูขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนทุกท่าน ได้มีโอกาสแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที ต่อครูบาทั้งสามท่าน
นายกเทศมนตรีตำบลวังดิน กล่าวว่า ประเพณีเปลี่ยนผ้าและสรงน้ำรูปเหมือนครูบาทั้งสามท่านที่เทศบาลตำบลวังดินได้ดำเนินการจัดขึ้นในช่วงวันที่ 20 เมษายน ทุกปีนั้น เพื่อยกย่องและเชิดชูเกียรติคุณของครูบาเจ้าทั้งสามท่าน ให้เป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไปเพิ่มมากขึ้น และกิจกรรมดังกล่าวยังเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญู กตเวที ต่อคุณงามความดี ที่ครูบาทั้งสามท่านได้ทำไว้แก่ประชาชนชาวลี้ และคนล้านนา นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว และกระจายรายได้ให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น ในช่วงเทศกาลปี๋ใหม่เมือง
น. เป็นต้นไป มีพิธีบวงสรวงชุมนุมเทวดา ขบวนแห่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ และแห่สลุงหลวง และในเวลา 09.09 น. ได้รับเกียรติจากผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธาน ในพิธีเปลี่ยนผ้ารูปเหมือนสามครูบาและสรงน้ำอนุสาวรีย์สามครูบาดังกล่าว

กำหนดการวันที่ 19 เมษายน 2560 เริ่มเวลา 8.00 น. มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่มโอทอปการจำหน่ายสินค้าราคาถูก และเปิดให้มีการสรงน้ำรูปเหมือนองค์สามครูบาตลอดทั้งวัน ในตอนเย็นมีกาดมั่วครัวแลง การประกวดฟ้อนเล็บ และการแสดงศิลปวัฒนธรรมดนตรีพื้นเมือง การประกวดบายศรี ส่วนกำหนดการวันที่ 20 เมษายน 2560 เริ่มเวลา 6.30 น. มีพิธีบวงสรวงชุมนุมเทวดา หน้าลานอนุสาวรีย์สามครูบา จากนั้น เวลา 8.00 น. มีขบวนศรัทธาสาธุชนที่ร่วมพิธีแห่น้ำศักดิ์สิทธิ์ และแห่สลุงหลวงเริ่มเคลื่อนขบวนมาตามถนนพหลโยธิน 106 จนถึงหน้าอนุสาวรีย์สามครูบาเพื่อเริ่มพิธีเปลี่ยนผ้าและทรงน้ำองค์สามครูบา ในเวลา 9.29 น. ได้รับเกียรติจากผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธาน ในพิธีเปลี่ยนผ้ารูปเหมือนสามครูบาและสรงน้ำอนุสาวรีย์สามครูบาดังกล่าว
จึงขอเชิญชวน ประชาชน ผู้สนใจและนักท่องเที่ยว หากได้มาเยือนเมืองเหนือ โดยเฉพาะผู้ที่มาเยือนจังหวัดลำพูน อย่าลืมแวะมาร่วมพิธีเปลี่ยนผ้า และสรงน้ำรูปเหมือนสามครูบา
ในช่วงเทศกาลปี๋ใหม่เมือง ในวันที่ 19-20 เมษายน 2559 ณ บริเวณลานอนุสาวรีย์สามครูบา ด้านหน้าตลาดสดเทศบาลตำบลวังดิน ติดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106 เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที และร่วมสืบสานความงดงามของปี๋ใหม่เมือง ที่เมืองลี้แห่งนี้

ร่วมแสดงความคิดเห็น