เชียงใหม่จัดแถลงข่าว ความก้าวหน้าการผลักดัน เชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลก พร้อมเปิดตัว “น้องฟาน” Mascot เพื่อการรณรงค์โครงการฯ

วันที่ 11 เมษายน 2560 เมื่อเวลา 09.30 น. นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผวจ.เชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการแถลงข่าว ความก้าวหน้าโครงการจัดทำแผนปฏิบัติการ ด้านการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ตามแนวทางมรดกโลก (ระยะที่ 2) โดยมี รศ.ดร.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาโครงการฯ , อ.คมสัน ธีรภาพวงศ์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกันแถลงข่าว จากนั้นได้มีการเปิดตัว Mascot “น้องฟาน” สัญลักษณ์เพื่อการรณรงค์เชียงใหม่สู่มรดกโลก ณ ลานห้องสมุดฟื้นบ้านเวียงฯ หอศิลปวัฒนธรรมวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่

นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

ทั้งนี้ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า จ.เชียงใหม่ นั้นถือว่าเป็นเมืองโบราณที่มีอารยธรรมที่มีความงดงาม ทั้งสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาเป็นเวลานาน ที่ถ่ายทอดมากจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งด้านภาษา การแต่งกาย วิถีชีวิตความเป็นอยู่ เป็นต้น ดังนั้นชุมชนคนเชียงใหม่จึงได้เสนอว่า เชียงใหม่ควรจะเป็นเมืองมรดกโลก ในฐานะเป็นเมืองที่มีความงดงามในทุกๆด้านดังที่กล่าวมา ซึ่งขณะที่การยื่นขอเป็นเมืองมรดกโลก ก็ได้ผ่านการรับรองของยูเนสโกในระยะแรกแล้ว และตอนนี้อยู่ในขั้นตอนที่ 2 คือการจัดทำเอกสาร ซึ่งทางกระทรวงวัฒนธรรมก็ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน  ซึ่งทางท่าน รมว.กระทรวงวัฒนธรรม ได้ให้ความเห็นว่า จ.เชียงใหม่ จะเป็นหนึ่งที่ทางกระทรวงวัฒนธรรมให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยทางกระทรวงวัฒนธรรม จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อที่จะร่วมดำเนินการผลักดันให้เชียงใหม่เป็นเมืองมรดกโลกให้ได้

ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินงานในระยะที่ 2 นี้จะต้องมีการจัดทำเอกสารข้อมูลต่างๆ ดังนั้นจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกๆฝ่ายในทุกๆมิติ เพราะการเป็นเมืองมรดกโลกนั้น อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนรูปแบบ เพื่อให้เมืองเชียงใหม่นั้นได้รับการยอมรับว่าเป็นเมืองมรดกโลก ซึ่งก็หวังว่าประชาชนชาวเชียงใหม่ และประชาชนทั้งประเทศจะร่วมกันส่งแรงใจ เพื่อร่วมกันผลักดันให้เมืองเชียงใหม่ ได้เป็นเมืองมรดกอย่างแท้จริง เพราะการที่เชียงใหม่จะก้าวไปเป็นเมืองมรดกโลกนั้น ไม่ได้เกิดจากการทำงานของภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากประชาชนและชุมชนที่จะร่วมมือกันผลักดัน ให้เมืองเชียงใหม่ได้เป็นเมืองมรดกที่มีชีวิต

ด้าน รศ.ดร.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาโครงการฯ เปิดเผยถึงภาพรวมความก้าวหน้าของโครงการฯ ว่า ตามที่เมืองเชียงใหม่ได้รับการพิจารณาขึ้นบัญชีเบื้องต้น (Tentative List) ตามอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา จังหวัดเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้ริเริ่มโครงการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ตามแนวทางมรดกโลก (โครงการเชียงใหม่สู่มรดกโลก) ระยะที่ 1 ในปีพ.ศ. 2559 และระยะที่ 2 ในปีพ.ศ. 2560

รศ.ดร.วรลัญจก์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยการดำเนินในระยะที่ 2 ที่ผ่านมา (มกราคม-มีนาคม พ.ศ.2560) คณะทำงานโครงการฯ ได้ดำเนินงานต่อยอดจากผลการดำเนินงานระยะที่ 1 ในด้านการศึกษา และรวบรวมข้อมูลทางประวัติ ศาสตร์ และบริบทต่างๆ ของเมืองเพิ่มเติม เพื่อสร้างข้อมูลและหลักฐาน สนับสนุนรองรับแนวคิดการนำเสนอคุณค่าโดดเด่นเป็นสากล (Outstanding Universal Value – OUV) และพื้นที่ยื่นขอเสนอเป็นพื้นที่มรดกโลกแบบกลุ่ม(Serial Nomination Area) ทั้ง 2 แหล่ง คือ 1.เวียงเชียงใหม่ 2.ดอยสุเทพ และวัดพระธาตุดอยสุเทพ ตามหลักเกณฑ์การเป็นมรดกโลก (Criteria of Selection) และแนวทางการเตรียมเอกสารยื่นขอเสนอ ร่วมไปกับการพัฒนากระบวนการการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อสร้างแผนบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลก (Management Plan) ซึ่งจะต้องจัดทำขึ้นควบคู่กับข้อเสนอทั้งในส่วนของคุณค่าฯ และพื้นที่ยื่นขอเสนอเป็นมรดกโลก

ซึ่งคณะทำงานได้แบ่งร่างประเด็นสำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาคุณค่าโดดเด่นเป็นสากล และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไว้ทั้งหมด 5 ประเด็น คือ 1.แผนการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน 2.แผนการอนุรักษ์แหล่งมรดกและสภาพแวดล้อม 3.แผนการจัดการโครงสร้างพื้นฐาน และแผนรับมือความเสี่ยงแหล่งมรดก 4.แผนการจัดการการท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยว 5.แผนพัฒนาศักยภาพแหล่งมรดก ซึ่งจะได้นำไปสู่เวทีระดมความคิดเห็น เพื่อสร้างร่างแผนบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลกของเชียงใหม่ต่อไป รศ.ดร.วรลัญจก์ กล่าว

“นอกจากนี้การแถลงข่าวฯครั้งนี้ ยังได้มีการเปิดตัว ‘น้องฟาน’ Mascot เพื่อการรณรงค์โครงการเชียงใหม่สู่มรดกโลก ซึ่งจะเป็นตัวแทนและสัญลักษณ์ในการสื่อสารสร้างความเข้าใจ และปลุกจิตสานึกให้กับเยาวชน และคนเชียงใหม่ ให้ตระหนัก หวงแหน และร่วมมือกันรักษามรดกทางวัฒนธรรมอันดีงามของเชียงใหม่ให้คงอยู่สืบไป”

ขณะที่ อ.คมสัน ธีรภาพวงศ์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ได้กล่าวถึงแผนบริหารจัดการพื้นที่ยื่นขอเป็นเมืองมรดกโลก (Management Plan) กับการมีส่วนร่วมของชาวเชียงใหม่ ว่าแผนบริหารจัดการพื้นที่ยื่นมรดกโลกของเชียงใหม่ คือ แผนบริหารจัดการที่ตั้งขึ้นมาบริหารและดูแลของรัฐ กับองค์การยูเนสโก โดยมีวัตถุประ สงค์ในการสงวนรักษา อนุรักษ์ และส่งเสริม คุณค่าที่โดดเด่นอันเป็นสากลของพื้นที่ ที่จะขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก กระบวนการสร้างแผนบริหารจัดการฯ จึงมีความสำคัญทั้งมิติทางวัฒนธรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ต้องผสานความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงในข้อกฎหมายและข้อบังคับท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ ซึ่งคณะทำงานได้แบ่งกรอบแนวคิดแผนบริหารจัดการพื้นที่ยื่นมรดกโลก แบ่งเป็น 5 แผน ตามที่ รศ.ดร.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น

ตราสัญลักษณ์โครงการผลักดันเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลก

ร่วมแสดงความคิดเห็น